จดหมายเปิดผนึกถึงแบรนด์ บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ และบริษัท PR ที่อยากโปรโมทผ่านเน็ต

by mk
26 May 2011 - 14:19

ในฐานะผู้ดูแลเว็บ Blognone ผมก็ได้รับการติดต่อจากบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ด้านไอที (รวมถึงบริษัท PR ที่ดูแลการประชาสัมพันธ์ให้บริษัทเหล่านี้) ให้ไปร่วมงานแถลงข่าว/เปิดตัวผลิตภัณฑ์/สัมมนา/Blogger Day อยู่เรื่อยๆ ดังที่ผู้อ่าน Blognone ได้เห็นมาตลอด ทั้งหมดนี่ไปฟรีนะครับไม่มีการจ้างแต่อย่างใด (ถ้ามีจะโพสต์บอกว่าเป็น advertorial/sponsored ดู นโยบายการรับโฆษณา ประกอบ)

งานต่างๆ ที่ไปร่วมก็มีทั้งดีและไม่ดีปะปนกันไปครับ มีบริษัทที่จัดงานได้เยี่ยมๆ อย่างไม่น่าเชื่อ และบริษัทที่ห่วยจนเกิดคำถามว่ามาอยู่ในวงการนี้ได้อย่างไร วันนี้ผมคิดว่าได้เวลาแล้วที่จะบอกผู้จัดงานเหล่านี้ว่าบล็อกเกอร์อย่างเราๆ ต้องการอะไรบ้าง

เกริ่น

ก่อนเข้าเรื่องขอเล่าถึงเหตุการณ์ต้นเรื่องก่อน

วันนี้ผมได้รับการติดต่อจาก PR ของบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์รายใหญ่แห่งหนึ่ง (ขอไม่เอ่ยชื่อ) ให้ไปร่วม "งานแถลงข่าวเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่" ในสัปดาห์หน้า โดยไม่บอกว่าเปิดตัวอะไร

จริงๆ ผมได้รับเมลเชิญไปร่วมงานก่อนแล้ว ซึ่งในเมลก็ไม่บอกรายละเอียดของผลิตภัณฑ์เช่นกัน และผมก็ไปหาข้อมูลเพิ่มเองจนรู้ว่าจะเปิดตัวอะไรกันแน่ (ซึ่งก็หาได้ง่ายมาก โพสต์กันใน Twitter กันเปิดเผย)

เมื่อถาม PR ที่โทรมาว่าตกลงเป็นงานอะไรกันแน่ ก็ได้รับคำตอบว่า "บอกไม่ได้จริงๆ ว่าเป็นอะไร"

ผมเลยบอกไปว่ามีงานประจำต้องทำ และไม่สามารถไปร่วมงานแถลงข่าวที่บอกไม่ได้ว่าจะแถลงอะไร เพราะไม่คุ้มค่าเสียเวลา

เหตุการณ์นี้บอกอะไรเรา? มันบอกว่าบุคคลากรที่อยู่ในวงการ PR (โดยเฉพาะ PR สายไอซีที) จำนวนไม่น้อยยังขาดความเข้าใจโลกออนไลน์ ชุมชนออนไลน์ บล็อกเกอร์และสื่อใหม่ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นหลักอยู่มาก อันนี้ไม่ว่ากันครับเพราะคนเราก็มีเรื่องที่ไม่รู้กันได้

และผมจะบอกให้ในโพสต์นี้ว่า บล็อกเกอร์และคนออนไลน์อยากได้อะไรจากบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ และ PR ที่ทำงานประชาสัมพันธ์ให้บริษัทเหล่านี้

บล็อกเกอร์ต้องการอะไรจากงานแถลงข่าว

หมายเหตุ: คุณ @fordantitrust หนึ่งในสมาชิกของเราเพิ่งเขียนบล็อกถึงเรื่องนี้ รวบรวมรายละเอียดไว้ดีพอสมควร ดังนั้นขอยืมบางอย่างมาเขียนถึงซ้ำ รายละเอียดอ่านกันเองใน เชิญ Blogger ไปงาน Press

