รีวิว Ubuntu 11.04 "Natty Narwhal" การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญกับ Unity

by mk
1 May 2011 - 12:54

ผู้อ่าน Blognone คงคุ้นเคยกับดิสโทรลินุกซ์ยอดนิยม Ubuntu ซึ่งที่ผ่านมา เราก็รีวิว Ubuntu มาหลายรุ่นมาก (แทบจะทุกรุ่นในช่วงหลัง)

คราวนี้ Ubuntu 11.04 หรือรหัส "Natty Narwhal" ออกรุ่นจริงเรียบร้อย มีของใหม่มากมายโดยเฉพาะ Unity อินเทอร์เฟซแบบใหม่ของ Ubuntu เอง เรามาดูกันว่าเป็นอย่างไร ควรหรือไม่ควรใช้แค่ไหน

รีวิว Ubuntu ที่ผ่านมา

ก่อนอื่นขอแปะรีวิว Ubuntu ที่เคยเขียนมาทั้งหมด สำหรับคนที่อยากอ่านตอนเก่าๆ จะได้เห็นวิวัฒนาการ

Natty Narwhal กับ "จุดเปลี่ยน" ครั้งสำคัญของ Ubuntu

Ubuntu เป็นดิสโทรที่ผูกกับระบบเดสก์ท็อป GNOME อย่างแนบแน่น โดยเฉพาะกระบวนการออกรุ่นที่ออกทุก 6 เดือนตาม GNOME (Ubuntu จะออกช้ากว่า GNOME ประมาณหนึ่งเดือนเสมอ) แต่ในช่วง 1-2 ปีให้หลัง Ubuntu ก็มีทิศทางการพัฒนาที่หันเหออกจาก GNOME อย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อ GNOME ยกเครื่องระบบเดสก์ท็อปของตัวเองใหม่ใน GNOME 3 ที่ใช้ GNOME Shell เป็นส่วนติดต่อผู้ใช้แบบใหม่ สถานการณ์กลายเป็นว่า Ubuntu ไม่ยอมใช้ GNOME Shell แต่เลือกสร้างระบบเดสก์ท็อป Unity ของตัวเอง (รายละเอียดอ่านจาก สงครามภายในโลกโอเพนซอร์ส เมื่อ GNOME ไม่เห็นด้วยกับ Ubuntu)

Unity เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเดือน พ.ค. 2010 โดยเริ่มใช้กับ Ubuntu 10.10 Maverick Meerkat ในฐานะอินเทอร์เฟซสำหรับเน็ตบุ๊ก ในช่วงแรก Unity ยังไม่ค่อยลงตัวนัก แต่ทางทีมงาน Ubuntu ก็ค่อยๆ แก้ไขบั๊กเรื่อยมา พอมาถึงรุ่น 11.04 ก็ตัดสินใจใช้ Unity เป็นอินเทอร์เฟซหลักทั้งเดสก์ท็อปและเน็ตบุ๊ก

Unity เป็นอินเทอร์เฟซที่เรียกว่า "สร้างขึ้นโดย Ubuntu และเพื่อ Ubuntu" อย่างเต็มปาก ตอนนี้ก็ชัดเจนแล้วว่า Ubuntu จะมุ่งไปในทิศทางนี้ ในขณะที่ดิสโทรอื่นๆ อย่าง OpenSUSE หรือ Fedora มุ่งไปในทาง GNOME Shell ตาม GNOME 3

Natty Narwhal เป็น Ubuntu รุ่นแรกที่นำ Unity มาใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนับตั้งแต่เกิดโครงการ Ubuntu ขึ้นมา รีวิวชิ้นนี้จะเจาะลึกไปที่ Unity เป็นหลัก และจะไม่พูดถึงของใหม่อย่างอื่นๆ ใน Natty อย่าง Firefox 4, LibreOffice, Banshee ซึ่งไม่ใช่ "หน้าใหม่" ในโลกของลินุกซ์

