หน่วยย่อยที่สุดของการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ยังเป็น "ทรานซิสเตอร์" ที่ทำหน้าที่ปล่อย/ปิดกั้นการไหลของอิเล็กตรอน ซึ่งจะกลายมาเป็นสถานะ 0 หรือ 1 ในโลกของคอมพิวเตอร์
ทรานซิสเตอร์มีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ (ดังที่เราได้ยินข่าวว่าผลิตที่ระดับกี่นาโนเมตร) แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่มีการสร้างทรานซิสเตอร์ขึ้นมาก็คือ "ทิศทาง" การไหลของอิเล็กตรอนที่จะไหลในแนวระนาบ (2D) เท่านั้น สิ่งที่อินเทลประกาศในวันนี้คือความสำเร็จในการสร้างทรานซิสเตอร์แบบใหม่ที่เรียกว่า Tri-Gate ซึ่งส่งกระแสอิเล็กตรอนในแนวบน-ล่างได้ด้วย (เพิ่มมาอีกมิติเป็น 3D)
อธิบายเป็นตัวหนังสือก็เข้าใจยาก ดูภาพดีกว่าครับ
ภาพจำลองโมเดลทรานซิสเตอร์ 2D (ซ้าย) และ 3D (ขวา) สังเกตตรงแท่งสีเหลืองๆ แทนการไหลของอิเล็กตรอน ว่าจะต่างกัน แบบ 3D จะนูนขึ้นมา
ภาพการทำงานจริงของทรานซิสเตอร์ 2D แบบเก่า จะเห็นเส้นเล็กๆ บางๆ แนวระนาบ แทนการวิ่งของอิเล็กตรอน
ส่วนทรานซิสเตอร์ 3D Tri-Gate แบบใหม่ เส้นจะนูนขึ้นมา
พอเข้าใจแนวคิดของทรานซิสเตอร์ 3D กันแล้ว ต่อไปก็มาดูข้อดีของมัน เมื่อกระแสอิเล็กตรอนวิ่งในแนวตั้งด้วย ทำให้การทำงานของชิปมีประสิทธิภาพดีขึ้น (หรือกินไฟน้อยลงในประสิทธิภาพเท่ากัน)
อินเทลจะนำเทคนิคการผลิตแบบนี้ไปใช้กับซีพียูรุ่นถัดไปรหัส Ivy Bridge ซึ่งผลิตที่ 22 นาโนเมตร ซึ่งเมื่อเทียบกับทรานซิสเตอร์แบบเดิม ผลิตที่ 32 นาโนเมตรแล้ว ประสิทธิภาพจะดีขึ้น 37% หรือในทางกลับกันคือกินไฟน้อยลงครึ่งหนึ่ง
เทคนิคการผลิตแบบนี้จะช่วยให้อินเทลยังรักษา "กฎของมัวร์" ต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง
ปิดท้ายด้วยคลิปอธิบายแนวคิดของ "ทรานซิสเตอร์ 3D" จากวิศวกรอาวุโสของอินเทล ทำเป็นการ์ตูนดูสนุกใช้ได้เลยครับ
ที่มา - Intel, Engadget, VentureBeat