อย่างแรกที่สำคัญที่สุด คนทำ PR ต้องจดจำไว้ในใจอย่างลึกซึ้งว่า บล็อกเกอร์ไม่ใช่นักข่าว จะเอาตรรกะหรือธรรมเนียมปฏิบัติแบบเดียวกันมาใช้ มันเป็นไปไม่ได้

บล็อกเกอร์และสื่อออนไลน์เกือบทั้งหมดไม่ได้ทำเว็บเป็นงานหลัก มีงานประจำอย่างอื่น และทำเว็บเป็นงานที่รัก ตรงข้ามกับนักข่าวที่ถูกจ้างมาให้ตามหาข่าวเต็มเวลา ดังนั้นบล็อกเกอร์จะมีข้อจำกัดมากมายในการเข้าร่วมงานแถลงข่าว/มีตติ้ง

สถานที่-เวลาในการจัดงาน

ถ้าบริษัทหรือ PR อยากจัดงานแถลงข่าวใดๆ ควรคำนึงถึงสถานที่-เวลาดังนี้

  • วันธรรมดาตอนกลางวันที่พนักงานบริษัทต้องเข้าออฟฟิศ เลี่ยงได้จงเลี่ยง ไม่มีบล็อกเกอร์คนไหนอยากลางานเพื่อไปงานแถลงข่าวแน่ๆ
  • ดังนั้นถ้าต้องจัดงานที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นบล็อกเกอร์และคนออนไลน์ ควรจัดตอนเย็นวันธรรมดาหรือวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ผมเข้าใจดีว่า PR ไม่อยากจัดงานในช่วงเวลาเหล่านี้เพราะอยู่นอกเวลางานปกติ แต่นั่นเป็นปัญหาของ PR ไม่ใช่ปัญหาของบล็อกเกอร์
  • ถ้าจัดงานเย็นวันธรรมดา ควรเผื่อเวลาเลิกงานและเดินทางด้วย เวลาที่เหมาะสมควรเป็น 19.00 เป็นต้นไป
  • ถ้าจัดงานวันหยุดสุดสัปดาห์ การเลือกวันก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป วันเสาร์อาจมีบล็อกเกอร์บางคนทำงาน ในขณะที่วันอาทิตย์บางคนก็อยากพักผ่อนไม่ไปไหน อันนี้ไม่มีหลักการตายตัว เลือกเองตามกลุ่มเป้าหมายของท่าน ส่วนเวลาก็เป็นหลังเที่ยงเป็นต้นไปเพราะไม่มีใครอยากตื่นเช้าวันหยุดแน่ๆ
  • สถานที่จัดงาน ควรอยู่ในแนวรถไฟฟ้า-รถใต้ดินเท่านั้น เพื่อให้เดินทางสะดวก โดยเฉพาะตอนเย็นวันธรรมดา
  • สถานที่ที่ผมไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมชอบจัดกันคือ ร้านอาหาร-ผับในซอยทองหล่อ-เอกมัย (สงสัยจัดแล้วภาพมันดีมั้ง) เพราะเดินทางยาก BTS เข้าไม่ถึง และรถติด เลี่ยงได้ควรเลี่ยง
  • สถานที่ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงแรมหรู ความหรูมีค่าน้อยกว่าความสะดวกสบายในการเดินทางหลายเท่า

