รีวิวแท็บเล็ต Acer Iconia A500

by mk
9 May 2011 - 10:43

มาตามสัญญาครับ รีวิวแท็บเล็ต Acer Iconia A500 ซึ่งเป็นแท็บเล็ต Android Honeycomb ตัวแรกที่วางขายในไทยอย่างเป็นทางการ

รีวิวนี้จะพูดถึงประเด็นด้านฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ที่ Acer แถมมาให้เท่านั้น ส่วนตัวระบบปฏิบัติการ Android Honeycomb อ่านได้จาก รีวิวระบบปฏิบัติการ Android 3.0 Honeycomb นะครับ (รูปเยอะหน่อยนะ)

สเปก

สเปกของ Iconia A500 มีดังนี้

  • หน้าจอ 10.1" ความละเอียด 1280x800 (สัดส่วน 16:10)
  • หน่วยประมวลผล NVIDIA Tegra 2 ความเร็ว 1GHz ดูอัลคอร์
  • แรม 1GB
  • กล้องหลัง 5MP, กล้องหน้า 2MP
  • พื้นที่เก็บข้อมูลภายใน 32GB
  • พอร์ต USB, Micro USB, Micro HDMI, Micro SD
  • เชื่อมต่อผ่าน Wi-Fi (รุ่น 3G ไม่ได้นำเข้ามา)
  • น้ำหนัก 0.76 กิโลกรัม

ราคา 17,900 บาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

แกะกล่อง

Iconia A500 มาในกล่องขนาดย่อมเยาสีขาว มีภาพตัวเครื่องด้านหน้า สไตล์การออกแบบดูจะได้อิทธิพลมาจากแอปเปิลอยู่บ้าง

กล่องเป็นแบบฝาครอบ เมื่อเปิดออกมาจะพบตัวแท็บเล็ตวางอยู่ชั้นบน

อุปกรณ์ที่ให้มาด้วยก็มีเอกสารคู่มือต่างๆ, สายต่อ USB-Micro USB และสายชาร์จแบบเปลี่ยนหัวปลั๊กได้ (ไม่มีสาย Micro HDMI มาให้ด้วย)

ตัวอแดปเตอร์ค่อนข้างใหญ่เมื่อเทียบกับอแดปเตอร์ของอุปกรณ์ไอทีสมัยนี้ ส่วนที่ผมไม่ชอบคือสายชาร์จค่อนข้างสั้น ใช้งานไม่สะดวกนัก (Iconia ไม่สามารถชาร์จผ่าน Micro USB ได้ ต้องชาร์จผ่านอแดปเตอร์ของตัวเองเท่านั้น)

ฮาร์ดแวร์ภายนอก

เมื่อแรกสัมผัส Iconia A500 จะรู้สึกทันทีว่าขนาดค่อนข้างใหญ่ เมื่อเทียบกับ iPad แล้วจะผอมกว่าแต่ยาวกว่าเล็กน้อย เพราะเลือกใช้สัดส่วนจอภาพแบบ 16:10 สำหรับการดูหนังนั่นเอง

ตอนที่ผมถ่ายรูปประกอบการรีวิวชุดนี้ ไม่มีอุปกรณ์อะไรให้เทียบเลย เลยได้แต่เอามือถือตัวเอง (Nexus S) และเมาส์แถวๆ นั้นมาวางเทียบให้พอเห็นขนาดจริง (ดูรูปเทียบขนาดกับอุปกรณ์ต่างๆ ได้ในรีวิวของคุณ @kafaak)

น้ำหนักของมันก็มากกว่า iPad 1 เล็กน้อย เมื่อนำปัจจัยด้านขนาดกับน้ำหนักมารวมกัน ทำให้การพกพาออกนอกสถานที่ไม่ค่อยสะดวกเท่าไรนัก (ยิ่งบวกกับปัจจัยว่าไม่ใช่รุ่น 3G ยิ่งสมควร) ผมให้นิยามมันว่าเป็น desk tablet ที่ใช้ในบ้านน่าจะดีที่สุด

