สงครามไมโครซอฟท์และกูเกิล เมื่อตลาดภาครัฐคือสมรภูมิใหม่

by lew
15 April 2011 - 10:06

ความนิยมในการใช้บริการบนกลุ่มเมฆซึ่งคิดค่าใช้งานตามการใช้งานจริงกำลังทำให้ตลาดในสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงไปอย่างหนัก หนึ่งในความเปลี่ยนแปลงนั้นคือบริษัทที่ไม่ค่อยมีประวัติในตลาดนี้มาก่อนอย่างกูเกิลกำลังเข้ามาบุกตลาดภาครัฐฯ อย่างเต็มกำลัง และสามารถชิงลูกค้ารายใหญ่ๆ ไปได้หลายราย การบุกนี้เป็นไปไม่ง่ายนัก เมื่อตลาดองค์กรนั้นบริการหลักๆ เช่นระบบเมลและงานเอกสารถูกครองอยู่โดยไมโครซอฟท์มาก่อน สงครามครั้งนี้กำลังย้ายจากสงครามน้ำลาย และสงครามการตลาดไปเป็นการต่อสู้ในชั้นศาลอย่างเต็มตัว

กูเกิลเริ่มบุกงานประมูลภาครัฐและได้ลูกค้าเป็นเมืองลอสแองเจสลิสที่มีผู้ใช้กว่า 10,000 คนไปก่อนเมื่อกลางปี 2010 แต่ในปลายปีกระทรวงมหาดไทยของสหรัฐฯ เปิดประมูลงานคล้ายกัน แต่กลับล็อกว่าต้องใช้บริการของไมโครซอฟท์เท่านั้นแม้จะเปิดให้มีผู้เข้าร่วมประมูลหลายราย ซึ่งทางกูเกิลก็ยื่นฟ้องต่อการประมูลนี้ทันที และเสนอว่า Google Apps for Government นั้นเหนือกว่าสินค้าของไมโครซอฟท์เพราะได้รับการรับรอง FISMA ซึ่งเป็นการรับรองความปลอดภัยของข้อมูลเมื่อภาครัฐต้องการใช้บริการภายนอกแล้ว

ไมโครซอฟท์เงียบอยู่หลายเดือน แต่สุดท้ายก็ออกมาตอบโต้ว่ากูเกิลนั้น "ชี้นำผิด" ในเรื่องนี้ โดยบริการของกูเกิลที่ได้รับการรับรอง FISMA นั้นคือ Google Apps Premier ซึ่งเป็นบริการสำหรับลูกค้าองค์กรทั่วไป แต่ Google Apps for Goverment นั้นยังไม่ได้รับการรับรองแต่อย่างใด

กูเกิลไม่รอนานเช่นไมโครซอฟท์ เพียงสองวันหลังจากทางไมโครซอฟท์เผยแพร่บล็อก กูเกิลก็ออกมาตอบโต้ว่าที่จริงแล้ว Google Apps Premier กับ Google Apps for Government นั้นเป็นเทคโนโลยีตัวเดียวกัน โดยแยกชื่อกันเพราะ Google Apps for Government มีระบบรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติมคือ การเลือกสถานที่จัดเก็บข้อมูล, และการจัดเก็บข้อมูลแยกออกจากลูกค้าที่ไม่ใช่ภาครัฐ โดยทางกูเกิลได้สอบถามกับทาง General Service Administration (GSA) แล้วว่ากูเกิลจำเป็นต้องขอการรับรองเพิ่มหรือไม่ พร้อมกับย้ำว่าในปีนี้เองทาง GSA ก็เพิ่งประกาศว่ากำลังอยู่ในกระบวนการออกใบรับรอง "อีกครั้ง" สำหรับ Google Apps for Government

เรื่องราวยังไม่จบแค่นั้นเมื่อกูเกิลพยายามชี้ว่าสินค้าของไมโครซอฟท์ คือ Microsoft Business Productivity Online Suite เองนั้นก็ยังไม่ผ่านการรับรองจาก FISMA โดยกระทรวงมหาดไทยสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่าการซื้อนี้เป็นการซื้อบริการกลุ่มเมฆแบบส่วนตัว (private cloud) แต่กูเกิลระบุว่าการจัดซื้อที่มีปัญหานี้กระทรวงกลับอนุญาตให้ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ถูกจัดการบริหารโดยไมโครซอฟท์ และไมโครซอฟท์สามารถนำโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ไปขายให้กับหน่วยงานรัฐบาลอื่นๆ ได้ ดังนั้นจึงไม่เรียกว่าเป็นบริการกลุ่มเมฆแบบส่วนตัว และควรต้องการการรับรอง FISMA จาก GSA เท่านั้น (Groklaw)

สงครามครั้งนี้ยังไม่จบ แต่การเดิมพันครั้งนี้อาจจะเป็นความเป็นความตายของบริษัทที่มีแหล่งรายได้ใหญ่จากลูกค้าองค์กรอย่างไมโครซอฟท์ และเราคงได้เห็นการต่อสู้อีกหลายครั้งต่อจากนี้

Blognone Jobs Premium