รีวิว Cr-48 โน้ตบุ๊กตัวแรกที่ใช้ Chrome OS

by mk
1 March 2011 - 17:13

ถ้าหลายคนยังจำกันได้ เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว กูเกิลได้แจกโน้ตบุ๊กสั่งทำพิเศษ "Cr-48" ที่ติดตั้งระบบปฏิบัติการ Chrome OS แก่นักพัฒนาจำนวน 60,000 เครื่อง เพื่อทดสอบและพัฒนาเว็บแอพบน Chrome OS และเผยแพร่ผ่าน Chrome Web Store

ผมมีโอกาสได้จับ Cr-48 เครื่องแรกในประเทศไทยเป็นเวลาสั้นๆ เลยนำมารีวิวให้ชมกันครับ

ข้อมูลควรรู้

Cr-48 เป็นโน้ตบุ๊ก (หรือ "เน็ตบุ๊ก" แล้วแต่จะเรียก แต่กูเกิลเรียกว่า "โน้ตบุ๊ก") ที่อยู่ในโครงการ pilot program ของ Chrome OS (รายละเอียดอ่านได้จาก Chrome OS Pilot Program) แจกสำหรับนักพัฒนาและธุรกิจในสหรัฐเพื่อให้นึกภาพกันออกว่า Chrome OS หน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง

สเปกเบื้องต้นคือหน้าจอ 12", ซีพียู Atom, หนัก 3.8 ปอนด์ (1.7 กิโล), มี Wi-Fi และ 3G ในตัว

แกะกล่อง

Cr-48 มาในกล่องกระดาษแบบมีหูหิ้วสีน้ำตาลพร้อมลวดลายบนกล่องดังภาพ แต่ไม่มีข้อความใดๆ ที่เขียนถึง Google, Chrome, Chrome OS หรือแม้กระทั่งชื่อ Cr-48 เองแม้แต่น้อย รหัสเรียกขานของมันจากโรงงานคือ "Mario" ตามชื่อนักขับรถ Mario Andretti (ข้อมูลเก่าบอกว่าผลิตโดยบริษัท Inventec)

เมื่อเปิดกล่องมาก็จะพบกับเอกสารแนะนำการใช้งานสั้นๆ

เอกสารอีกแผ่นบอกข้อมูลทางฮาร์ดแวร์เบื้องต้น

นามบัตรหนึ่งใบจากอินเทล ขอมีส่วนร่วมด้วยคน

ตัวอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์จริงๆ มีแค่สองอย่าง คือ โน้ตบุ๊ก Cr-48

กับอแดปเตอร์ชาร์จไฟหนึ่งเส้น แค่นี้จริงๆ ไม่มีอย่างอื่นแล้ว

ฮาร์ดแวร์

มาเริ่มดูตัวฮาร์ดแวร์กันก่อนครับ ทุกคนที่เห็นจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันคือ "MacBook สีดำที่ตัดตราแอปเปิลออกไป" เหมือนจริงๆ

วัสดุรอบเครื่องเป็นยางสีดำล้วน (คล้ายกับโน้ตบุ๊กซัมซุงบางรุ่น) ไม่มีแบรนดิ้งใดๆ แปะอยู่ที่ตัวเครื่องเลย

พอร์ตด้านซ้ายมือของเครื่อง มีแค่หัวต่อ VGA

พอร์ตด้านขวามือ: จากซ้าย SD Card, หูฟัง, USB, power

ขนาดรวมๆ ก็ไม่เล็กไม่ใหญ่ พอพกได้แต่ไม่เบาเท่าพวกเน็ตบุ๊ก ส่วนความหนาก็เท่าที่เห็นในภาพ

เว็บแคมในตัวมาพร้อม เดี๋ยวนี้คงเป็นมาตรฐานหมดแล้ว ที่มุมขวาบนของหน้าต่างจะเห็นตัวบอกสถานะ 3 อย่างคือ เวลา, สัญญาณ Wi-Fi, แบตเตอรี่ ซึ่งจะแสดงในทุกหน้าจอ (ถ้าเพิ่มภาษาของคีย์บอร์ดเข้าไป จะแสดงภาษาที่ใช้ในขณะนั้นด้วย)