ส่วนสไตล์ของวัสดุ หน้าตา ก็เห็นชัดว่าเป็นแนวทางของ Acer ชนิดดูปุ๊บรู้ปั๊บ แต่คุณภาพของวัสดุและการประกอบก็ทำออกมาได้ดี หนักแน่น มั่นคง ไม่ดูเป็นพลาสติก

ความหนาของตัวเครื่อง วางเทียบกับปากกาเมจิกไซส์เล็ก เครื่องจะไม่เป็นสี่เหลี่ยมมุมฉาก แต่โค้งมนเป็นวงรีครับ

ด้านหลังเป็นโลหะลาย brushed metal (ขัดเป็นเส้น) โดยมีกล้องอยู่ที่มุมด้านขวาบน และลำโพงสองตัวที่ขอบด้านล่าง

กล้องพร้อมแฟลช

พอร์ตเชื่อมต่อ

มาดูรอบๆ ตัวเครื่องกันบ้าง ด้านล่างของเครื่องเป็นพอร์ตเฉพาะของ Iconia เองสำหรับ dock กับคีย์บอร์ด (ยังไม่มีขาย แต่ทาง Acer บอกว่าจะนำเข้ามา)

ด้านขวามือ ที่ชิดกับขอบด้านล่างเป็นพอร์ต USB ขนาดเต็ม และ Micro USB อย่างละหนึ่งพอร์ต พร้อมช่องเล็กๆ สำหรับรีเซ็ตเครื่อง

ด้านขวามือ ชิดกับขอบบน เป็นช่องสำหรับเสียบสายชาร์จ

ขอบด้านซ้าย ชิดขอบล่างเป็นพอร์ต Micro HDMI

ขอบซ้ายด้านบน มีปุ่มปิด-เปิด-ล็อคหน้าจอ (เรืองแสงได้และเปลี่ยนเป็นสีแดงตอนชาร์จ) และช่องเสียบหูฟังมาตรฐาน

ขอบด้านบนของเครื่อง จะมีปุ่มและพอร์ตเรียงอยู่ด้านซ้ายมือ จากภาพคือ "บานพับ" สำหรับเสียบ Micro SD, ปุ่มล็อคไม่ให้เอียงเครื่อง และปุ่มปรับระดับเสียง

ปุ่มปรับระดับเสียงของ Iconia ถือว่าน่าสนใจ เพราะไม่ระบุว่ากดด้านไหนจะเพิ่มหรือลดเสียงตายตัว (เนื่องจากเราถือตัวแท็บเล็ตทิศทางไหนก็ได้) ต้องจำไว้ว่า "กดไปทางขวา = เพิ่มเสียง" เป็นพอ

ตัวบานพับจะคล้ายๆ กับ MacBook Air รุ่นแรก แต่เอาจริงแล้วมันเป็นยาง แกะออกมาจะเห็นช่องเสียบ Micro SD และช่องว่างอีกช่องหนึ่ง (สำหรับใส่ซิมการ์ดในรุ่น 3G)

จะเห็นว่าที่ด้านหน้าของ Iconia ไม่มีปุ่มใดๆ เลย สามารถใช้ได้ทุกทิศทาง (เพราะ Honeycomb ออกแบบมาดีมากในเรื่องนี้) อย่างไรก็ตาม ในการใช้งานจริงๆ ก็มีปัญหาอยู่บ้าง คือตอนจะหยิบขึ้นมาใช้ต้องคลำหา "ปุ่มปลดล็อค" (ซึ่งมีตำแหน่งตายตัว) ก่อน ทำให้ข้อดีของ Honeycomb เรื่องใช้งานได้ทุกทิศด้อยลงไป

ด้วยดีไซน์แบบนี้คงทำอะไรมากไม่ได้ แต่แนวทางแก้ปัญหาแบบหนึ่งที่เป็นไปได้คือแนวทางของ BlackBerry PlayBook ที่เปลี่ยนการปลดล็อคหน้าจอด้วยปุ่ม มาเป็น gesture บนหน้าจอ (ลากจากขอบจอไปยังหน้าจอ) ซึ่งถือเป็นไอเดียที่ดีมาก เพราะเราไม่ต้องกังวลว่าจะจับเครื่องในแนวไหนอย่างแท้จริง