เริ่มต้นกับ Unity

ผมข้ามกระบวนการติดตั้งทั้งหมดไปเลยนะครับ เมื่อเข้ามายังเดสก์ท็อปของ Natty จะพบกับหน้าจอมาตรฐานดังภาพ

สิ่งที่หายไปคือ panel ด้านล่างของหน้าจอ และเมนูสำหรับเรียกโปรแกรมที่อยู่ด้านบนของหน้าจอ ส่วนสิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือ "Unity Launcher" ที่ขอบซ้ายของจอ

ดูจากหน้าตาแล้ว Unity Launcher จะคล้ายกับ Dock ของ Mac OS X หรือ Superbar ของ Windows 7 ซึ่งก็เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องในระดับหนึ่ง แต่กระบวนการทำงานเรียกโปรแกรม-สลับงานทั้งหมดของ Unity นั้นก็มีความแตกต่างออกไปบ้าง จนเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองไม่น้อย

การทำงานกับ Unity

หมายเหตุ: การอธิบายกระบวนการทำงานของ Unity โดยใช้ข้อความ+ภาพทำได้ยากมาก ผมแนะนำว่าเพื่อความเข้าใจที่ดี ผู้อ่านควรทดสอบ Ubuntu 11.04 ด้วยตัวเอง (เป็น live image ก็ทำได้ง่ายมากแล้ว) หรืออย่างน้อยๆ ลองหาวิดีโอใน YouTube ดูประกอบก็ได้

การเรียกโปรแกรมจาก Unity Launcher

ดูจากหน้าตาของ Unity Launcher แล้วก็น่าจะเดากันได้ว่า การคลิกที่ไอคอนของโปรแกรมคือการเรียกโปรแกรมนั้นๆ ขึ้นมา อันนี้เข้าใจง่ายตรงไปตรงมาครับ

จากภาพผมคลิกไอคอนแรก Home Folder โปรแกรมจัดการไฟล์ Nautilus ก็โผล่ขึ้นมาให้เห็น สังเกตว่าตรงไอคอน Home Folder จะมีสามเหลี่ยมขึ้นมาสองอัน อันทางซ้ายมือหมายถึงว่าโปรแกรมกำลังรันอยู่ ส่วนไอคอนทางขวามือบอกว่าเป็นโปรแกรม active ณ ขณะนั้น

ในกรณีที่มีไอคอนบน Unity Launcher มากๆ ไอคอนที่อยู่ท้าย ๆ จะถูกย่อลงตามภาพ (เมื่อเอาเมาส์ไปชี้ก็จะกลับสู่สภาพเดิม)

Unity ยังมีฟีเจอร์ด้าน accesability สำหรับเรียกโปรแกรมโดยไม่ต้องใช้เมาส์ โดยกดปุ่ม Super (Windows) ค้างไว้ จะมีหมายเลขปรากฏขึ้นมาตามลำดับ เราก็กดปุ่มตัวเลขให้ตรงตามโปรแกรมเป็นพอ

Context menu ของ Unity Launcher

ถ้าคลิกขวาที่ไอคอนใน Unity จะมี context menu ปรากฏขึ้นมา อันนี้จะคล้ายกับ Mac OS X คือมีคำสั่งให้เลือกว่าจะเก็บไว้ใน Unity Launcher หรือไม่ และคำสั่งปิดโปรแกรม

เมนูของ Unity Launcher จะรองรับคำสั่งพิเศษแบบเดียวกับ Jump List ของ Windows 7 ด้วย ตัวอย่างในภาพคือโปรแกรมจับหน้าจอ Shutter แสดงคำสั่งที่ใช้บ่อยหลายอัน

Global Menu ย้ายเมนูบาร์ไปไว้ด้านบน

จุดที่น่าสังเกตอีกอย่างคือ "เมนูบาร์" ที่เคยอยู่ใต้ชื่อหน้าต่าง ถูกย้ายไปไว้ในแถบด้านบนสุดของหน้าจอ อันนี้เหมือนกับ Mac OS X แบบเด๊ะๆ แต่จะว่าลอกก็คงพูดได้ไม่เต็มปาก (เพราะอะไร? อ่านต่อไปครับ) แนวทางนี้ถูกเรียกว่า "Global Menu" เพราะพื้นที่แสดงเมนูอันเดียวใช้ได้กับทุกโปรแกรม

