บริการของกูเกิลตัวหนึ่งที่สร้างเรื่องอื้อฉาวให้มากที่สุดคือบริการ AdSense ที่ขายโฆษณาบนหน้าค้นหาของกูเกิลเอง ปัญหาสำคัญของเรื่องนีคือเมื่อมีการขายโฆษณาบนหน้าค้นหาที่เป็นคำที่เป็นเครื่องหมายการค้า คู่แข่งโดยตรงอาจจะมาไล่ซื้อโฆษณาบนหน้านั้นๆ เพื่อเรียกลูกค้าเข้าไปยังหน้าเว็บของตัวเอง โดยที่ผ่านมาคำตัดสินของศาลดูจะอยู่ข้างกูเกิลตลอดมา แต่ข้อเรียกร้องใหม่จากเจ้าของแบรนด์ก็อาจจะทำให้มีการเพิ่มข้อกำหนดให้กูเกิลได้
ข้อเรียกร้องก่อนหน้านี้ของเจ้าของแบรนด์เหล่านี้ คือการห้ามไม่ให้กูเกิล (และผู้บริการโฆษณารายอื่นๆ ที่เล็กกว่ามาก) ขายโฆษณาบนคำที่เป็นเครื่องหมายการค้าเหล่านี้ แต่คำร้องเหล่านี้ก็ตกไปทั้งในสหรัฐฯ และในสหภาพยุโรป
ข้อเรียกร้องใหม่นี้มาจากคดีที่บริษัท Interflora ที่ทำธุรกิจส่งดอกไม้ฟ้องร้องต่อบริษัท Marks & Spencer และกูเกิล โดยหน้าค้นหาที่มีแบรนด์ Interflora ถูกซื้อไปโดย Marks & Spencer ที่มีธุรกิจส่งดอกไม้ในยุโรปเช่นเดียวกันทำให้ธุรกิจของ Interflora เสียหาย การฟ้องร้องนี้จึงเสนอให้มีการจำกัดให้กูเกิลต้องไม่ให้บริการ เมื่อข้อความในโฆษณาสร้างความสับสนต่อผู้ชม เช่นผมอาจจะซื้อโฆษณาของเว็บใหญ่เช่น Slashdot แล้วบอกว่า Blognone เป็นเว็บแบบเดียวกับ Slashdot ได้ แต่ห้ามสร้างความสับสนว่าในโฆษณาว่ากำลังจะไปเว็บ Slashdot
ข้อเสนอถูกส่งไปยังศาลสหภาพยุโรป โดย Niilo Jääskinen ที่ปรึกษากฏหมายของศาลสหภาพยุโรป
เรื่องน่าสนใจคือกูเกิลเองนั้นมีพฤติกรรมแบบเดียวกันนี้อยู่ด้วย โดยโฆษณาของ Google Chrome เมื่อค้นหาด้วยแบรนด์ Firefox เช่นคำว่า "getfirefox" นั้นมีโฆษณา Google Chrome แต่กลับขึ้นหัวโฆษณาว่า "Download Mozilla" ทำให้เข้าใจได้ว่ากูเกิลมองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ในเรื่องนี้ตัวแทนของกูเกิลให้สัมภาษณ์กับทาง The New York Times ว่า "เราเชื่อว่าผู้บริโภคฉลาดและจะไม่สับสนเมื่อพบกับโฆษณาในรูปแบบที่หลากหลายต่อการค้นหาของพวกเขา"
อีกทางหนึ่งกูเกิลกลับมีนโยบายต่อต้านของเลียนแบบอย่างชัดเจน และทำงานร่วมกับแบรนด์ต่างๆ เพื่อลบโฆษณาเหล่านั้นออกไปจากระบบเสมอๆ
ที่มา - ArsTechnica, MrChoke, NY Times