ซอฟต์แวร์จาก Acer

เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาครั้งแรกและยังไม่ติดตั้งแอพใดๆ จะมีแอพที่แถมมากับเครื่องดังภาพ

ถ้าไม่นับแอพของกูเกิลที่มากับตัว Honeycomb ก็จะเหลือแอพของ Acer เองดังนี้

  • Acer Registration - ลงทะเบียน
  • Acer Sync - ซิงก์กับพีซี (ฝั่งพีซีต้องลงโปรแกรมของ Acer ด้วย)
  • AUPEO! - ฟังวิทยุออนไลน์
  • Clear.fi - โปรแกรมเล่นมัลติมีเดีย (ภาพ, เพลง, วิดีโอ)
  • Docs To Go - ชุดโปรแกรมออฟฟิศ
  • โปรแกรม "ชั้นวางของ" ของ Acer เอง ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่อะไรนอกจากเป็น launcher สำหรับเรียกโปรแกรมแยกตามหมวดอีกที ได้แก่ eReading, Games, Multimedia, Social
  • Hero of Sparta - เกม (เดโม)
  • Lets Golf - เกม (เดโม)
  • Link to Facebook - ตามชื่อจริงๆ ครับ ลิงก์ไปยังเว็บไซต์ Facebook (ให้มาทำไมเนี่ย)
  • LumiRead - อ่านอีบุ๊ก (ยังไม่รองรับประเทศไทย)
  • Media Server - สำหรับต่อออกอุปกรณ์อื่นผ่าน DLNA
  • MusicA - โปรแกรมแท็กเพลงแบบเดียวกับ Shazam
  • nemoPlayer - โปรแกรมเล่นมัลติมีเดีย (ภาพ, เพลง, วิดีโอ)
  • NFS Shift - เกม
  • Photo Browser - โปรแกรมดูภาพอีกตัวหนึ่ง ใช้แทน Gallery ของ Honeycomb ได้
  • SocialJogger - โปรแกรมสำหรับ Twitter/Facebook
  • TegraZone - ร้านขายเกมของ NVIDIA
  • Top HD Games - ร้านขายเกมของ GameLoft

ผมจะลงรายละเอียดแอพเพียงบางตัวเท่านั้นนะครับ

AUPEO! แอพฟังสถานีวิทยุออนไลน์ มีสถานีพรีเซ็ตมาให้จำนวนหนึ่ง คงไม่ค่อยได้ใช้กันเท่าไรแต่ก็มีไว้ดีกว่าไม่มี

clear.fi แอพสำหรับเล่นมัลติมีเดียของ Acer ทำเอง ก็ทำงานพื้นฐานได้ตามความคาดหมาย

nemoPlayer แอพสำหรับเล่นมัลติมีเดีย ได้แก่ ดูภาพ เล่นเพลง เล่นวิดีโอ ไม่มีอะไรเกินความคาดหมาย

NFS Shift เกมขับรถแข่งตระกูล Need For Speed เอาไว้เล่นโชว์ประสิทธิภาพเครื่อง :D

Photo Browser แอพสำหรับดูภาพ สามารถเอียงเครื่องเพื่อทำสไลด์โชว์ได้ อย่างอื่นก็ไม่มีอะไรพิสดารเช่นกัน เอาไว้ดูภาพนี่นา

SocialJogger แอพสำหรับเล่น Twitter/Facebook จาก Acer เอง ตัวแอพก็แปลกนิดหน่อยตรงที่มี "jogger" หรือวงล้อเลื่อนสำหรับเลื่อนหน้าจอ และแยกหมวดข้อความตามภาพ-ลิงก์ นอกจากนั้นก็ไม่ค่อยมีอะไร แนะนำว่าในการใช้งานจริงควรใช้ client ตัวอื่นจะดีกว่า