เหตุผลที่เมนูบาร์ถูกนำไปไว้ด้านบน เป็นเพราะ Ubuntu ต้องการเพิ่มพื้นที่แสดงผลในแนวตั้งให้มากที่สุดนั่นเอง

การรันโปรแกรมแบบเต็มหน้าจอ

จากภาพก่อนหน้านี้ ผมรัน Nautilus ในโหมดหน้าต่าง ทีนี้ลองกดปุ่ม maximize เพื่อขยายเต็มจอ จะได้ผลลัพธ์ดังภาพข้างบน

จะเห็นว่า Unity Launcher หายไป ส่วนโปรแกรม Nautilus ถูกขยายเต็มหน้าจอ โดยปุ่มควบคุมหน้าต่าง 3 ปุ่มถูกย้ายไปอยู่ในแถบด้านบนสุด (พื้นที่ที่เคยแสดง titlebar หายไป)

แถบด้านบนสุดจะทำหน้าที่สองอย่าง คือ

  1. แสดงข้อความที่เคยอยู่ใน titlebar
  2. แสดงเมนูบาร์

วิธีการสลับระหว่างสองโหมดนี้ก็มีหลายทาง อย่างแรกคือกดปุ่ม Alt ข้อความไตเติลจะกลายเป็นเมนูบาร์ (ลักษณะเดียวกับ Firefox 4) อย่างที่สองคือลากเมาส์ขึ้นไปชนขอบบนสุดของหน้าจอ ก็จะได้ผลแบบเดียวกัน

จุดนี้ทำให้ Unity ต่างกับ Mac OS X เพราะแถบข้างบนสุดใช้ประโยชน์ได้สองอย่าง (กรณีของ Mac OS X ใช้เป็นเมนูบาร์ได้อย่างเดียว) แนวคิดเหล่านี้พัฒนามาจาก Ubuntu Netbook Remix ในอดีต ที่ต้องดิ้นรนเพื่อสร้างพื้นที่แสดงผลในแนวตั้งเช่นกัน

เท่าที่ผมใช้ก็พบว่าไม่มีปัญหาอะไรครับ ยิ่งคนที่คุ้นเคยกับ Mac OS X มาแล้ว ยิ่งปรับตัวได้ง่าย

การเรียก Unity Launcher ในโหมดเต็มหน้าจอ

เมื่อโปรแกรมของเราถูกสั่ง maximize ในหัวข้อก่อน Unity Launcher ก็หายไปจากหน้าจอ การเรียกมันกลับมาก็เดาได้ไม่ยาก เพียงแค่ลากเมาส์ไปชนขอบซ้ายสุดของหน้าต่าง Unity Launcher จะกลับมาอีกครั้งในรูป overlay คือ "ลอยทับ" หน้าต่างที่อยู่ข้างใต้

แนวคิดนี้ไม่ต่างอะไรกับ autohide ของ Taskbar หรือ Dock

การสลับหน้าต่าง

GNOME ใช้แนวคิดการมอง "หน้าต่าง" แบบเดียวกับ Windows คือ "หน้าต่าง" เป็นวัตถุชนิดเดียวบน Taskbar หนึ่งโปรแกรมมีกี่หน้าต่างไม่สนใจ เพราะระบบจะสนใจการ "สลับ-เปลี่ยน-ปิด" หน้าต่างเท่านั้น

แนวคิดนี้จะต่างจาก Mac OS X ที่แยกชนิดของ "โปรแกรม" และ "หน้าต่าง" ทำให้การจัดการโปรแกรม/หน้าต่างมีความซับซ้อนขึ้น (ซึ่งคนใช้แมคใหม่ๆ จะงงกับ "การปิดหน้าต่างไม่ปิดโปรแกรม" นั่นเอง)