คีย์บอร์ดก็เป็นอย่างที่หลายคนทราบกันดีอยู่แล้ว คือเป็นปุ่มแบบชิคเล็ต พร้อมจัดวางปุ่มแบบพิเศษของกูเกิลเอง

จุดต่างที่สำคัญคือปุ่ม CAPS กลายเป็นปุ่มค้นหา (ซึ่งกดแล้วจะเปิดแท็บใหม่พร้อมไฮไลท์ที่ Omnibar กดอีกทีจะปิดแท็บนี้กลับเป็นเหมือนเดิม) และปุ่ม Ctrl/Alt ที่ใหญ่ขึ้นมากเพราะไม่ต้องมี Win-key)

ที่เหลือเป็นปุ่มแถวบนตรง F1-F12 ปรับให้กลายเป็นปุ่มลัดเฉพาะคำสั่งที่สำคัญแทน ด้านขวามือของคีย์บอร์ดไม่มีอะไรต่างจากคีย์บอร์ดปกติมากนัก

แบตมีขนาดใหญ่และถอดเปลี่ยนได้ (เผอิญไม่ได้ถ่ายรูปมาด้วย)

การทำงาน

เปิดเครื่องโดยกดปุ่ม Power บนคีย์บอร์ดมุมขวาบน จะมีไฟ LED สีขาวแสดงสถานะบอกว่าเปิดเครื่องแล้ว Cr-48 มี LED บอกสถานะแค่สองดวงคือไฟสีขาวตรงปุ่ม Power และไฟสีส้มตรงช่องเสียบสายชาร์จ ไม่มีไฟบอกสถานะของฮาร์ดดิสก์หรือ Wi-Fi ครับ (จุดนี้เหมือน MacBook มาก)

กดปุ่ม Power แล้วรอสักพักจะพบกับหน้าจอบูต Chrome OS ดังภาพ

การบูตจะใช้เวลาประมาณ 10 วินาทีนิดๆ เพื่อเข้าสู่หน้าจอล็อกอิน

เราต้องล็อกอินด้วย Google Account แต่การเปิดเครื่องครั้งแรกจะต้องเซ็ตค่า Wi-Fi ก่อน โดยคลิกที่มุมขวาบนของหน้าจอ ตรงไอคอนแสดงสัญญาณ Wi-Fi

ล็อกอินผ่านแล้วเราจะโดนจับถ่ายรูปด้วยเว็บแคม (ไม่ต้องถ่ายก็ได้) นอกจากนี้ยังสามารถล็อกอินด้วย Guest ซึ่งจะเข้าไปทำงานในโหมด Incognito ของ Chrome

ล็อกอินเข้ามาเสร็จแล้วก็ไม่มีอะไรทั้งสิ้นครับ นอกจากหน้าต่างเริ่มต้นของ Chrome พร้อมแนะนำการใช้งาน ไม่มีเดสก์ท็อป เครื่องคิดเลข สมุดบันทึก ทาสก์บาร์ ไม่มีส่วนประกอบอื่นๆ ทั้งสิ้น มีแต่ทูลบาร์ URL และเว็บเท่านั้น แค่นี้จริงๆ (Chrome Web Store เริ่มมีประโยชน์ขึ้นมาทันที)

สำหรับคนที่ใช้ Chrome อยู่แล้วและสั่งบันทึกข้อมูลลงในบัญชี Google ล็อกอินครั้งแรกเราจะได้ทุกอย่างมาครบ ไม่ว่าจะเป็น extension, theme, history ฯลฯ