Tegra Zone ร้านขายเกมของ NVIDIA มันเป็นแอพที่เขียนมาครอบ Android Market อีกทีหนึ่ง (กดซื้อเกมแล้วจะเข้า Android Market) ซึ่งเมืองไทยก็ยังซื้อไม่ได้อยู่ดี ไม่มีประโยชน์อะไร

Top HD Games มันเป็นลิงก์ไปยังหน้าเว็บของ Game Loft สำหรับขายเกมบนมือถือ-แท็บเล็ต แต่ลองแล้วปรากฏว่ายังไม่รอบรับประเทศไทย จบไปอีกตัว

สรุปว่า Acer แทบไม่ได้ปรับแต่งอะไรตัว Honeycomb เลย (ซึ่งเป็นเรื่องดี?) ส่วนแอพที่แถมมาให้ก็ไม่ค่อยมีประโยชน์มากนัก แถมหลายตัวใช้ไม่ได้ในประเทศไทย (แต่คงเป็นนโยบายที่ทั้งโลกแถมแอพชุดเดียวกันหมด) และแอพหลายตัวก็มีความสามารถไม่เยอะเมื่อเทียบกับแอพอื่นๆ ในท้องตลาด (เช่น SocialJogger ใช้แอพเฉพาะทางอย่างพวก TweetDeck/Twicca ดีกว่า)

อีกประเด็นผมไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกันว่าให้แอพสำหรับดูภาพ-เพลง-วิดีโอมาทำไมตั้งหลายตัว แต่แอพเหล่านี้เราสามารถดาวน์โหลดตัวที่เจ๋งกว่าดีกว่าได้จาก Market อยู่แล้ว ซึ่งไม่เป็นประเด็นข้อเสียอะไรมากนัก นอกจากจะรกหน้าจอเท่านั้น

การใช้งานทั่วไป

โดยรวม Iconia A500 ทำงานได้ดี ตอบสนองรวดเร็ว ไม่มีอาการหน่วงให้เห็น (สเปกแรงซะขนาดนี้) หน้าจอของมันขนาดใหญ่สะใจ เหมาะแก่การดูหนังในแนวนอน และอ่านเว็บ/อ่านหนังสือในแนวตั้ง เป็นอย่างมาก

ผมลองลงแอพของ Kindle เพื่ออ่าน eBook ก็พบว่าทำได้ดี ตัวหนังสือใหญ่เต็มตา ตัวแอพเองก็ปรับอินเทอร์เฟซให้เข้าสไตล์กับ Honeycomb แล้ว

ทดลองอ่าน PDF ภาษาไทยก็พอดีกับหน้าจอ ไม่ต้องเลื่อนไปมาให้ลำบาก

อ่านเว็บในแนวตั้ง จะได้ตัวหนังสือเต็มตาพอดี ภาษาไทยไม่มีปัญหา ตัดคำสวยงาม เล่น Flash ได้

การดูหนังฟังเพลง ลำโพงเสียงดังและเสียงดี การเล่นไฟล์ความละเอียด 720p ทำได้สบายไม่มีปัญหา แต่ 1080p กลับกระตุก กรณีนี้ถือว่าน่าสนใจ เพราะตามสเปกของ Tegra 2 น่าจะเล่นได้ น่าจะเป็นปัญหาของตัว Honeycomb หรือ Iconia เองมากกว่า

ผมทดลองเล่นด้วยแอพ RockPlayer ระบุว่าไม่สามารถเล่นไฟล์ 1080p ด้วย "system player" ได้ ต้องรันในโหมด software decoding เท่านั้น ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไรว่ามันจะกระตุกกระจาย คิดว่าปัญหาตรงนี้น่าจะเป็นเรื่องของซอฟต์แวร์มากกว่าฮาร์ดแวร์ครับ