กลับมาที่ Unity Launcher การ "สลับหน้าต่าง" แบ่งได้เป็น 2 กรณีย่อย

  • สลับไปยังหน้าต่างของโปรแกรมอื่น
  • สลับไปยังหน้าต่างอื่นของโปรแกรมเดียวกัน

กรณีแรกตรงไปตรงมา เพราะเราคลิกที่ไอคอนของโปรแกรมนั้นๆ บน Launcher ก็จะเรียกหน้าต่างของโปรแกรมนั้นขึ้นมาแสดง

ส่วนกรณีที่สอง เราต้องคลิกไปที่ไอคอนของโปรแกรมเดิม (ซึ่งจะแสดงจำนวนหน้าต่างเป็น "จุดสีขาว" แบบเดียวกับ Mac OS X) ผลก็คือหน้าจอแบบ Expose นั่นเอง

แนวทางการสลับหน้าต่างแบบนี้จะคล้ายๆ กับ Superbar ของ Windows 7 ที่แสดง "ภาพพริวิวของหน้าต่างที่เปิดอยู่" เหนือไอคอนของโปรแกรม เพียงแต่กรณีของ Unity จะแสดงพรีวิวเต็มหน้าจอ ต่างไปจาก Windows 7 ที่แสดงภาพพรีวิวขนาดเล็กๆ เหนือไอคอน

การสลับ Workspace

เดสก์ท็อปของลินุกซ์มีแนวคิดของ workspace หรือพื้นที่ทำงานหลายอัน มานานแล้ว และมันก็ตามมาใน Unity ด้วย

วิธีการใช้งานคือกดไอคอนที่สามจากด้านล่าง (รูปสี่เหลี่ยม 4 อัน) จะพบหน้าจอมุมสูงของ workspace ทั้งสี่อัน เลือกย้ายโปรแกรมกันได้ตามสะดวก (ช็อตคัตของหน้าจอเลือก workspace คือ Super+W)

การเรียกโปรแกรมที่ไม่ได้อยู่บน Launcher

ไอคอนบน Unity Launcher มีเพียงไม่กี่อันเท่านั้น คำถามคือเราจะเรียกโปรแกรมอื่นๆ ที่เหลือได้อย่างไร?

คำตอบก็คือไอคอน Ubuntu เล็กๆ ที่อยู่มุมซ้ายบนสุดของหน้าจอ เมื่อกดแล้วจะพบกับหน้าต่างลอย (overlay) สีเทาเข้มดังภาพ

หน้าต่างนี้เทียบได้กับ Start Menu ของ Unity ครับ แถวบนคือหมวดของโปรแกรมที่ใช้บ่อย ส่วนแถวล่างคือช็อตคัตของโปรแกรมที่ใช้บ่อย (โปรแกรมทั้งหมดต้องกด More Apps)

แต่เอาเข้าจริงแล้ว เราแทบไม่ได้คลิกอะไรในหน้าจอนี้เลย เพราะมันออกแบบมาให้เรา "พิมพ์" ชื่อโปรแกรมในช่องค้นหา ลักษณะเดียวกับ Start Menu ของวินโดวส์รุ่นหลังๆ (ถ้าใครเคยใช้ GNOME Do, Launchy หรือ Quicksilver จะเข้าใจได้ไม่ยาก)

หน้าจอเรียกโปรแกรมนี้สามารถใช้ช็อตคัตปุ่ม Super (หรือปุ่ม Windows) เรียกมันขึ้นมาได้ ดังนั้นกระบวนการทำงานจะเป็นกด Super แล้วพิมพ์ชื่อโปรแกรมที่ต้องการ แล้วกด Enter เพื่อเรียกโปรแกรมนั่นเอง (ส่วนโปรแกรมที่ใช้บ่อยขึ้เกียจพิมพ์ ก็นำไปไว้ใน Unity Launcher ซะ)

