ข้อมูลไหลมาจากทั่วทุกทิศ ส่งมายังแอพพลิเคชั่นต่างๆ มากมายเช่น อีเมล, แชท, เอสเอ็มเอส, ทวิต, สถานะและตำแหน่งแห่งหนล่าสุด, ข่าวใหม่, วีดีโอ ลิงก์, ภาพมากมายจากท้องถนน ร้านกาแฟ อาหารตามสั่งข้างถนน งานปาร์ตี้สังสรรค์จากที่ต่างๆ มันมากมายซะจนน่ากลัว หลายคนมีพฤติกรรมเสพย์ติดกับข้อมูลออนไลน์ไม่ว่าจะทำอะไรทำงาน, เที่ยว, กินข้าว ยังคงต้องคอยอัพเดทข้อมูลอยู่ตลอดเวลา สิ่งนี้มีผลกระทบกับตัวเรา
มีผลงานวิจัยล่าสุดจาก UCSF ระบุว่าการถูกรบกวนด้วยข้อมูลพวกนี้ ตลอดเวลามีผลกระทบกับความจำแบบที่เรียกว่า "ความจำระยะสั้น" (working memory) นั่นคือเราจะจดจำข้อมูล หรือสิ่งที่ทำผ่านมาในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ได้น้อยลงเช่นพฤติกรรม, หน้าตาคนที่เดินผ่านในที่สาธารณะ, ลืมงานชิ้นเล็กๆ บางชิ้น และยิ่งกว่านั้นในระยะยาวจะมีผลกระทบกับความจำ และพฤติกรรมด้านสภาพจิตใจอีกด้วย
ผลกระทบนี้นักวิจัยยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะแก้ไขยังไง ยังคงทำวิจัยกันอย่างหนักเพื่อหาคำตอบกันต่อไป จิตแพทย์บางรายกังวลกับคนบางคนที่อาจจะมีพฤติกรรมถึงขั้นเสพย์ติดข้อมูลเหล่านี้ เราใช้เวลาอยู่กับข้อมูลออนไลน์มากไปรึเปล่า แม้วิธีแก้ไม่มีแต่ป้องกันได้ง่ายๆ (แต่ทำยาก) คือ ออฟไลน์ไปซะ ฟีเจอร์จำพวกแจ้งเตือนต่างๆ ปิดไว้อย่าให้เด้งขึ้นมาโชว์เชียว จัดตารางเวลาของเราดีๆ เช่นช่วงเวลาไหน จะใช้เช็คอีเมล, ทวิต, แก้ไขสถานะ, อ่านข่าว ไม่งั้นงาน หรือกิจกรรมอื่นๆ ไม่เดินแน่ๆ อย่าให้ถึงกับต้องมีการออกกฎหมายควบคุม เหมือนกับที่วุฒิสภาบางคนของ นิวยอร์กเสนอเลยว่า ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือ, อุปกรณ์พกพาต่างๆ บนทางเท้าสาธารณะ