หัวข้อ-เนื้อหาของงาน

  • ข้อแรกสำคัญที่สุด ถ้าหัวข้อมันไม่น่าสนใจจริงๆ ก็อย่าจัดเสียเลยดีกว่าครับ ไม่มีใครอยากไปงานที่ไม่มีประโยชน์ เสียทั้งเวลาและเงินทอง กลับมาโดยที่ไม่ได้อะไรหรอกครับ
  • จงพึงระลึกไว้ว่า ประเทศไทยไม่เคยเป็นประเทศแรกที่เปิดตัวผลิตภัณฑ์ไอที (ยกเว้นคุณจะเป็นแบรนด์ไทยอย่าง Wellcom หรือ Spring) ดังนั้นอย่าทำตัวตื่นเต้นประมาณว่ามันเป็นผลิตภัณฑ์สุดยอดที่ไม่มีใครรู้จักหรือเคยได้ยินมาก่อน ผลิตภัณฑ์ 99% ที่ PR ต้องโปรโมทและประชาสัมพันธ์เนี่ย บล็อกเกอร์เขารู้ข่าวมาก่อนคุณแล้ว 3 เดือน 6 เดือนทั้งนั้น
  • ถ้าเป็นการแถลงข่าวผลประกอบการ ยุทธศาสตร์ประจำไตรมาส รายงานภาพรวมของวงการใดๆ ไม่ต้องจัดแถลงข่าวให้บล็อกเกอร์เพราะไม่มีใครสนใจ (และอย่าเอามารวมในงานแถลงข่าวอื่นๆ สำหรับบล็อกเกอร์ด้วย)
  • ถ้าเป็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ ก็ควรเตรียมตัวผลิตภัณฑ์ไว้ให้ทดลองเล่น ทดลองจับ ด้วยจำนวนที่มากพอสำหรับผู้ร่วมงานด้วย ไม่ใช่เชิญมา 50 คนมีของให้เล่น 2 ตัว
  • สิ่งที่บล็อกเกอร์อยากรู้เมื่อไปร่วมงานมี 3 อย่างคือ มีของให้ลองจับ, ราคาเท่าไร, ขายเมื่อไร ดังนั้นถ้าจะแถลงข่าวควรมีข้อมูลเหล่านี้ให้พร้อม (มีครบ 3 อย่างจะเพอร์เฟ็คต์) งานที่บอกว่าจะเอาผลิตภัณฑ์นี้เข้ามาขาย ไม่มีของให้ลอง ไม่บอกว่าเมื่อไรเท่าไร แบบนี้ไม่ต้องจัดครับ
  • ถ้าไม่มีประเด็นอะไรเด่นๆ ที่ต้องแถลงหรือจัดงาน แต่โดนบีบมาจากนายจ้างหรือ KPI ของงาน ให้อีเมลมาคุยกับผม แล้วผมจะเมลไปคุยกับนายจ้างของคุณให้อย่างดีและไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ กรุณาอย่าจัดงานที่ไม่มีประเด็นแล้วหลอกผมไปงานอีกเลย