รู้จักกับ Lens

แพลตฟอร์ม GNOME 3 มีโปรแกรมใหม่ตัวหนึ่งชื่อว่า Zeitgeist ทำหน้าที่เก็บ metadata ของโปรแกรม ไฟล์ ข้อมูล กิจกรรมต่างๆ ของผู้ใช้ ทำให้โปรแกรมรุ่นใหม่สามารถเรียกใช้ข้อมูลเหล่านี้ เพื่อสร้างการใช้งานที่มีความหมายมากขึ้นได้

Unity ก็เรียกใช้ข้อมูลจาก Zeitgeist เช่นกัน ผ่านแนวคิดที่เรียกว่า "เลนส์" (lens) ซึ่งจะมองว่ามันเป็น "ฟิลเตอร์" ก็ได้

Ubuntu 11.04 ให้ "เลนส์" มาตรฐานมาสองตัว มันคือไอคอนรูปแว่นขยายสองอันท้ายใน Unity Launcher

อันแรกรูปเครื่องหมายบวกคือ Application Lens ซึ่งจะ "กรอง" เอาโปรแกรมต่างๆ มาแสดงให้เราเห็นเป็น 3 หมวด ได้แก่

  • โปรแกรมที่ใช้บ่อย (Most Frequency Used)
  • โปรแกรมทั้งหมดที่อยู่ในเครื่อง (Installed)
  • โปรแกรมที่เลือกติดตั้งเพิ่มได้ (Apps Available for Download)

อันที่สองรูปเอกสารคือ Files Lens จะ "กรอง" ไฟล์และโฟลเดอร์ที่เราน่าจะใช้บ่อยๆ 3 หมวด ได้แก่

  • ไฟล์ล่าสุดที่เปิด (Recent)
  • ไฟล์ที่ถูกดาวน์โหลดมา (Downloads)
  • โฟลเดอร์ที่ใช้บ่อย (Favorite Folders)

แนวคิดเรื่อง Lens ไม่จำกัดเฉพาะโปรแกรมหรือไฟล์เท่านั้น มันสามารถนำไปพลิกแพลงได้อีกมาก เช่น

  • Lens สำหรับแสดงข้อความทวีต (จากโปรแกรม Gwibber)
  • Lens สำหรับแสดงเพลงบนร้านค้า Ubuntu One Music Store
  • Lens สำหรับแสดงวิดีโอที่น่าสนใจบน YouTube
  • Lens สำหรับแสดงหนังสือจาก Google Books

รายละเอียดลองดูใน OMG Ubuntu ครับ

การปรับแต่ง Unity Launcher

จุดอ่อนของ Unity Launcher คือมันยังใหม่มาก หลายจุดยังทำไม่เสร็จดี และตอนนี้ก็ปรับแต่งอะไรแทบไม่ได้เลย แม้แต่ขนาดของตัว Launcher เองก็ปรับไม่ได้ ปรับให้ Unity ไม่ autohide ก็ทำไม่ได้

ทางแก้แบบอ้อมๆ ก็มีครับ นั่นคือโปรแกรม CompizConfig Settings Manager (CCSM) ต้องลงเพิ่มจาก Ubuntu Software Center มันมาพร้อมกับปลั๊กอินในการปรับแต่ง Unity ดังภาพ

โปรแกรม CCSM สามารถปรับแต่ง Unity ได้พอสมควร เช่น ปรับขนาดของไอคอน (จากภาพลดขนาดเหลือ 32 จากขนาดปกติ 48), ปรับไม่ให้ autohide, เปลี่ยนปุ่มลัดสำหรับสั่งงานต่างๆ และปรับสี-แอนิเมชัน

คนอื่นจะชอบยังไงไม่รู้ แต่ผมลองมาหลายท่าแล้ว พบว่าสั่งให้ Unity ปรากฏตัวอยู่ตลอด ดีกว่าให้มัน autohide ก็ตั้งค่าไปตามนั้น (เวลา maximize โปรแกรมเต็มหน้าจอ จะสวยกว่ามาก)

