ทิศทางที่เริ่มแจ่มชัดของ Android และ Chrome OS

by mk
16 May 2011 - 11:56

นับตั้งแต่กูเกิลเปิดตัว Chrome OS เป็นต้นมา ก็เกิดคำถามขึ้นมาตลอดว่ามันต่างจาก Android อย่างไรในแง่เป้าหมายทางการตลาด ซึ่งคำตอบจากกูเกิลเองก็คลุมเครือมาโดยตลอดเช่นกัน

แต่ในงาน Google I/O 2011 ครั้งล่าสุด สิ่งที่กูเกิลแถลงทั้งเรื่อง Android และ Chrome OS ก็เริ่มชัดเจนมากขึ้นว่าเป้าหมายจะเหมือน-ต่างอย่างไร

คำตอบนั้นอาจอธิบายสั้นๆ ว่า

  • Chrome OS จับตลาดพีซีเดิม ด้วยแนวคิดใหม่ (Reinvent PC)
  • ส่วน Android จะจับตลาดเกิดใหม่ที่ไปไกลกว่าพีซี (Beyond PC)

Chrome OS กับตลาดพีซีองค์กร

แผนเปิดตัว Chrome OS, Chromebook และ Chromebooks for business นั้นชัดเจนว่า กูเกิลเล็งตลาดไอทีองค์กร (enterprise IT) ซึ่งฝั่งไคลเอนต์นั้น ถูกครอบครองโดย "พันธมิตรวินเทล" คือพีซีแบบดั้งเดิมจาก Dell/HP/Acer/Lenovo ที่ใช้หน่วยประมวลผลจากอินเทล ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ของไมโครซอฟท์ และติดตั้งชุดออฟฟิศของไมโครซอฟท์

ในรอบสิบปีหลัง พีซีองค์กรนั้นกลายสภาพจากพีซีเดี่ยวๆ ที่ใช้พิมพ์งานเอกสารหรือทำงานเฉพาะทางเป็น workstation กลายมาเป็นพีซีที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายในสำนักงาน มีการแลกเปลี่ยนไฟล์ ส่งอีเมล พูดคุยสนทนากันภายในองค์กร

ส่วนแอพพลิเคชันขององค์กรก็เริ่มกลายร่างจากแนวคิด client-server มาเป็นเว็บแอพพลิเคชันมากขึ้น

จากเดิมที่กิจกรรมที่เกิดขึ้นบนพีซีองค์กร ทำในระดับ native application อยู่ที่ 60-70% ก็เปลี่ยนมาเป็น 80-90% อยู่บนเว็บเบราว์เซอร์แทน (ส่วนที่เหลือก็คือซอฟต์แวร์ใหญ่ๆ อย่างเช่น Microsoft Office หรือ Photoshop เท่านั้น)

กูเกิลจึงจับจุดนี้มาสร้างเป็นตลาดใหม่ ก็คือ พีซีองค์กรที่เล่นเน็ตได้อย่างเดียว (ครอบคลุมงาน 80-90%) และมีจุดขายที่การบริหารจัดการที่ซับซ้อนน้อยกว่าพีซี ไม่ต้องลงแอนตี้ไวรัส ไม่ต้องอัพเดตซอฟต์แวร์ ไม่ต้องแบ็คอัพระบบ ฯลฯ

กลุ่มองค์กรที่งานเกือบทั้งหมดอยู่บนอินทราเน็ตภายในแล้ว ถือเป็นเป้าหมายหลักของกูเกิลและ Chromebook (นอกจากนี้กูเกิลยังมีมาตรการอื่นๆ มาจับตลาดนี้ เช่น อนุญาตให้รันแอพแบบเดิมผ่าน Citrix/VMware ที่ไปออกจอเบราว์เซอร์)

ตลาดพีซีองค์กรเคยเป็น "ขุมทอง" ของไมโครซอฟท์ที่สร้างรายได้มหาศาล กูเกิลซึ่งเจาะตลาด "ซับเซ็ต" อันหนึ่งของพีซีองค์กร (แต่เป็นซับเซ็ตที่ใหญ่พอตัว) ด้วยโมเดลการจัดการพีซีแบบใหม่ จึงมีโอกาสสูงที่จะเจาะตะลุยในสมรภูมินี้

องค์กรสามารถเลือกได้ทั้งโมเดลการซื้อขาดเครื่อง Chromebook หรือจะเข้าโครงการ Chromebooks for Business ที่เปรียบเสมือนการเช่า/เช่าซื้อเครื่องก็ได้เช่นกัน โมเดลหลังอาจทำเงินให้กูเกิลมากกว่า แต่โมเดลแรกกูเกิลก็ไม่มีปัญหาอันใดเพราะทำรายได้จากโฆษณาได้อยู่ดี นอกจากนี้ยังทำรายได้อีกต่อผ่านบริการออนไลน์อย่าง Google Apps ด้วย

น่าสนใจว่าการเจาะตลาดพีซีองค์กรของ Chromebook จะไปได้ไกลแค่ไหน และยุทธศาสตร์ Reinvent PC (ผมตั้งชื่อเอง) จะส่งผลสะเทือนต่อไมโครซอฟท์เพียงไร (ส่วนผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ก็ขายเครื่องได้อยู่ดีไม่ว่าพีซีหรือ Chromebook)