รูปแบบการจัดงาน

  • สำคัญที่สุดอีกเช่นกัน กรุณาตรงต่อเวลา เริ่มงานตามเวลาที่ประกาศเอาไว้ อย่างที่บอกไปแล้วว่าบล็อกเกอร์ไม่ใช่นักข่าวอาชีพ ไม่มีเวลามานั่งรองานแถลงข่าวที่ไม่รู้จะเริ่มเมื่อไร
  • พิธีการไม่ต้องมาก ไม่ต้องมีโชว์ประกอบเพลงก่อนเริ่มงาน (ผมเคยเจอมาแล้ว) เข้าประเด็นให้เร็ว กระชับอย่าเวิ่นเว้อ ไม่ต้องโม้โชว์คุณสมบัติมาก เพราะบล็อกเกอร์ที่เข้าร่วมงานรู้หมดแล้วว่ามันทำอะไรได้บ้าง พูดประเด็นหลักๆ ให้ครบแล้วแจกของจริงให้ลองจับดีกว่า
  • ระดมคนที่มีความรู้ทางเทคนิคขององค์กรมาร่วมงานให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร เทคนิคเชียน ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ ฯลฯ สิ่งที่บล็อกเกอร์ต้องการคือคนเทคนิคที่ตอบคำถามทางเทคนิคได้ ส่วนคนสาย PR ที่ถามว่า USB เวอร์ชันอะไรแล้วทำหน้างงก็ไม่ต้องเอามาเยอะมาก ต้อนรับหน้างานนิดหน่อยก็พอ
  • แนวทางการจัดงานสำหรับบล็อกเกอร์ขอให้ง่ายๆ ตรงไปตรงมา เป็นกันเอง มีคนที่ให้ข้อมูลในเชิงลึกได้ แค่นี้ก็พอแล้ว
  • จงอย่าจัดงานที่มีทั้งเซเล็บและบล็อกเกอร์ (เพราะบล็อกเกอร์ไม่รู้จักและไม่สนใจเซเล็บ)
  • จงอย่าเชิญบล็อกเกอร์ไอที ไปงานเชิงไลฟ์สไตล์ (ผมเคยถูกบริษัทพรินเตอร์เจ้าหนึ่งเชิญไปงานวาดภาพบนเสื้อยืด)
  • พริตตี้ อันนี้ความเห็นของแต่ละคนคงต่างกัน สำหรับผมว่ามีก็เป็นสีสันบ้าง แต่ไม่มีก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร ถ้าคิดว่าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องมี เอาเวลามาเน้นในจุดที่ควรเน้นจะดีกว่า
  • งานเลี้ยง เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ เหล้ายาปลาปิ้ง การปิดผับฉลอง ฯลฯ ไม่ใช่สาระสำคัญ จะมีหรือไม่ก็แล้วแต่สะดวก บางคนอาจชอบงานแบบนี้ จะมีก็ได้ แต่ย้ำว่าไม่ใช่สาระสำคัญ

สิ่งอำนวยความสะดวกภายในงาน

  • Wi-Fi สำคัญมาก สิ่งที่บล็อกเกอร์มักจะทำในวันงานคือทวีต ทวีต ทวีต ดังนั้นถ้ามี Wi-Fi บริการ การทวีตจะทำได้ง่ายขึ้น ถ่ายรูปถ่ายวิดีโอลงทวีตได้ทันที ข่าวของบริษัทจะปรากฏผ่านสายตาของผู้ใช้ทวิตเตอร์หลักพัน (หรือมากกว่านั้น) ที่ติดตามบล็อกเกอร์เหล่านี้ เป็นการลงทุนเล็กๆ แต่ผลตอบรับกลับมาดี
  • อาหารการกิน ไม่จำเป็นต้องหรู ไม่จำเป็นต้องเป็นดินเนอร์ฟูลคอร์ส ขอแค่มีน้ำให้กินดับกระหาย อาหารหรือของว่างรองท้อง หยิบง่ายเสิร์ฟเร็ว มีปริมาณพอสำหรับแขก (งานบล็อกเกอร์หนึ่งที่ผมประทับใจมาก แจกโค้กกระป๋องกับพิซซ่าโทรสั่งเดี๋ยวนั้น)
  • ของแจก ของที่ระลึกต่างๆ ไม่ใช่สาระสำคัญ จะมีหรือไม่มีก็ได้ ถ้าอยากแจกก็ควรเลือกสิ่งที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ (อย่างผมไปงานเยอะๆ ได้ของแจกบางอย่างมาก็รกบ้านเหมือนกัน)
  • Press release ไม่ต้องแจกก็ได้ครับ เปลืองกระดาษเปล่าๆ เมลเอาก็ได้ ควรเอาเวลาพิมพ์เอกสารไประดมของมาให้ลอง ระดมคนที่รู้เรื่องมาให้ถาม จะคุ้มค่ากับเวลามากกว่า
  • ซีดีที่ใส่ข้อมูลในงาน ไม่ต้องแจกเช่นกันครับ คอมผมตอนนี้ไม่มี optical drive สำหรับอ่านแผ่นซีดีแล้ว และคนจำนวนมากก็คงเป็นแบบเดียวกัน ดังนั้นได้มาก็ปาทิ้ง เปลืองของเปล่าๆ