Indicator/Notifier

Ubuntu 10.04 Lucid Lynx ที่ออกเมื่อ 1 ปีก่อน เริ่มนำระบบ panel/indicator/notification แบบใหม่มาใช้ ทำให้กระบวนการแจ้งเตือนรวมศูนย์อยู่ที่เดียวกันทั้งหมด ใช้งานง่ายไม่เกะกะ ระบบนี้ถูกปรับปรุงให้สมบูรณ์ขึ้นใน Ubuntu 10.10 Maverick Meerkat และเมื่อมันเดินทางมาถึง Natty Narwhal ก็ต้องถือว่ามันเติบโตเต็มที่แล้ว โปรแกรมสำคัญๆ รองรับเกือบครบแล้ว

Natty ตัดเอา Panel แบบเก่าของ GNOME 2.x ทิ้งไปเลย ดังนั้น Panel Applet แบบเก่าๆ จึงไม่สามารถใช้งานได้ (ต้องเป็น Indicator Applet แบบใหม่ของ Ubuntu เท่านั้น) อย่างไรก็ตาม Applet ที่ Natty ให้มาก็ถือว่าครอบคลุมงานทั่วๆ ไปเกือบหมดแล้ว

ผู้ที่ต้องการปรับแต่ง Indicator เพิ่มเติม สามารถหาข้อมูลได้จาก OMG Ubuntu หมวด Indicator Applets

Scrollbar แบบลอย

การเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกอย่างของ Ubuntu 11.04 คือ scrollbar ที่เปลี่ยนจากแบบเก่าๆ มาเป็นแบบ overlay (ตัวแถบเลื่อนปรากฏเมื่อเอาเมาส์ไปชี้ - ข่าวเก่า) ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากระบบปฏิบัติการสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ

เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็เพราะต้องการเพิ่มเนื้อที่แสดงผล ลดความเกะกะของ scrollbar บนหน้าจอ และเตรียมพร้อมต่อโน้ตบุ๊กหน้าจอสัมผัสที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง

Scrollbar แบบใหม่จะยังงงๆ ไม่ค่อยสม่ำเสมออยู่บ้าง บางครั้งจะปรากฏนอกขอบหน้าต่าง (เหมือนภาพก่อนหน้านี้) บางครั้งจะปรากฏภายในหน้าต่าง (เหมือนภาพนี้) และบางโปรแกรมที่ไม่ได้เขียนด้วย GTK+ แท้อย่าง Firefox ก็จะยังใช้ scrollbar แบบเก่าอยู่

Ubuntu One

บริการซิงค์ไฟล์ Ubuntu One ก็เริ่มมีฟีเจอร์อื่นๆ งอกขึ้นมาแล้ว เช่น Contacts Sync และ Bookmarks Sync แถมตัวโปรแกรม Ubuntu One เองก็ถูกปรับอินเทอร์เฟซไปจากเดิมมาก

ปรับแต่ง Chromium

อันนี้ไม่ใช่รีวิวเท่าไร แต่เป็นเทคนิคที่อยากแนะนำครับ

บางคนที่ไม่ชอบ Firefox หรืออยากมีเบราว์เซอร์มากกว่าหนึ่งตัว อาจเลือกลง Chromium (ไม่ใช่ Chrome) ได้จาก Ubuntu Software Center ได้โดยตรง แต่ Chromium รุ่นที่มากับ Natty ยังเป็นรุ่น 10.x ที่มีปัญหาภาษาไทยบนลินุกซ์อยู่

ทางแก้ก็ตรงไปตรงมาคือเปลี่ยนมาใช้ Chromium รุ่นที่ใหม่กว่านั้น ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือติดตั้ง PPA Chromium Daily Builds ซึ่งจะได้ Chromium รุ่นใหม่ที่สุดเสมอ (แบกรับความเสี่ยงเอาเองนะครับ) วิธีการติดตั้งก็ดูจากหน้าเว็บของ PPA ได้เลยครับ