การใช้งานทุกอย่างเหมือน Chrome ทุกประการ ทัชแพดเป็นแบบเดียวกับ MacBook กดลงไปทั้งอันไม่มีปุ่มแยก สามารถ scroll แบบสองนิ้วได้ จุดต่างคือการคลิกขวาต้องใช้สองนิ้ว "กด" ลงไปให้ยุบ ไม่สามารถแตะสองนิ้วเพื่อเปิดเมนูคลิกขวาได้ (อันนี้คนด่าเยอะมาก)

เท่าที่ลองใช้พบว่าคลิกขวายากมาก ถ้าจะเปิดแท็บใหม่กด Ctrl+คลิก ง่ายกว่ามาก ส่วน scroll ก็กระโดดไปกระโดดมา ไม่ค่อยคงตัว กดลูกศรเลื่อนลงง่ายกว่า

การใช้งานทั่วไปก็ไม่มีปัญหาอะไร เข้าเว็บได้ปกติ เครื่องเย็นมากและแทบไม่มีเสียงพัดลมเลย (ยกเว้นตอนอัพเดตซอฟต์แวร์และบูตใหม่) เอาเมาส์มาต่อได้ ต่อสาย VGA ออกจอนอกได้ทันที

ปิดเครื่องเร็วมาก สามารถกดปุ่ม Power ค้างเพื่อล็อกเอาท์และปิดเครื่องได้ตามลำดับ การสั่ง sleep และปลุกให้ตื่นรวดเร็วทันใจ

ภาษาไทย

คำถามที่สำคัญคือเรื่องภาษาไทย ว่าอ่าน-เขียนได้ดีแค่ไหน

เอาส่วนของการพิมพ์ก่อน ตรงนี้กูเกิลเตรียมมาเรียบร้อยแล้ว เข้าไปที่ Settings > System มีภาษาไทยให้เลือกอยู่แล้ว

เพิ่มคีย์บอร์ดภาษาไทยลงไปได้เลย

การเปลี่ยนภาษาใช้ปุ่ม Alt+Shift โดยแสดงภาษาของคีย์บอร์ดที่มุมขวาบนของหน้าจอ (ข้างนาฬิกาและสัญญาณ Wi-Fi)

สำหรับคนที่ติดปุ่ม grave คาดว่าไม่มีหนทางครับ อยากได้ต้องไปแจ้งบั๊กกันเอง (แต่ฝึกให้ชินดูจะง่ายกว่านะ)

ส่วนของการอ่านไทย มีปัญหามากกว่า เพราะโดยเนื้อแท้มันคือ Chrome บนลินุกซ์ อย่างไรก็ตามปัญหานี้ถูกแก้แล้วใน Chrome รุ่นต้นน้ำ เพียงแต่มันยังเดินทางมาไม่ถึง Chrome OS ต้องอดใจรอกันหน่อย

รุ่นของซอฟต์แวร์และการอัพเดต

ซอฟต์แวร์ที่มากับเครื่องแต่แรกเป็น Chrome OS 0.9 และ Chrome 8.0 ถือว่าเก่าพอสมควร

ส่วนกระบวนการอัพเดตตัวซอฟต์แวร์เหมือนกับ Chrome บนพีซี คือแยกเป็น channel ตามความเสถียร มีให้เลือก 2 รุ่นคือ Beta กับ Development (ยังไม่มี Stable และ Canary Build)

รุ่นล่าสุดของ Beta คือ 0.9 ถ้าอยากได้ใหม่กว่านี้ต้องเลือก Development ซึ่งจะกลายเป็น Chrome OS 0.10 ที่ใช้ฐานจาก Chrome 10

การอัพเดตจะขึ้นเตือนลักษณะเดียวกับ Chrome บนพีซี ซึ่งต้องรีสตาร์ตเครื่องใหม่หนึ่งรอบหลังอัพเดตเสร็จ

