Fortune: สตีฟ จ็อบส์และสูตรความสำเร็จของแอปเปิลในการบริหารจัดการ

by toandthen
8 May 2011 - 00:44

นิตยสาร Fortune เล่มที่ 500 ได้มีการเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิธีบริหารบริษัทของแอปเปิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญของสตีฟ จ็อบส์ที่มีต่อบริษัทในด้านต่าง ๆ โดย Fortune อ้างว่าเป็นข้อมูลที่พนักงานแอปเปิลแต่ละคนเป็นคนเปิดเผยออกมา

จ็อบส์มักจะบอกกับรองประธานฝ่ายต่าง ๆ ของแอปเปิลที่เข้ามาทำงานใหม่เสมอเกี่ยวกับ "ความแตกต่างระหว่างภารโรงกับรองประธาน" โดยได้บอกกับรองประธานเหล่านี้ว่า สำหรับภารโรง เหตุผลมีความหมาย แต่สำหรับรองประธาน เหตุผลหรือข้อแก้ตัวจะไม่มีความหมายอีกไป หากภารโรงลืมเก็บขยะในห้องไปทิ้งก็อาจจะหาเหตุผลต่าง ๆ นา ๆ มาอธิบายว่าเขาไม่สามารถเข้าห้องได้เพราะล็อคประตูเปลี่ยนไป ฯลฯ​ แต่สำหรับรองประธานของแอปเปิลแล้ว เหตุผลไม่มีความหมายอีกต่อไป

แม้กระทั่งเรื่องเกี่ยวกับไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ ในแอปเปิล สตีฟ จ็อบส์เองตอนสุดท้ายก็จะเป็นคนตัดสินใจในทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าเรื่องเหล่านี้จะสำคัญหรือไม่ (แม้กระทั่งเรื่องอาหารในโรงอาหาร) หากพนักงานมีไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ใด ๆ ขึ้นมา ก็จะต้องนำเสนอสิ่งเหล่านี้ให้กับหัวหน้า จากนั้นหัวหน้าของแผนกก็จะนำเสนอเรื่องนี้ให้กับจ็อบส์

เมื่อตอนที่แอปเปิลเปิดตัว iPhone 3G พร้อมกับบริการ MobileMe แอปเปิลได้พบกับปัญหาที่ระบบไม่สามารถทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพได้ บริการผ่านหน้าเว็บของ MobileMe ล่มหรือบางครั้งก็โหลดไม่ขึ้น โดยสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือผู้ใช้ที่จ่ายค่าบริการรายปีให้กับแอปเปิลเพื่อบริการนี้ต่างสงสัยว่าบริการดังกล่าวพร้อมที่จะเปิดตัวจริงหรือไม่ สตีฟ จ็อบส์จึงได้ตัดสินใจเรียกพนักงานทุกคนที่เกี่ยวข้องกับ MobileMe มาใน Town Hall ของตึกแอปเปิล แล้วบอกว่าทุกคนมีส่วนทำลายชื่อเสียงของแอปเปิล และทุกคนก็ควรจะเกลียดซึ่งกันและกันที่ทำให้ผู้ร่วมงานผิดหวัง จากนั้นจ็อบส์ก็ได้ให้ชื่อผู้บริหาร MobileMe คนใหม่เข้ามาทำงานแทนที่ในทันที

"มีใครสามารถบอกได้บ้างว่า MobileMe มันควรเป็นอย่างไร?" .. เมื่อสตีฟได้รับคำตอบที่ตัวเองพอใจ สตีฟก็ได้ตอบว่า "แล้วมันเป็นห่_อะไรทำไมมันถึงไม่เป็นอย่างนั้น?"

สำหรับคนที่สงสัย นี่คือแผนผังที่แสดงระบบบริหารภายในบริษัทของแอปเปิล ที่น่าสนใจคือ แอปเปิลมีรองประธานฝ่ายต่าง ๆ มากมายที่เรายังไม่เคยได้ยินมาก่อน

เมื่อถึงเวลารายงานความคืบหน้าของงานแต่ละงาน แอปเปิลจะมีบุคคลที่มีตำแหน่ง DRI (Directly Responsible Individual) หรือผู้ที่จะต้อง "รับผิดชอบงานนี้โดยตรง" ออกมารายงานความคืบหน้าและแสดงความรับผิดชอบต่องานต่าง ๆ เสมอ เพราะฉะนั้นหากมีอะไรผิดพลาด แอปเปิลจะสามารถเลือกจัดการกับพนักงานได้ถูกคน

อารมณ์รุนแรงของสตีฟ จ็อบส์เองก็เคยลามไปถึง Walt Mossberg แห่ง Wall Street Journal อีกด้วย หลังจากที่ Mossberg เขียนวิจารณ์ MobileMe ในแง่ลบ สตีฟได้บอกว่า "เพื่อนของเรา Mossberg จะไม่เขียนเรื่องดี ๆ เกี่ยวกับเราอีกต่อไป"

รายงานฉบับนี้ยังบอกอีกว่า เมื่อโปรเจคใกล้เสร็จ แอปเปิลจะยอมจ่ายและยอมทำทุกอย่างเพื่อให้โปรเจคนั้นไร้ที่ติ ยกตัวอย่างเช่น แอปเปิลได้จ้างวงออเคสตร้าชื่อดัง London Symphony Orchestra ให้บันทึกเสียงให้กับ iMovie,​ การส่งทีมถ่ายภาพไปถ่ายฉากงานแต่งงานที่ฮาวาย หรือแม้กระทั่งการสร้างฉากงานแต่งงานปลอม ๆ ขึ้นมาในซานฟรานซิสโก โดยให้พนักงานแอปเปิลเล่นบทเป็นแขกผู้ร่วมงาน

จ็อบส์เองยังได้จ้างกลุ่มศาสตราจายร์และพนักงานฝ่ายบริหารของ Yale School of Management มาทำงานในส่วนของ Apple University ซึ่งเป็นกลุ่มศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยดัง ๆ ต่าง ๆ รวมไปถึง Harvard ที่ได้รับภารกิจในการเขียน Case Study ต่าง ๆ เพื่อที่จะเตรียมบริษัทหากบริษัทต้องทำงานต่อไปโดยไม่มีสตีฟ จ็อบส์ โดย Case Study เหล่านี้จะนำเสนอการตัดสินใจต่าง ๆ ของบริษัท (สตีฟ จ็อบส์) และวัฒนธรรมของแอปเปิล โดยพนักงานที่จะเข้าถึง Case Study เหล่านี้ได้มีเพียงแค่พนักงานระดับสูงที่จะได้รับการโค้ชโดยรองประธานของแอปเปิลอย่าง Tim Cook หรือ Ron Johnson เท่านั้น

ที่มา - 9to5Mac

Blognone Jobs Premium