เห็นอะไรใน Mango

by mk
25 May 2011 - 08:26

ตอนงาน Google I/O ผมเขียนเรื่อง ทิศทางที่เริ่มแจ่มชัดของ Android และ Chrome OS ไปแล้ว คราวนี้งานแถลงข่าว Windows Phone Mango ก็อยากเขียนบทความลักษณะเดียวกันสักหน่อย

เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้น อาจจะต้องย้อนไปอ่าน Windows Phone 7: ก้าวที่ไม่หวือหวา แต่เป็นก้าวที่สำคัญของไมโครซอฟท์ ซึ่งเขียนเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่ Windows Phone 7 เปิดตัวอย่างเป็นทางการ

ผมมีประเด็นที่อยากนำเสนอ 4 ข้อ

1) พัฒนาการของ Windows Phone

ถึงแม้ไมโครซอฟท์จะโฆษณาว่า Windows Phone "Mango" จะมีฟีเจอร์เพิ่มขึ้นถึง 500 อย่าง แต่สังเกตว่าไม่มีฟีเจอร์ใหญ่มากนัก (ใหญ่สุดน่าจะเป็น IE9) ซึ่งเป็นทิศทางที่ถูกต้องแล้ว

ตามที่เขียนไว้ในบทความชิ้นก่อน Windows Phone 7 ถือเป็นการ "รีเซ็ต" ตัวเองของแพลตฟอร์ม Windows บนอุปกรณ์พกพา ซึ่งไมโครซอฟท์เองก็ทำการบ้านมาดี มีแนวทางการออกแบบที่ล้ำสมัยหลายอย่าง ตัวแกนหลักของแพลตฟอร์มเปิดตัวมาได้น่าสนใจ

แต่ฟีเจอร์รายละเอียดปลีกย่อยที่ยังทำไม่ทัน ก็ทำให้ WP7 ลดความน่าสนใจลงไปเยอะในช่วงแรก เช่น มัลติทาสกิง, ความเร็วการตอบสนอง, การเชื่อมต่อกับ Twitter ฯลฯ

ไมโครซอฟท์ใช้เวลา 7 เดือนนับจาก WP7 รุ่นแรกมาถึง Mango ผ่านช่วงเวลาขลุกขลักพอสมควรกับ NoDo แต่พอมาถึง Mango ก็แก้ปัญหาปลีกย่อยไปแล้วหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง API, อัพเกรดเบราว์เซอร์, ปรับปรุงเครื่องมือพัฒนา ฯลฯ

แน่นอนว่า Mango ยังขาดฟีเจอร์สำคัญๆ อีกหลายอย่างที่คู่แข่งอย่าง iPhone/Android มี แต่นั่นก็เป็นเพราะคู่แข่งล้ำหน้ามาในตลาดก่อนหลายปี ถ้ายังจำกันได้ 7 เดือนแรกหลัง iPhone/Android รุ่นแรกออก ตัวระบบปฏิบัติการยังด้อยกว่า WP7 ในเวลา 7 เดือนอยู่เยอะ (แต่ก็แน่นอนว่าสภาพตลาดก็ต่างกันเยอะ)

ไมโครซอฟท์ยังฉลาดที่ประกาศอัพเกรด Mango ให้ฟรีกับมือถือ WP7 ทุกเครื่อง ช่วยรักษาความภักดีของแฟนๆ รุ่นแรกที่ช่วยสนับสนุนแพลตฟอร์มตลอดมา

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการขยายตลาดของ Windows Phone Marketplace ซึ่งขยายจากยุโรปตะวันตก+สหรัฐ มาครอบคลุมยุโรปตอนกลาง เอเชียตะวันออก และอเมริกาใต้บางประเทศแล้ว ด้วยอัตราการขยายตัวแบบนี้ก็น่าจะครอบคลุมประเทศเศรษฐกิจสำคัญของโลกได้ในไม่อีกปี

สรุปก็คือไมโครซอฟท์ใช้เวลาค่อนข้างดีในการพัฒนา Windows Phone ให้เติบโตและเข้มแข็งมากขึ้น (ถ้าไม่ไปทำเสียเรื่อง NoDo ให้แฟนๆ เซ็งจะดีกว่านี้) ถ้าให้เวลาไมโครซอฟท์อีกสัก 1 ปีก็น่าจะต่อกรกับคู่แข่งได้สมน้ำสมเนื้อมากขึ้น

2) แอพ

ตัวเลขจำนวนแอพใน Windows Phone Marketplace ที่ไมโครซอฟท์ประกาศเมื่อวานคือ 18,000 แอพ (ภาพจาก Engadget)

