ร่างพรบ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่: เพิ่มโทษผู้ดูแลระบบ, การครอบครองมีความผิด

by lew
8 April 2011 - 06:05

เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงไอซีทีก็เริ่มเผยแพร่ร่างพรบ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ที่จะมาแทนฉบับ พ.ศ. 2550 (ที่ผ่านมาได้ด้วยการสนช. ที่มาจากคณะรัฐประหาร) ร่างฉบับใหม่นี้มีประเด็นน่าสนใจหลายประการ เช่น

1. เพิ่มความรับผิดชอบของ "ผู้ดูแลระบบ" จากเดิมที่มีความผิดของ "ผู้ให้บริการ" ที่เท่ากับผู้กระทำผิด ขณะที่หลายประเทศมักปกป้องผู้ให้บริการว่าหากให้ความร่วมมือก็ถือว่าไม่ได้กระทำผิด แต่ในร่างฉบับใหม่เมื่อผู้ดูแลระบบเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง จะต้องรับโทษ 1.5 เท่าของโทษที่กำหนด
2. การสำเนาข้อมูลที่ "น่าจะ" ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นมีความผิดจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท
3. การครอบครองข้อมูลซึ่งมีลักษณะอันลามกที่เกี่ยวข้องกับเด็กหรือเยาวชน จำคุกไม่เกิน 6 ปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท ส่วนนี้มีจุดสำคัญคือแค่เป็นผู้ครอบครองไม่ได้เผยแพร่ก็มีความผิด ซึ่งกฏหมายเกี่ยวกับภาพอนาจารเด็กในหลายประเทศก็เป็นเช่นนี้ แต่กรณีของประเทศไทย ร่างนี้ไม่ได้ระบุว่าเป็นภาพแต่เป็นข้อมูลซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลอื่นๆ (ภาพ, เสียง, ตัวอักษร ฯลฯ)
4. การครอบครองซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับการเจาะระบบ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท น่าสนใจว่าชั้นเรียนหรือการศึกษา, ตรวจสอบระบบความปลอดภัยที่มักใช้เครื่องมือเหล่านี้อยู่แล้ว อาจจะเป็นการกระทำผิดกฏหมายกันทั้งประเทศ
5. จัดตั้ง "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์" แต่งตั้งเจ้าพนักงาน, ออกระเบียบและร้องขอหลักฐานจากหน่วยงานและปฎิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามกฏหมาย คณะกรรมการนี้มาจากฝ่ายตำรวจ 8 คน และผู้เชี่ยวชาญ 3 คน และมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

น่ากังวลว่าร่างกฏหมายฉบับนี้กำลังขยายอำนาจการบังคับใช้ของพรบ. คอมพิวเตอร์ขึ้นเป็นอย่างมาก และยังโยงอำนาจทางการเมืองเข้ามาในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนถือว่าการกระทำต่างๆ เป็นความผิดไว้ก่อนที่จะมีการกระทำความผิดจริง ยิ่งกว่าฉบับ พ.ศ. 2550 เสียอีก

ที่มา - มติชน

Blognone Jobs Premium