การที่ Intel AppUp นั้นรองรับทั้ง Windows และ MeeGo สร้างคำถามว่านักพัฒนาควรพัฒนาด้วยเครื่องมือชุดใด จึงจะสามารถพัฒนาแอพลิเคชั่นสำหรับทุกที่ได้ ก่อนหน้านี้ใน Moblin นั้นประเด็นนี้ยังขาดความชัดเจนพอสมควร แต่พลังจากร่วมมือกับโนเกียจนได้ MeeGo ออกมาความร่วมมือนี้ก็ทำให้ MeeGo ได้รับ Qt ซึ่งสามารถใช้พัฒนาซอฟต์แวร์ทั้งบนเดสก์ทอปและ MeeGo ได้พร้อมกัน
แม้จะพัฒนาด้วยเฟรมเวิร์คตัวเดียวกันได้ แต่การพัฒนาแอพลิเคชั่น Qt สำหรับอุปกรณ์ที่หลากหลายนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้อย่างสำเร็จรูป เนื่องจากหน้าจอที่แตกต่างกันบนแต่ละแพลตฟอร์ม ใน Qt 4.7 เป็นต้นมาทางโนเกียจึงพัฒนาส่วนภาษา QML ที่เป็นเหมือน HTML ที่ทำหน้าที่หน้าจอให้กับบริการเว็บ แต่ QML นั้นจะเป็นส่วนแสดงผลให้กับ Qt ด้านล่าง
ในบทความนี้เราจะแนะนำการพัฒนาแอพลิเคชั่นด้วย Qt และ QML อย่างง่ายๆ
Qt เป็นเฟรมเวิร์กสำหรับสร้างแอพลิเคชัน และส่วนติดต่อผู้ใช้ที่ cross-platform โดยเขียนเพียงครั้งเดียว แต่สามารถ deploy ไปใช้บนระบบปฏิบัติการ และเครื่องมือต่างๆ ได้มากมาย เช่น บนคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows, Mac, Linux, โทรศัพท์มือถือที่ใช้ Symbian หรือแท็บเล็ต MeeGo ของ Intent โดยตัว Qt นั้นเป็นเฟรมเวิร์กสำหรับแอพลิเคชันที่พัฒนาด้วยภาษา C++ เป็นหลัก
บางคนอาจจะเริ่มอยากปิดบทความนี้แล้วหลังจากเห็นคำว่า C++ เข้าไป แต่เดี๋ยวก่อน ถ้าคุณอ่านต่อไปภายใน 10 นาทีนี้ คุณอาจจะสนใจมันมากกว่าเดิม เพราะปัจจุบันมี QML ซึ่งจะทำให้เราสร้างแอพลิเคชันโดยไม่ต้องเขียน C++ ได้ด้วย
ภาษา QML (Qt Meta-Object Language) มีลักษณะของ CSS และภาษา JavaScript ปนกัน (บางทีก็รู้สึกว่าเหมือน JSON เข้าไปด้วย) โดยเราจะระบุชื่อคอมโพเนนต์ และระบุคุณสมบัติต่างๆ ของคอมโพเนนต์นั้นในเครื่องหมายปีกกา รวมถึงสามารถระบุการทำงานด้วยภาษา JavaScript ไว้ได้ ซึ่งเราสามารถใช้เพียง QML นี้ในการเขียนเกือบทั้งแอพลิเคชันได้ โดยไม่จำเป็นต้องแตะภาษา C++ เลย ปัจจุบัน Qt เรียกการสร้างแอพลิเคชันด้วย QML ลักษณะนี้ว่า Qt Quick เพื่อให้รู้สึกใช้ง่ายมากยิ่งขึ้น
สำหรับการทำงานของโปรแกรมส่วนที่เขียนด้วย QML นั้น จะทำงานอยู่บน QML Viewer อีกทีหนึ่ง ลักษณะเดียวกับที่โปรแกรมภาษา ActionScript ทำงานอยู่บน Flash Player แต่ QML Viewer นั้นจะเป็นส่วนหนึ่งของแอพลิเคชันของเราด้วย ซึ่งทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องติดตั้ง QML Viewer เอง
นอกจากรูปแบบภาษาที่ง่ายและคุ้นเคยสำหรับดีไซน์เนอร์แล้ว บน Qt Creator 2.2 ขึ้นไปจะสามารถใช้ Qt Designer เพื่อลากวาง จัดการหน้าต่างโปรแกรมที่เขียนด้วย QML ได้แล้ว
ในส่วนของ Editor นั้นทำงานได้ดี ตอบสนองรวดเร็ว และแบ่งส่วนการทำงานต่างๆ ได้ชัดเจน เข้าใจง่าย ใครที่เคยใช้ Visual Studio หรือว่า Eclipse มาแล้วน่าจะรู้สึกดีกับ Editor ของ QtCreator ไม่น้อย