ตัวเลขนี้เทียบไม่ได้เลยกับ 500,000 แอพของ iTunes App Store แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าไมโครซอฟท์ดึงผู้พัฒนาแอพรายสำคัญๆ ที่ผู้ใช้มักจะถามหามาได้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น Flickr, Facebook, Twitter, Netflix, LinkedIn, Groupon, YouTube, Angry Birds รวมถึงแบรนด์ใหญ่ๆ อย่าง British Airways ที่โชว์ในงานแถลงข่าวเมื่อวานนี้

ส่วนฐานผู้พัฒนาเกมก็มีจาก Xbox บางส่วน และผู้พัฒนาเกมบนมือถือรายใหญ่ทั้ง GameLoft, EA มากันพร้อมหน้า

ผู้ใช้ Android สมัยแรกๆ น่าจะพอระลึกได้ว่าช่วงแรกนั้น Android Market แทบไม่มีแอพจากเจ้าของแบรนด์รายใหญ่ทำเองเลย ต้องรอจนกระทั่ง Android จุดติด แบรนด์ทั้งหลายถึงแห่มาพัฒนาแอพของตัวเองกันในตอนหลัง

ไมโครซอฟท์ไม่ซ้ำรอยความผิดพลาดนี้ และเข้าไปเจรจากับผู้พัฒนาแอพล่วงหน้า ซึ่งยุทธศาสตร์นี้ทำให้จำนวนแอพใน Windows Phone Marketplace ที่น้อยกว่าคู่แข่งไม่ใช่ปัญหาใหญ่เท่าไรนัก เพราะผู้ใช้เองก็มีแอพที่จำเป็นครบถ้วนในเบื้องต้น

3) ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ที่เพิ่มเข้ามา

ชัยชนะเล็กๆ ของ Windows Phone เมื่อวานนี้คือผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ที่เข้ามาร่วมวงอีก 3 ราย ได้แก่ Acer, Fujitsu และ ZTE

เมื่อรวมกับผู้ผลิตรายเดิมคือ Samsung, LG, HTC ก็ได้ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์รายใหญ่ของโลกมาเกือบครบแล้ว (ขาดแต่ Sony Ericsson, Motorola, Huawei) และที่สำคัญอย่าเพิ่งลืมยักษ์ใหญ่อย่าง Nokia ที่ประกาศเข้ามาเป็นพันธมิตรตั้งแต่ต้นปี

ด้วยโมเมนตัมระดับนี้ คงทำให้ Windows Phone มีพันธมิตรฮาร์ดแวร์ไม่ด้อยไปกว่า Android เท่าไรนัก และน่าจะช่วยให้ Windows Phone เดินหน้าต่อไปในยุทธภูมิมือถือได้อย่างมั่นคงแล้ว

ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์เหล่านี้มีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งคือ "กลัวกูเกิลมีอำนาจต่อรองมากเกินไป" ซึ่งก็ทำอะไรไม่ได้เพราะไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่า Android

แต่เมื่อ Windows Phone เริ่มแสดงให้เห็นศักยภาพของตัวมันเอง ก็ไม่น่าแปลกใจอะไรที่ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์เหล่านี้เข้าร่วมเพื่อ "คานอำนาจกูเกิล" และทำให้ไมโครซอฟท์มีอำนาจต่อรองมากขึ้น

4) โมเดลธุรกิจของ Windows Phone

สิ่งที่ไมโครซอฟท์ยังไม่พูดชัดเจนในตอนนี้คือ ไมโครซอฟท์จะหาเงินจาก Windows Phone ได้อย่างไร

จริงอยู่ที่ไมโครซอฟท์คิดราคาค่าใช้งาน Windows Phone จากผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ แต่รายได้จากตรงนี้คงไม่เยอะนัก เพราะผู้ผลิตฮาร์ดแวร์จะถูกบีบด้วยการแข่งขันในสงครามมือถือที่ดุมาก และคู่แข่งอย่าง Android ที่ลดราคาจนเหมือนให้เปล่า

ยุทธศาสตร์การหาเงินของคู่แข่งไมโครซอฟท์นั้นชัดเจน แอปเปิลและ RIM ทำเงินจากการขายเครื่อง (ตรงไปตรงมา) ในขณะที่กูเกิลก็มาแบบพิสดารที่ทำเงินจากโฆษณาและบริการเสริมอื่นๆ

แต่ไมโครซอฟท์เองไม่ได้ทำฮาร์ดแวร์ และบริการออนไลน์ของไมโครซอฟท์ก็ยังไม่โดดเด่นเท่ากับกูเกิล จึงน่าสนใจว่าไมโครซอฟท์จะทำเงินจาก Windows Phone ในระยะยาวได้อย่างไร (แม้ว่าไมโครซอฟท์จะมีเงินถุงเงินถังในมือเหลือเฟือ พอที่จะยอมขาดทุนกับ Windows Phone ได้อีกหลายปี แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องมีโมเดลการสร้างรายได้อยู่ดี)

Blognone Jobs Premium