WWDC2011: OS X Lion, iOS5, iCloud ให้บริการฟรี, และ Music Match ให้บริการสแกนเพลงจากในเครื่อง

by lew
6 June 2011 - 20:24

หลังจากที่เราอ่านข่าวลือมาจำนวนมาก วันนี้ก็ถึงเวลาแถลงข่าวของงาน WWDC 2011 จริงๆ ในรอบนี้ข่าวหลุดจำนวนมากก็เป็นจริงแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Lion ใหม่, iOS5 ที่ปรับปรุง notification, และ iCloud ที่ช่วยซิงก์ข้อมูลข้ามอุปกรณ์

เราจะไล่ตามลำดับงานเปิดตัว

Mac OS X Lion

ระบบปฎิบัติการสำหรับเครื่องเดสก์ทอปและโน้ตบุ๊กรุ่นล่าสุดของ Mac มาพร้อมกับฟีเจอร์ใหม่ 10 ตัวหลัก และฟีเจอร์ย่อยอีกกว่า 250 ฟีเจอร์

Multi-Touch Gestures: การควบคุมต่างๆ จะใช้ทัชแพดมากขึ้น โดยสามารถสวิตซ์ระหว่างแอพลิเคชั่น หรือกลับไปที่หน้า Mission Control ได้จากทัชแพดอย่างเดียว

Full Screen Application: Lion จะมีวิธีมาตรฐานในการพัฒนาแอพลิเคชั่นที่เป็นแบบเต็มจอ และการสวิตซ์ระหว่างแอพลิเคชั่นจะใช้ทัชแพด

Photo Booth: รุ่นใหม่จะสามารถติดตามใบหน้าคนได้ ปรับแต่งหน้าได้ทันที

Mission Control: รวมเอา Dashboard, Exposé, และ Spaces เข้ามาเป็นหน้าจอเดียวกัน โดยเรียกจากทัชแพด

Mac App Store: ติดมากับ Lion ในตัว และแอปเปิลสัญญาว่าจะมี In-App Purchase ในอนาคต

Launchpad: หน้าจอเริ่มต้นสำหรับเรียกแอพลิเคชั่น เรียกจาก Dock เป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะทำให้ Mac OS X คล้ายกับ iOS มากขึ้น

Resume: ทำให้การเปิดแอพลิเคชั่นกลับไปอยู่สถานะก่อนปิดทันที และตอนเรียกแอพลิเคชั่นก็ไม่ต้องสั่งเซฟก่อนแล้ว

Auto Save/Versions: แม้ในงานจะแยกเป็นสองฟีเจอร์แต่จริงๆ แล้วมันทำงานใกล้กันมาก คือเหมือนเราใช้งาน Google Docs ในเครื่องของเราเอง เอกสารจะถูกเซฟเองเป็นช่วงๆ โดยเราสามารถย้อนกลับไปตอนไหนก็ได้ และสามารถสั่งล็อกเอกสารไว้ที่สถานะไหนก็ได้ หากล็อกแล้วต้องการแก้ไขมีสองทางคือปลดล็อกหรือสร้างไฟล์ใหม่แยกออกไป

AirDrop: แชร์ไฟล์ผ่าน Wi-Fi โดยตรง ถ้าที่ทำงานไม่ได้ใช้ Mac กันหมดใช้ Thumbdrive อย่างเดิมน่าจะสะดวกกว่า

Mail: ออกรุ่นใหม่เป็นสองคอลัมน์ มีพรีวิวเนื้อหาใต้หัวข้อเมล

นอกจากนี้แล้ว Lion ยังมี Lion Server เป็น "แอพลิเคชั่น" ขายแยกในราคา 49.99 ดอลลาร์เพื่อให้บริการไฟล์, อีเมล, ปฎิทิน, และ Wiki

ตัว Lion ราคา 29.99 ดอลลาร์ซื้อได้จาก Mac App Store โดยตรง

ที่มา - Apple

iOS5

Notification: ปรับปรุงหน้าจอแจ้งเตือนใหม่ แจ้งเตือนได้ในตอนล็อกหน้าจอ, เมื่อมีการแจ้งเตือนมากๆ จะขึ้นไปรวมกันที่ด้านบนให้ลากลงมาดูทีเดียวได้เหมือน Android, และสามารถคลิกเพื่อเรียกแอพลิเคชั่นที่เตือนมาได้โดยตรง

Newsstand: หน้ารวมสำหรับคนที่ซื้อนิตยสารรหรือหนังสือพิมพ์

Twitter: จะทำงานร่วมกับ iOS5 อย่างแนบแน่น แอพลิเคชั่นมาตรฐานเช่น Camera,Safari, Maps, และ YouTube จะสามารถส่งทวีตได้ทันที

Camera/iPhoto: ใหม่จะควบคุมได้มากขึ้น ล็อกโฟกัสได้, ใช้ปุ่ม Volume Up เพื่อแทนปุ่มชัตเตอร์, เรียกใช้กล้องจากหน้าจอล็อก ส่วน iPhoto จะสามารถปรับแต่งได้มากขึ้น และทำงานร่วมกับ iCloud ได้

Safari รุ่นใหม่สามารถเลือกเฉพาะตัวเนื้อหาออกมาให้อ่านได้, และเซฟรายการที่อยากอ่านไว้กลับมาอ่านทีหลังได้

PC Free: อุปกรณ์ iOS ทั้งหมดจะไม่ต้องการเครื่องพีซีเพื่อใช้งานอีกต่อไป การอัพเดตทั้งหมดสามารถทำผ่าน Wi-Fi ได้เลย