การแจ้งข่าวสารก่อน-หลังงาน

  • สถานที่จัดงานควรบอกพิกัดของ Google Maps ประกอบด้วย รวมถึงเว็บไซต์ของสถานที่ (ถ้ามี)
  • อีเมลไม่ต้องใส่รูปมาเยอะ โลโก้บริษัทไม่ต้องมี (หาดูบนเว็บก็ได้) เอาเฉพาะข้อความในประเด็นสำคัญๆ ที่สำคัญอย่าใส่มาเป็นไฟล์ Word เพราะมันเปิดยาก (ทำกันแทบทุกราย) โดยเฉพาะการเปิดบนมือถือ-แท็บเล็ต บล็อกเกอร์ไม่มีใครพิมพ์ข้อมูลลงกระดาษเพื่อดูว่างานที่ไหนเมื่อไร เขากดดูกันบนมือถือหมดแล้ว ส่งมาเป็นข้อความธรรมดาจืดๆ ในอีเมลนี่ล่ะครับ ดีที่สุดแล้ว
  • การแจ้งข่าวทางอีเมลเพียงพอแล้ว ถ้าอยากรู้ว่าแขกจะไปร่วมงานหรือไม่ก็ควรบอกในเมลให้ชัดว่าควรตอบกลับทางเมลก่อนวันที่เท่าไร ไม่ต้องโทรตามก็ได้เพราะถ้าเห็นแล้วว่าไม่ควรค่าแก่การไป โทรตามยังไงก็ไม่ไปอยู่ดี รบกวนกันเปล่าๆ
  • การปิดรายละเอียดของข่าวไว้เพื่อให้สื่อกระแสหลักนำไปลงสื่อของตัวเองก่อน (embargo) แล้วค่อยเอามาบอกบล็อกเกอร์ ไม่มีประโยชน์อะไร ควรกลับความคิดเสียใหม่ ผลิตภัณฑ์ลับสุดยอดที่ PR รักษาความลับไว้ยิ่งชีพ บล็อกเกอร์เขาดูวิดีโอ Will It Blend นำผลิตภัณฑ์พวกนี้ไปปั่นกันนานแล้ว เห็นไส้เห็นพุงหมดแล้ว (ก่อนเลือกปิดข้อมูลลับอะไร ควรไปเช็คว่า Engadget ลงข่าวเดียวกันนี้ไปหรือยังก่อน ผมเคยได้เมล press จาก PR ไทยรายหนึ่ง หลัง Engadget ลงข่าวไปประมาณสามเดือน เป็น press อันเดียวกันแถมแปลไทยไม่ได้เรื่องเลยด้วย)
  • ภาพถ่ายหลังงาน ไม่ต้องเมลมา เปลืองที่เก็บ (PR บางเจ้าเมลรูปเดิมมา 3 รอบ) เอาไปไว้บนเว็บบริษัทหรือเว็บฝากรูป แล้วส่งมาเป็น URL ดีกว่า
  • บล็อกเกอร์ส่วนมากไม่มี Fax สื่อสารอะไรควรทำผ่านอีเมลเท่านั้น
  • ข่าวประเภท "ก็อซซิป" ว่าบริษัทไหนจะขายอะไร ดาราคนไหนใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้ แบบนี้ไม่ต้องส่งมาครับ อันนี้ต้องเขียนถึงเพราะผมได้เมลแบบนี้เยอะมากจาก PR ของโอเปอเรเตอร์รายหนึ่ง ซึ่งผมรู้สึกว่ามันไม่มีความเป็นมืออาชีพมากๆ
  • การเขียน press ที่ใช้ถ้อยคำประเภท "ดีที่สุด" "สุดฮ็อต" "อินเทรนด์" "สุดชิค" "สุดฮิป" "ล้ำสมัย" "สุดเก๋" แบบนี้ไม่ต้องเขียนมาครับ ถ้าบริษัทไหนส่ง press แบบนี้มาอีก เดี๋ยวจะมาแปะประจานไว้หน้าแรกเป็นตัวอย่าง (บริษัทเดียวกับข้อที่แล้วนั่นแหละ)