อย่างไรก็ตาม Chromium รุ่น Daily ก็ยังไม่ประสานเข้ากับ Ubuntu อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการรองรับ Global Menu และการขยายเต็มหน้าจอ ผมลองค้นข้อมูลดูพบว่า Chromium รุ่นใหม่ๆ รองรับแล้ว แต่เราต้องเปิดใช้เองในหน้า about:flags แล้วสั่งเปิด Experimental GNOME menu bar support ดังภาพ

บั๊ก บั๊ก บั๊ก

เท่าที่ลองใช้มา ก็เจอบั๊กเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปุ่มกดไม่ติด (log out แล้วหาย), สั่ง logout แล้วเจอ Ubuntu One ไม่ยอมปิดตัว เป็นต้น ซึ่งบั๊กเหล่านี้ถือว่า "ยอมรับได้"

แต่ปัญหาสำคัญตัวใหญ่เป้งคือ "การสลับภาษาไทย" ครับ

สำหรับคนที่ใช้ปุ่ม Alt+Shift เป็นปุ่มสลับภาษา จะเจอปัญหาว่าการกด Alt ไปชนกับปุ่มเรียกเมนูบาร์ใน Global Menu ทำให้บางครั้ง (ที่จังหวะการกดปุ่มไม่ดี) กดปุ่ม Alt+Shift เพื่อเปลี่ยนภาษา จะกลายเป็นการกดเปิดเมนูบาร์แทน การพิมพ์ต่างๆ จะหยุดชะงัก (เพราะเมนูถูกเปิดอยู่) ต้องกด Alt อีกครั้งเพื่อปิดเมนู จากนั้นจึงจะพิมพ์ต่อได้ ทำให้การพิมพ์ภาษาไทยบน Natty มีปัญหาอย่างมาก

เท่าที่ผมลองหาข้อมูลพบว่าไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเปลี่ยนปุ่มสลับภาษาเป็นปุ่มอื่นที่ไม่มี Alt (เช่น Caps Lock) ซึ่งก็ต้องปรับนิสัยการพิมพ์คีย์บอร์ดกันใหม่

ผมแจ้งบั๊กนี้ไว้ที่ #768930 ซึ่งตอนนี้ยังเงียบอยู่ (มีคนเสนอว่าอาจซ้ำกับ #729007 ก็ต้องติดตามดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร

สรุป

Unity เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในจักรวาลของ Ubuntu ระบบเดสก์ท็อปแบบเดิมๆ ถูกเปลี่ยนแปลงไปหมด (คนที่ไม่ชอบยังสามารถเปลี่ยนกลับได้ตอนล็อกอิน เลือกเป็น Ubuntu Classic) ต้องปรับตัวกันพอสมควร โดยเฉพาะวิธีการเรียกโปรแกรมที่ต้องเปลี่ยนมากด Super เพื่อพิมพ์ชื่อโปรแกรม

แต่เมื่อคุ้นเคยกับ Unity แล้ว จะพบว่า Ubuntu กำลังเดินหน้าไปในทิศทางที่น่าสนใจมาก ข้อดีที่สุดของ Unity คือพื้นที่หน้าจอที่ได้กลับคืนมาเยอะมาก ถ้าเรารอ Unity ให้พัฒนามากขึ้นอีกรุ่นหรือสองรุ่น (รุ่นหน้ามีข่าวว่า Unity จะปรับแต่งได้แล้ว) การใช้งานเดสก์ท็อปบน Ubuntu จะสมบูรณ์ขึ้นอีกมาก

ผมไม่กล้าฟันธงว่าผู้ใช้ Ubuntu 10.10 ควรอัพเกรดมาใช้ 11.04 หรือไม่ ด้วยเหตุผลว่า Unity ยังมีจุดบกพร่องอยู่บ้าง (แม้จะใช้งานทั่วไปได้แล้ว) และเรื่องบั๊กภาษาไทยตามที่กล่าวไป ดังนั้นขอแนะนำว่าควรลองโหลด live image มาทดสอบดูก่อน แล้วค่อยตัดสินใจด้วยตัวเองครับ

Blognone Jobs Premium