ในบทความนี้จะไม่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับ QtCreator มากกว่านี้นะครับ ทดลองดาวน์โหลดมาเล่นกันเองได้เลย ในส่วนต่อไปจะเน้นไปที่ความสามารถของ QML โดยยกตัวอย่างคู่กับซอร์สโค้ดเป็นหลัก (ถึงแม้ว่าบางส่วนจะสร้างได้จาก IDE โดยไม่ต้องเขียนโค้ดเองก็ตาม)
การสร้างแอพลิเคชันด้วย QML โดยใช้ QtCreator นั้นทำได้ง่ายๆ โดยสร้างโปรเจกต์ใหม่เป็นโปรเจกต์แบบ Qt Quick Application จะได้โปรเจกต์ที่มีซอร์สโค้ด C++ ที่จำเป็นต่อการเริ่มโปรเจกต์ที่สร้างด้วย QML (ไม่ต้องแก้ไขอะไรก็ได้) และไฟล์ QML ไฟล์แรกให้เริ่มแก้ไขได้ทันที
คอมโพเนนต์ที่มีให้ใช้ใน QML นั้นจะใช้แนวคิดว่า คอมโพเนนต์ชิ้นหนึ่งจะมีหน้าที่หลักเพียงอย่างเดียว หากต้องการคอมโพเนนต์ที่ซับซ้อนขึ้น เราจะต้องนำคอมโพเนนต์มาประกอบกันเอง เช่น ไม่มีคอมโพเนนต์ประเภท Button ให้ใช้ แต่มีคอมโพเนนต์ประเภท MouseArea ซึ่งระบุพื้นที่ที่ตรวจจับการคลิกหรือลากผ่านได้โดยไม่มีหน้าตาให้เห็น ต้องนำไปใช้ประกอบกับคอมโพเนนต์ Rectangle และ Text เพื่อให้ออกมาเป็นปุ่มที่สมบูรณ์
{syntaxhighlighter brush: css}
Rectangle {
id: buttonBg
width: 300
height: 50
color: "#999999"
MouseArea {
id: buttonArea
hoverEnabled: true
anchors.fill: parent
}
Text {
id: buttonLabel
text: "Click me"
anchors.centerIn: parent
}
}
{/syntaxhighlighter}
ฟังดูเหมือนจะยุ่งยาก แต่แนวคิดนี้จะทำให้ผู้ออกแบบส่วนติดต่อผู้ใช้สามารถสร้างคอมโพเนนต์ใหม่ที่มีพฤติกรรมแตกต่างไปจากคอมโพเนนต์มาตรฐานในแอพลิเคชันอื่นได้ง่าย โดยเอาคอมโพเนนต์พื้นฐานมาประกอบกันได้เลย โดยไม่ต้องสร้างคอมโพเนนต์ใหม่ ซึ่งต้องเข้าใจแนวคิดแบบ OOP และกระบวนการวาดคอมโพเนนต์อันยุ่งยาก (มีตัวอย่างท้ายบทความนี้)
นอกจากนี้ คอมโพเนนต์ที่ทำหน้าที่อย่างเดียวนี้ หลายๆ ตัวก็ฉลาดพอที่จะทำให้เราเขียนโปรแกรมได้ง่ายขึ้น เช่น การใส่รูปภาพในแอพลิเคชัน สามารถทำได้ดังนี้
{syntaxhighlighter brush: css}
Image {
source: "http://www.blognone.com/sites/all/themes/blognone41/images/logo.png"
fillMode: "PreserveAspectFit"
}
{/syntaxhighlighter}
สังเกตว่าสามารถโหลดรูปจากอินเทอร์เน็ตได้ โดยไม่ต้องเขียนโค้ดใดๆ เลย
สำหรับคอมโพเนนต์ และอีลิเมนต์ทั้งหมดที่มีให้ใช้ สามารถดูเพิ่มได้จากเอกสารของ Qt
นอกจากการจัดตำแหน่งคอมโพเนนต์โดยกำหนดพิกัด x, y แล้ว หากมีคอมโพเนนต์จำนวนมาก สามารถใช้ Positioner ช่วยในการจัดเลย์เอาต์เป็นแถว คอลัมน์ หรือกริดได้ด้วยคอมโพเนนต์ Row, Column, Grid เช่น
{syntaxhighlighter brush: css}
Column {
Text {
text: "First line text"
font.pointSize: 14
color: "#777777"
}
Text {
text: "Second line text"
font.pointSize: 10
color: "#999999"
}
}