Wi-Fi Sync: สามารถซิงก์กับ iTunes ผ่าน Wi-Fi ได้แล้ว โดยตรงต่อสายชาร์จก่อน (แต่ไม่ต้องต่อกับคอมพิวเตอร์โดยตรง) พอชาร์จอยู่เครื่องก็จะต่อกับพีซีเพื่อซิงก์เอง

AirPlay Mirror: สามารถแสดงหน้าจอออกทางจอทีวีได้แล้วผ่านทาง AppleTV แต่ใช้ได้กับ iPad 2 เท่านั้น

Multitasking Gestures: สวิตซ์ข้ามแอพลิเคชั่นด้านการใช้ gesture ด้วยมือ ปัดทั้งห้านิ้วบนจอเพื่อสวิตซ์แอพลิเคชั่น

Game Center: รองรับการหาเพื่อนเล่นเกมเพิ่มเติม หาเพื่อนของเพื่อนได้

Mail/Calendar: เชื่อมต่อกับ iCloud ได้แล้วเป็นฟีเจอร์หลัก ที่เหลือเป็นการอัพเดตระบบ UI ให้ดีขึ้น

ที่มา - Apple

iCloud

iCloud ดูจะเป็นพระเอกของงานนี้อย่างเต็มรูปแบบ แอปเปิลเอาจริงกับมันมากถึงขั้นสร้างศูนย์ข้อมูลใหม่ให้มันโดยเฉพาะ โดยมันคือเซิร์ฟเวอร์สำหรับซิงก์ข้อทูลทุกอย่างตั้งแต่เอกสาร, ภาพ, เพลง, และแอพลิเคชั่นที่เราซื้อมาโดยไม่คิดเงิน แต่มีข้อจำกัดได้แก่

  • เมล, ปฎิทิน, และเอกสารจะเก็บได้ไม่เกิน 5GB ต่อคน
  • รูปภาพจะเก็บเฉพาะ 1000 ภาพล่าสุด และเก็บไว้ 30 วันเท่านั้น
  • แอพลิเคชั่นจาก App Store สามารถดึงไปยังเครื่องที่ผู้ใช้เดียวกันได้ทันที
  • เพลงก็เช่นเดียวกับแอพลิเคชั่น ไม่มีจำกัดขนาดแต่ลงได้ไม่เกิน 10 เครื่องพร้อมกัน

บริการ iCloud ยังเปิด API ให้นักพัฒนาภายนอกสามารถส่งเอกสารเข้าไปเก็บบนเซิร์ฟเวอร์ของแอปเปิลได้ โดยคาดว่าพื้นที่จะรวมอยู่ใน 5GB ที่จำกัดเอาไว้

ที่มา - iCloud

Music Match

บริการ Music Match เป็นส่วนเสริมของ iCloud แต่มันมีความสำคัญมาก เพราะจากเดิมที่ระบุกันว่าแอปเปิลจะทำบริการเก็บเพลงแข่งกับ Google และ Amazon นั้นดูเหมือนจะไม่ตรงกันนัก โดย Music Match จะเป็นการค้นหาเพลงในเครื่องของเรา และเทียบดูว่ามีเพลงนั้นๆ อยู่ในฐานข้อมูลของแอปเปิลหรือไม่ หากมีก็จะสามารถซิงก์ผ่าน iCloud ได้ โดยคิดค่าบริการปีละ 24.99 ดอลลาร์ และเครื่องที่ซิงก์จะได้ไฟล์ ACC แบบ 256kbps ไม่มี DRM

ข้อจำกัดสำคัญของบริการนี้คือหากเพลงนั้นๆ ไม่มีบนฐานข้อมูลของ iTunes ก็หมดสิทธิ์ทันที และการคิดค่าบริการรายปีกับเพลงที่เราเป็นเจ้าของอยู่แล้วอาจจะไม่สมเหตุผลสำหรับผู้ใช้บางคน แอปเปิลเองก็ยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการบริการนี้ อย่างไรก็ตามราคา 24.99 ดอลลาร์ต่อปีเพื่อบริการริปเพลงคุณภาพสูง, ใส่ข้อมูลเพลงให้อย่างถูกต้อง, แถมภาพสแกนปกซีดี, และสามารถซิงก์ได้ทุกเครื่องก็น่าจะทำให้คนจำนวนไม่น้อยใช้บริการนี้

สรุป

จบงานแถลงข่าว WWDC ครั้งนี้เราได้เห็นแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้น แอปเปิลเริ่มมีทิศทางที่ชัดเจนว่าจะทำให้ Mac OS X คล้ายกับ iOS เข้าไปทุกที ขณะที่ iOS เริ่มกลายเป็นประชากรชั้นหนึ่งที่ไม่ต้องการพีซีอีกต่อไป ในอีกแง่หนึ่งแอปเปิลเองเริ่มผันตัวจากผู้ขายฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์มาเป็น "ผู้ให้บริการ" มากขึ้น อุปกรณ์ iOS รุ่นต่อๆ ไปคงต้องผูกกับบริการของแอปเปิลมากขึ้นเช่นเดียวกับที่ Android ผูกติดกับกูเกิล เรากำลังเห็นสงครามในโลกที่ความร่วมมือในแนวนอนเริ่มหายไป ทุกคนต้องเลือกฝั่งในแนวตั้งว่าจะลงทุนกับ ฮาร์ดแวร์+แพลตฟอร์ม+บริการของค่ายใดค่ายหนึ่งมากขึ้นเรื่อยๆ การลงทุนกับค่ายใดๆ หลังจากนี้เราอาจจะต้องระวังที่จะเลือกให้ดีมากขึ้นเพราะมันคือการเลือกที่จะฝากตัวเองและข้อมูลจำนวนมากไว้กับค่ายนั้นๆ โดยที่ความลำบากในการย้ายอาจจะมากกว่าที่เราเคยใช้ระบบ IT กันมา

Blognone Jobs Premium