งาน Google I/O 2011 ที่เพิ่งผ่านไปนอกจากการเปิด Android รุ่นใหม่และบริการใหม่ๆ แล้ว การเปิดตัวที่ยิ่งใหญ่อีกอย่างหนึ่งคือ Acessory Development Kit (ADK) ที่เปิดโอกาสให้นักพัมนาฮาร์ดแวร์สามารถพัฒนาฮาร์ดแวร์เพื่อเชื่อมต่อกับ Android ได้อย่างอิสระนี่เป็นครั้งแรกๆ ที่โทรศัพท์มือถือที่มักถูกจำกัดความสามารถไว้อย่างหนักเมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์ทั่วไป โดยเฉพาะการเชื่อมต่อกับฮาร์ดแวร์ จะสามารถเชื่อมต่อกับฮาร์ดแวร์ได้อย่างเต็มรูปแบบ
กูเกิลเปิดตัว API รุ่นใหม่นี้ (ชื่อไลบรารีจริงคือ android.hardware.usb) พร้อมกับชุดพัฒนาฮาร์ดแวร์พัฒนาต่อมาจาก บอร์ด Arduino ที่ผลิตโดยบริษัทในญี่ปุ่นที่ชื่อว่า RT Corportation มีชื่อบอร์ดว่า RT-ADK โดยฮาร์ดแวร์นี้สามารถ จะมีเซ็นเซอร์มาให้ชุดหนึ่งพร้อมกับไมโครคอนโทรลเลอร์ ATMega2560 มาในตัว ราคาฮาร์ดแวร์ชุดละ 31,500 เยน หรือ 12,000 บาท
ถ้าใครกำลังหาไอเดียทำโปรเจคด้วยชุด ADK นี้ควรระวังไว้ก่อนสองเรื่องคือ บอร์ด ADK นั้นจะเชื่อมต่อกับโทรศัพท์ Android ในแบบ Host mode เท่านั้น นั่นคือนอกจากอุปกรณ์เสริมจะไม่สามารถใช้ไฟฟ้าจากตัวโทรศัพท์ Android ได้แล้ว มันยังต้องสามารถจ่ายไฟอย่างน้อย 500mA ที่ 5V กลับเข้าสู่ตัวโทรศัพท์ Android เองอีกด้วย ดังนั้นอุปกรณ์เสริมทั้งหมด ต้องมีแบตเตอรี่หรือสามารถจ่ายไฟได้ในตัว เรื่องนี้เป็นเรื่องน่าแปลกใจเพราะโทรศัพท์จำนวนมากทุกวันนี้รองรับ USB OTG ซึ่งสามารถจ่ายไฟออกจากช่อง USB ได้แทบทั้งสิ้น แต่คาดว่ากูเกิลน่าจะไม่รองรับฟีเจอร์ในส่วนนี้เพื่อตัดปัญหาความเข้ากันได้ระหว่างฮาร์ดแวร์ออกไป
ข้อดีของบอร์ด ADK ที่วางขายนี้คือมันเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ของเราได้ด้วยเพื่อใช้พัฒนาบน Android SDK ได้ตามปรกติ
กูเกิลสัญญาว่าชุด ADK รุ่นต่อๆ ไปจะมีความสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์เสริมผ่าน Bluetooth ได้อีกด้วย โดยชุด ADK มีขายแล้ว และรองรับอุปกรณ์ Android รุ่น 2.3.4 และ 3.1 ขึ้นไป
นอกจาก ADK ซึ่งรองรับทั้งโทรศัพท์และแท็บเล็ตแล้ว กูเกิลยังเปิดตัว USB Framework สำหรับ Android 3.1 คำอธิบายที่ง่ายที่สุดสำหรับ USB Framework คือ Android จะอนุญาตให้ผู้ผลิตทำอะไรกับ USB ก็ได้ โดยอาศัยการเขียนแอพลิเคชั่นขึ้นมารองรับอุปกรณ์แต่ละชิ้นตาม vendor id และ device id เมื่ออุปกรณ์ USB ถูกเสียบเข้ามาตัว Android ก็จะไปเรียกแอพลิเคชั่นที่รอรับให้
โครงการที่มาพร้อมกับ ADK คือโครงการ มันเป็นการเตรียมการเปิดตัวโปรโตคอลใหม่ ที่จะอนุญาตให้อุปกรณ์ในบ้านทุกชิ้นเชื่อมต่อกับกลุ่มเมฆของกูเกิล (รูปแบบเดียวกับ CloudPrint) โดยตัวโครงการนี้ดูจะไม่ใช่โครงการที่เกียวกับ Android เสียทีเดียว แต่จะทำให้ Android กลายเป็นอุปกรณ์หลักที่สามารถควบคุมทุกอย่างในบ้านได้อย่างสมบูรณ์ หากเราใช้อุปกรณ์ที่เข้ากับโปรโตคอลนี้ทั้งหมด
กูเกิลสาธิตด้วยการเปิดไฟ ผ่านโทรศัพท์, การเล่นเพลงจากโทรศัพท์ พร้อมความสามารถในการ "ย้าย" ลำโพงที่กำลังเล่นเพลงไปตามที่ๆ เราเดินไป, และเครื่องเสียงที่อ่าน NFC ได้แล้วดูดเพลงลงมาจากกลุ่มเมฆของกูเกิลมาเล่นเพลงได้เอง
กูเกิลสัญญาว่าจะมีสินค้าในโครงการนี้เริ่มวางขายช่วงสิ้นปี ทำให้คาดได้ว่าตัวโปรโตคอลน่าจะเปิดมาช่วงเวลาใกล้ๆ กัน และสัญญาว่าเมื่อโปรโตคอลเปิดตัวแล้วนักพัฒนาจะสามารถเข้าไปพัฒนาได้
ทิศทางของกูเกิลที่เปิดตัวมาครั้งนี้มีความชัดเจนว่ากูเกิลกำลังพยายามบุก "ทุกส่วน" ของบ้าน ด้วยการเปิดรับฮาร์ดแวร์ที่หลากหลายขึ้นเรื่อยๆ ในครึ่งปีหลังจากนี้คงได้เวลาที่เราจะมาดูกันว่าบ้านเราจะเต็มไปด้วยอุปกรณ์ที่ต่อกับกูเกิลหรือไม่
ที่มา - Android Developer