Flash รวมมาให้ แต่ยังไม่ใช่ตัวใหม่สุดจาก Adobe เป็นแค่ Flash Player 10.1

ประเด็นอื่นๆ

  • แอพบางตัว เช่น Google Talk, Google Tasks, โปรแกรมจดโน้ต ScratchPad จะแสดงขึ้นมาเป็นหน้าต่างเล็กๆ ทับหน้าจอเบราว์เซอร์ปกติอีกชั้นหนึ่ง ย่อเพื่อซ่อนลงไปได้
  • ลอง video chat ใน Google Talk แล้วใช้งานได้ แต่ครั้งแรกมีปัญหากับเว็บแคม บูตใหม่แล้วหาย
  • การท่องเว็บทั่วไปทำงานได้ดีไม่มีปัญหา แต่ถ้าจะทำอะไรมากกว่านั้นจะเริ่มยากขึ้นมาทันที
  • ถ้าไม่ตั้งค่าอะไรเป็นพิเศษ เราจะเข้าถึงไฟล์ได้แค่ไฟล์ที่ดาวน์โหลดมาในเครื่องเท่านั้น (เหมือนกับหน้าต่าง Ctrl+J)
  • ถ้าอยากได้ไฟล์มากกว่านั้น จะต้องเปิดตัวเลือก Advanced File System จากหน้า about:flags ดังภาพ

  • จากนั้นถ้าเสียบ SD card หรือ thumb drive ก็จะเห็นหน้าต่างเล็กๆ เขียนว่า content แสดงรายการไฟล์ให้เห็น ซึ่งความสามารถน้อยมากคือมีเฉพาะชื่อไฟล์กับโฟลเดอร์เท่านั้น ไม่มีพรีวิว ไม่มีขนาดไฟล์ ไม่มีวันที่
  • หน้าต่าง Open File ก็คล้ายๆ กันคือความสามารถยังน้อยมาก ดังนั้นการถ่ายภาพลง SD แล้วนำมาอัพโหลดขึ้นเว็บผ่าน Cr-48 จะทำได้ยากมาก
  • ผมไม่มีเวลาทดสอบเรื่องแบตว่าอยู่ได้นานแค่ไหน และการพิมพ์ผ่าน Cloud Print

สรุป

  • Chrome OS แนวคิดสุดโต่งมาก แต่ก็มีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าข่ายอยู่เยอะเช่นกัน เพราะทุกวันนี้ มีคนที่ซื้อคอมพิวเตอร์มาท่องเว็บประมาณ 90% ของเวลาทั้งหมดคิดเป็นจำนวนไม่น้อย
  • ปัญหาเรื่องการเชื่อมต่อเน็ตจะหมดไปในไม่ช้า เมื่อเครือข่าย 3G/4G แพร่หลายพอ ในอนาคตโน้ตบุ๊ก Chrome OS จะรวมซิมการ์ดพร้อม data plan มาให้เลย (เผลอๆ อาจให้โอเปอเรเตอร์เป็นคนขายด้วย)
  • มันออกแบบมาสำหรับการท่องเน็ตจริงๆ บูตเร็ว เสถียร เก็บข้อมูลบน cloud ซิงก์อัตโนมัติ
  • แต่การทำอะไรนอกจากเว็บจะยุ่งยากไม่น้อย และตอนนี้เว็บแอพที่เจ๋งๆ ยังมีไม่มาก แอพส่วนใหญ่ใน Chrome App Store ยังเป็นแค่ bookmark ไปที่ตัวเว็บเท่านั้น
  • ฮาร์ดแวร์ของ Cr-48 โดยรวมใช้งานได้ดี จุดอ่อนสำคัญคือทัชแพดที่กดยากมากจนใช้เมาส์ง่ายกว่า

คำถามที่สำคัญในตอนนี้ก็คือ ในยุคที่โลกกำลังมุ่งไปทาง mobile native app อย่างตอนนี้ เอาเข้าจริงแล้ว Chrome OS จะมีที่ยืนมากน้อยแค่ไหน

สุดท้ายคู่แข่งที่สำคัญที่สุดของ Chrome OS อาจเป็น Android เสียเอง?

Blognone Jobs Premium