ในการใช้งานจะพบปัญหาที่สำคัญ 2 ข้อดังนี้

  • ขนาดใหญ่และหนักเกินไปสักนิด ถือนานๆ แล้วเมื่อย ถ้านอนดูหนังวางตั้งก็ลำบาก ต้องหาอะไรมารอง ปัญหานี้เกิดกับ iPad เหมือนกัน แต่ Iconia A500 ใหญ่กว่าและหนักกว่านิดหน่อย ดีกรีของปัญหาเลยมากขึ้น
  • นอกจากเล่นเว็บ-ตอบเมล-Twitter-Facebook-อ่านอีบุ๊ก-ดูหนัง ยังทำอะไรไม่ค่อยได้มากนัก อันนี้เป็นเพราะแอพของตัว Honeycomb เองยังน้อยมาก เมื่อเทียบกับแอพของ Android 2.x ทำให้ทำอย่างอื่นไม่ค่อยได้ เน้นงานที่ว่ามาเป็นหลัก

แบตเตอรี่ตามสเปกบอกว่าอยู่ได้ 10 ชั่วโมง แต่ในการใช้งานจริง ถ้าใช้งานหนักๆ (เล่นเว็บ-ดูหนังเป็นพักๆ) ก็อยู่ได้ประมาณหนึ่งวันครับ อาจจะช่วยประหยัดแบตได้โดยการเข้าโหมด airplane ถ้าไม่ใช้เป็นเวลานานๆ ผมไม่ได้ทดสอบแบตเป็นเรื่องเป็นราว แต่โดยรวมถือว่าผ่าน (แต่เวลาจะชาร์จที เจอปัญหาสายชาร์จสั้นเกิน อันนี้ไม่ดี)

คีย์บอร์ด

Acer ไม่ได้แถมคีย์บอร์ดภาษาไทยมาให้ด้วย ถึงแม้ Android จะสามารถลงคีย์บอร์ดเองจาก Market ได้ แต่เอาเข้าจริงคีย์บอร์ดภาษาไทยที่มีอยู่ในตอนนี้ยังไม่ปรับแต่งให้เหมาะสมกับแท็บเล็ตมากนัก (ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะแท็บเล็ต Honeycomb ก็เพิ่งจะมีขาย)

ผมลองคีย์บอร์ดมาหลายตัว พบว่าโซลูชันที่เวิร์คที่สุดคือใช้ TSwipe แต่ต้องปรับแต่งเพิ่มเติมเองพอสมควรในหน้า Settings/Apperance ดังนี้

  • Layouts

    • Portrait EN = Std-II QWERTY
    • Portrait TH = Std-I Kedmanee
    • Landscape EN = Two Hands QWERTY
    • Landscape TH = Two Hands Kedmanee
  • Keyboard size
    • Portrait height = 35%
    • Landscape height = 50%
    • Landscape full-screen = เอาติ๊กออก

จะได้ผลลัพธ์ดังภาพครับ (จริงๆ TSwipe ปรับได้อีกเยอะมาก ลองปรับกันเองตามชอบ)

หมายเหตุ: ตอนที่ไปงานแถลงข่าวเปิดตัว Acer Iconia ผมได้ลองจับเครื่องของทีมงาน Acer และพบว่ามันติดตั้งคีย์บอร์ด CNThai เวอร์ชันแท็บเล็ตมาด้วย เพราะเหตุใด Acer ถึงไม่ได้รวมคีย์บอร์ดตัวนี้มาด้วย อันนี้ต้องสอบถามไปยัง Acer กันครับ

USB

จุดเด่นมากๆ อันหนึ่งของ Iconia A500 คือมันมาพร้อมกับพอร์ต USB ขนาดปกติหนึ่งพอร์ต ทำให้โลกของอุปกรณ์เสริมต่างๆ ยิ่งใหญ่ขึ้นมาในทันใด

เมื่อมี USB ให้ลองเสียบ ผมก็ลองไปหาอุปกรณ์เสริมต่างๆ มาเสียบทดสอบดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง อย่างแรกที่คิดออกชัวร์ๆ คือ thumbdrive