หมายเหตุ: ผมเขียนเรื่อง Chrome OS แบบยาวหน่อย (แต่ใจความเดียวกัน) ไว้ที่ กูเกิลเปิดตัว Chromebook หวังเจาะตลาดพีซีองค์กรของไมโครซอฟท์ เผื่อจะมีคนสนใจอ่าน

Android จับตลาดเกิดใหม่ที่ไกลออกไป

ผู้ที่ติดตามงาน Google I/O อาจผิดหวังกับของใหม่ๆ ของ Android ที่คาดกันว่าจะมาสู้กับ iOS ของแอปเปิลได้อย่างสูสี เพราะนอกจาก Android 3.1 ซึ่งเป็นการอัพเล็ก และข้อมูลว่า Ice Cream Sandwich จะออกปลายปี ก็ไม่มีอะไรใหม่เลย ทั้งทำให้สถานการณ์ของตลาดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต Android ตาม iOS อย่างไร ก็ยังตามอยู่แบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

แต่หัวใจสำคัญของประกาศบน Google I/O กลับไม่ใช่สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต แต่เป็น "สิ่งที่อยู่ไกลเกินไปกว่านั้น"

ทั้ง Android และ iOS (รวมถึงระบบปฏิบัติการอื่นๆ อย่าง webOS, MeeGo หรือ Windows Phone ด้วย) เป็นระบบปฏิบัติการที่สร้างขึ้นมาเพื่ออุปกรณ์ที่เราเรียกว่า smart devices ซึ่งก็หมายถึงอุปกรณ์ทุกแบบที่ไม่ใช่พีซี (ถ้าเอาคำของสตีฟ จ็อบส์ ก็เรียกว่า Post-PC Era)

อุปกรณ์เหล่านี้ได้แก่

  • สมาร์ทโฟน
  • แท็บเล็ต
  • ทีวี
  • เครื่องเกม
  • โทรศัพท์บ้านแบบสมาร์ทๆ มีจอทำโน่นนี่ได้
  • คอนโซลรถยนต์
  • ฯลฯ

ที่ผ่านมาเราเห็นการสู้รบกันอย่างหนักในตลาดสมาร์ทโฟนเมื่อ 2-3 ปีก่อน และแท็บเล็ตในรอบ 1-2 ปีนี้ ส่วนของทีวีเริ่มแพลมๆ มาให้เห็นจาก Google TV/Apple TV (ซึ่งยังแป๊กทั้งคู่) และรถยนต์ที่เริ่มมีข่าว แต่ยังไม่มีของจริงออกมาให้เห็นมากนัก

โครงการ Android Open Accessory Development Kit (ADK) และ Android@Home จึงเป็นความพยายามของกูเกิลที่จะไปให้ไกลกว่านั้น เดโมที่เราเห็นในเวที Google I/O คือหลอดไฟ จักรยานออกกำลังกาย เครื่องเสียง ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ก็คืออุปกรณ์สารพัดชนิดเท่าที่เราจะมีปัญญานึกออก มันเป็นโลกใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยไปถึง และเป็นโลกที่ต่างออกไปจากพีซีแบบดั้งเดิมที่เราคุ้นเคย (Beyond PC)

เราอาจสรุปได้ว่า Android จะชนะ iOS ในตลาดมือถือหรือแท็บเล็ตได้หรือเปล่า กูเกิลอาจไม่สนใจ เพราะสิ่งที่กูเกิลสนใจก็คือ "Android ทุกหนทุกแห่ง" ตั้งแต่หลอดไฟไปจนถึงยานอวกาศนั่นเอง

สรุป

สิ่งที่กูเกิลกำลังทำอยู่คือการเลี่ยงหลบฉาก ไม่ปะทะกับคู่แข่งในสมรภูมิที่เป็นรอง เช่น ชนกับวินโดวส์ในตลาดคอนซูเมอร์พีซีที่สู้ยังไงก็แพ้ (ดูลินุกซ์และแมคเป็นตัวอย่าง) แต่พยายามสร้างตลาดเฉพาะของตัวเองหรือตลาดเกิดใหม่ขึ้นมาแทน

Chrome OS เป็นความพยายามในการ "ลัดกระบวนการ" ของพีซี ตั้งแต่ BIOS ไปจนถึงเดสก์ท็อป ซึ่งเป็นอาณาจักรของไมโครซอฟท์มาช้านาน จะเห็นว่ากดปุ่มเปิดเครื่องปั๊บ Chrome OS จะพาเราลัดกระบวนการบูตทั้งหมดมายังหน้าของเบราว์เซอร์แทน

ส่วน Android ถึงแม้สภาพตลาดที่เห็นจะถูกวางให้เป็นคู่กัดกับแอปเปิลและ iOS ในตลาดอุปกรณ์พกพา แต่ประกาศรอบล่าสุดเรื่อง ADK และ Android@Home ก็ทำให้เราเห็นว่า กูเกิลคิดไปไกลกว่านั้นมาก และน่าสนใจว่าแอปเปิล (รวมถึงคู่แข่งอื่นๆ) จะมีตอบโต้กับยุทธศาสตร์ "Android ทุกหนทุกแห่ง" ได้อย่างไร

ผมขอยกบทความเก่า The New Dawn of Computing มาอีกรอบว่า ยุคสมัยใหม่มันเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้นเอง

Blognone Jobs Premium