สิ่งที่ไม่ควรทำเด็ดขาด

  • อย่าจ่ายเงิน แจกของ มอบผลประโยชน์ในทางลับแก่บล็อกเกอร์เพื่อให้เขียนเชียร์บนเว็บ ถ้าถูกจับได้ ภาพลักษณ์ขององค์กรจะเสียหายอย่างหนัก เคยมีกรณีมาแล้ว (โดยเฉพาะมือถือยี่ห้อหนึ่งที่ไม่รู้ว่าจ่ายหรือเปล่า แต่บล็อกเกอร์นำไปทำเสียใหญ่โต)
  • การปั่นแท็กเพื่อหวังการประชาสัมพันธ์ เคยมีกรณีคอนโดเจ้าหนึ่งพยายามโปรโมทให้คนใส่ hashtag ในทวิตเตอร์เพื่อชิงรางวัล ผลที่ได้คือกระแสตีกลับแอนตี้คอนโดเจ้านี้ โปรดจริงใจกับชาวเน็ต ถ้าผลิตภัณฑ์ของคุณดีจริง คนจะพูดถึงเองโดยธรรมชาติ ถ้าผลิตภัณฑ์ห่วยแล้วยังโปรโมทโอเวอร์ คนจะหมั่นไส้และสาบส่งแทน
  • การเขียนถึงผลิตภัณฑ์ย่อมมีข้อดีข้อเสีย ถ้าคิดจะโปรโมทผลิตภัณฑ์ผ่านอินเทอร์เน็ต ต้องยอมรับเสียงวิจารณ์ให้ได้ และจะให้ดี ฝ่าย PR ควรเข้ามาตอบหรือชี้แจงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา แบบนี้ผู้ใช้จะยอมรับได้ (เผลอๆ จะเชียร์โดยรู้ว่ามีข้อเสียด้วยซ้ำ) ผู้บริโภคเดี๋ยวนี้ฉลาดนะครับ ถ้าบล็อกหรือเว็บเขียนแต่ข้อดีอย่างเดียว ก็รู้กันหมดแล้วว่ารับงานมา
  • การจ้างคนมาโพสต์ข้อดีหรือข้อมูลของผลิตภัณฑ์เพื่อจุดกระแสเป็นเทคนิคชั้นเลว ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ คือสองโพสต์นี้
  • ผมไม่รู้หรอกว่าใครเป็นคนทำ แต่ทุกคนคงดูออกว่ารับงานมา และแบบนี้ก็เป็นผลเสียต่อเจ้าของผลิตภัณฑ์เอง ฝากเรื่องให้ซัมซุงประเทศไทยในฐานะเจ้าของผลิตภัณฑ์กลับไปดูแลทีมงานของตัวเองด้วยครับ

สรุปว่าจัดงานกับบล็อกเกอร์ขอให้จริงใจ ตรงไปตรงมา น้ำอย่าเยอะ มีของให้ลองจับ มีคนรู้จริงให้พูดคุย แค่นี้ก็ได้ใจบล็อกเกอร์แล้วครับ

สมาชิกท่านอื่นอาจเคยเจอปัญหา-กรณีที่แตกต่างออกไป ถ้าใครมีไอเดียเพิ่มเติมก็เสนอไว้ได้ในคอมเมนต์ครับ ผมรับรองว่าบริษัท PR ในเมืองไทยได้อ่านโพสต์นี้กันแน่ๆ (ดังนั้นเราต้องช่วยกันส่งต่อด้วย จริงไหม? เพื่อวงการ PR ในประเทศไทยที่พัฒนายิ่งๆ ขึ้น)

Blognone Jobs Premium