จากการทดสอบแล้วพบว่าเสียบ thumbdrive ที่เป็น FAT32 มาตรฐานแล้วเห็นทันที (ไม่ต้องสั่ง mount ก่อนด้วย) เพียงแต่ตัว Honeycomb เองไม่มี file manager มาให้ ทำให้เสียบแล้วไม่มีอะไรบอกว่าติดหรือไม่ติด ต้องลงแอพพวก Astro หรือ file manager ตัวอื่นๆ

สังเกตในหน้า Settings/Storage จะเห็น External USB storage โผล่ขึ้นมา

แต่ว่าตัว file system จะถูก mount ให้อัตโนมัติ นั่นแปลว่าผมเอาไฟล์หนังใส่ thumbdrive แล้วมาเสียบ Iconia มันสามารถเล่นได้ทันทีนะครับ อันนี้เป็น killer feature ของ Iconia เลยล่ะ

อย่างต่อมาที่ลองเอาไปเสียบคือคีย์บอร์ดครับ ตัว Honeycomb รองรับ hardware keyboard ในตัวอยู่แล้ว เสียบปุ๊บพิมพ์ได้เลย ใช้ปุ่มลูกศรและ page up/down เลื่อนหน้าจอได้ด้วย (เพียงแต่ยังไม่รองรับเลย์เอาท์ภาษาไทย)

สังเกตตัวเลือก "Use physical keyboard" อันบนสุด

คุณสมบัติด้านฮาร์ดแวร์ที่ค่อนข้างเปิดกว้างหรือ "ไม่กั๊ก" แบบนี้ สร้างความเป็นไปได้ให้กับ Iconia หลายอย่างมาก (เช่น ถ้าเอา USB card reader มาต่อ ก็น่าจะได้แท็บเล็ตสำหรับดูภาพถ่ายจอใหญ่ๆ หลังถ่ายภาพเสร็จ) ที่เหลือขึ้นกับฝั่งซอฟต์แวร์จะนำไปพัฒนาต่อให้เป็นโซลูชันที่สมบูรณ์เท่านั้น

หมายเหตุ:

  • ผมลองเอาเมาส์ไปเสียบแบบหวังฟลุค แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แหะๆ
  • ผมไม่มีสาย Micro HDMI เลยไม่ได้ทดสอบฟีเจอร์นี้ครับ

กล้อง

เอาจริงแล้วคงไม่มีใครนำแท็บเล็ตมาถ่ายภาพจริงจังมากนัก (โดยเฉพาะ Iconia เพราะมันหนัก!) แต่ไหนๆ ให้กล้องมาแล้วก็ขอลองหน่อย ผลออกมาดีใช้ได้เลยครับ ดูภาพประกอบเอาเองละกันนะ (ทั้งหมดถ่ายด้วยโหมดปกติ ไม่ได้ปรับแต่งอะไรเป็นพิเศษ ยกเว้นย่อรูปตอนอัพโหลด ส่วนรูปที่ 6 ลองซูมดิจิทัล 3x จะเห็นว่าภาพยังใช้ได้อยู่ครับ)

การเชื่อมต่อกับพีซี

การเชื่อมต่อ Iconia A500 กับพีซีที่เป็นวินโดวส์ จำเป็นต้องดาวน์โหลดไดรเวอร์จากเว็บไซต์ Acer ประเทศไทย (หน้าดาวน์โหลด) ซึ่งมีไดรเวอร์ของ A500 ให้ดาวน์โหลดอย่างสะดวกสบาย

เมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว A500 จะเชื่อมต่อกับพีซีในโหมด MTP (ไม่ใช่ USB storage) ทำให้เราสามารถโอนย้ายไฟล์ได้โดยไม่ต้อง mount/unmount ซึ่งเป็นข้อดีเหนือกว่าโหมด USB storage ครับ

การเชื่อมต่อกับ Android SDK ก็ทำเหมือนอุปกรณ์อื่นๆ ไม่มีอะไรต่างออกไป ภาพทั้งหมดในบทความนี้ผมจับภาพด้วย DDMS บน Android SDK Tools revision 10 ครับ

สรุป

แยกแยะจุดแข็งจุดอ่อน

จุดแข็ง

  • สเปกแรง
  • จอใหญ่ มุมมองแสดงผลกว้าง
  • พอร์ตต่อเชื่อมเพียบ ไม่ต้องหาตัวแปลงให้วุ่นวายเหมือนกับ...
  • ต่อ USB drive ได้โดยตรง "เทพ"
  • พื้นที่เก็บข้อมูลเหลือใช้ 32GB

จุดอ่อน

  • ขนาดใหญ่และหนักเกินกว่าจะพกไปนอกบ้าน
  • Honeycomb ยังไม่สมบูรณ์นัก แอพยังน้อย
  • ยังไม่มีรุ่น 3G
  • ไม่มีคีย์บอร์ดภาษาไทยมาให้
  • เล่นไฟล์ 1080p ไม่ลื่น
  • สายชาร์จสั้นไปหน่อย และไม่สามารถชาร์จผ่าน Micro USB ได้
  • แอพที่แถมมาให้ ยังไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไร

ภาพรวม

  • ฮาร์ดแวร์ภายในและพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ Acer ทำเกือบดีแล้ว
  • ซอฟต์แวร์และแพลตฟอร์ม ยังไม่สมบูรณ์ อันนี้เป็นปัญหาที่กูเกิลจะต้องแก้
  • อันที่ยังไม่ดีคือขนาดและน้ำหนัก ซึ่งใหญ่และหนักเกินไป

ด้วยปัจจัยทั้ง 3 ข้อ ทำให้ Acer Iconia A100 รุ่น 7" น่าสนใจมาก เพราะไส้ในเหมือนกัน ซอฟต์แวร์ตัวเดียวกัน แต่ขนาดย่อมเยาลงมาพกพาสะดวกขึ้นเยอะ ต้องรอดู Acer นำเข้ามาทำตลาดต่อไปครับ (แต่ A100 ไม่มี USB ตัวเต็มนะ)

ฟันธง!

คำถามที่ต้องเจอแน่ๆ คือ "Iconia A500 กับ iPad 2 เลือกอันไหนดี?"

ถ้าให้เทียบ Iconia A500 กับ iPad 1 ผมคงตอบ A500 แบบไม่ต้องคิดมาก แต่เมื่อ iPad 2 ปรับปรุงเรื่องขนาดและน้ำหนักไปมาก ขณะที่ราคากลับใกล้เคียงกัน คำตอบ (สำหรับคนทั่วๆ ไปที่อยากมีแท็บเล็ตเครื่องแรก) ก็คงไม่ใช่ A500 ครับ

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ต้องใช้พอร์ตเชื่อมต่อเยอะๆ A500 เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย น่าเสียดายว่า Acer ไม่ยอมเอารุ่นถูกที่สุดคือ 16GB Wi-Fi เข้ามา ทำให้ "ราคาขั้นต่ำของการเป็นเจ้าของ" ถีบตัวสูงขึ้นไปอีกนิด ต้องพิจารณากันเองว่าควรซื้อหรือไม่

ผู้ที่ไม่ต้องการ iPad 2 และเจาะจงอยากได้แท็บเล็ต Android Honeycomb ควรรออีกนิด เพราะเดี๋ยวจะเจอภาวะ "กองทัพแท็บเล็ตแอนดรอยด์จู่โจม!!!" อย่างแน่นอน

ผมคิดว่าโดยรวม Acer เริ่มมาถูกทางแล้วกับ A500 ที่อัดสเปกมาให้แบบไม่กั๊กในราคาเท่าคู่แข่ง ที่เหลือ Acer ควรเดินตามรอยของซัมซุงที่ปรับปรุง Galaxy Tab 10.1" ใหม่จนบางเบาน่าสนใจ อีกสักพักมาดูกันใหม่ว่า "แท็บเล็ตรุ่นสอง" ของ Acer จะกลับมาผงาดได้แค่ไหน

Blognone Jobs Premium