{/syntaxhighlighter}
อีกแนวคิดหนึ่งที่สำคัญและต้องใช้บ่อยในการจัดเลย์เอาต์คือ anchor-based layout ซึ่งเราสามารถจัดตำแหน่งเลย์เอาต์แบบสัมพัทธ์กับคอนเทนเนอร์ หรือตำแหน่งของคอมโพเนนต์อื่นๆ ในคอนเทนเนอร์เดียวกันได้ โดยเปรียบเทียบตำแหน่งของเส้นต่างๆ ที่อ้างอิงได้บนคอมโพเนนต์ (top, bottom, left, right, orizontalCenter, verticalCenter, baseline) หรือกำหนดขนาดเปรียบเทียบกับคอนเทนเนอร์ได้
เช่น หากต้องการสร้างกล่องข้อความที่มีปุ่มด้านหลัง เราสามารถกำหนดให้ปุ่มมีขอบด้านบน ขวา และล่าง ชิดติดกับกล่องข้อความได้ด้วยซอร์สโค้ดด้านล่าง (สังเกตส่วนที่นำหน้าด้วย anchors.*
)
{syntaxhighlighter brush: css}
Rectangle {
width: 360
height: 360
Rectangle {
id: textField
color: "#CCCCCC"
width: 300
height: 50
TextEdit {
anchors.fill: parent
anchors.margins: 5
}
}
Rectangle {
width: 50
anchors.top: textField.top
anchors.bottom: textField.bottom
anchors.right: textField.right
anchors.topMargin: 0
anchors.bottomMargin: 0
anchors.rightMargin: 0
color: "#999999"
Text {
text: "Submit"
anchors.centerIn: parent
}
}
{/syntaxhighlighter}
ระบบ binding คือการกำหนดค่าโดยอ้างอิงจากค่าอื่น ซึ่งจะอัพเดตอัตโนมัติเมื่อค่าที่อ้างอิงนั้นเปลี่ยนค่าไป ซึ่งพบได้ในภาษาที่เน้นการสร้างส่วนติดต่อผู้ใช้ให้ง่ายๆ อยู่แล้ว แต่ใน QML นั้นพิเศษยิ่งขึ้น โดยการกำหนดค่าทั้งหมดที่ไม่ได้ระบุค่าโดยตรง แต่อ้างถึงคอมโพเนนต์ใดๆ จะทำการ binding ให้โดยอัตโนมัติทันที
เช่น การสร้างกล่องข้อความที่มีข้อความแนะนำผู้ใช้หากยังไม่ได้กรอกข้อความ จะเขียนได้ดังนี้ (โค้ดด้านล่างตัดส่วนหน้าตาและการจัดเลย์เอาต์ออกไป เพื่อให้แสดงฟีเจอร์นี้ได้ชัดเจน)
{syntaxhighlighter brush: css}
Text {
text: "Enter your name"
visible: textEditField.text.length > 0
}
TextEdit {
id: textEditfield
}
{/syntaxhighlighter}
การ binding สามารถทำได้ถึงแม้ว่าจะกำหนดค่าจะกำหนดด้วยฟังก์ชันก็ตาม หากค่าใดก็ตามที่ถูกอ้างอิงในฟังก์ชันเปลี่ยนค่าไป ก็จะเกิดการอัพเดตใหม่เช่นเดียวกัน เช่น เราสามารถสร้างปุ่มให้มีสีแตกต่างไปเมื่อลากเมาส์ผ่านและกดได้ดังนี้
{syntaxhighlighter brush: css}
Rectangle {
id: buttonBg
width: 50
height: 50
color: {
if (buttonArea.pressed)
return "#FFCCCC";
else if (buttonArea.containsMouse)
return "#CCFFCC";
else
return "#CCCCFF";
}
MouseArea {
id: buttonArea
hoverEnabled: true
anchors.fill: parent
}
}
{/syntaxhighlighter}
การแสดงข้อมูลที่เป็นรายการ ทำได้โดยใช้คอมโพเนนต์ประเภท View ซึ่งเบื้องต้นจะมี GridView, ListView และ PathView โดยเราจะต้อง
คอมโพเนนต์นี้จะไม่จัดการเรื่องการคลิกเลือกของในลิสต์ให้กับเรา แต่จะจัดการเรื่องการเลื่อนดูของในลิสต์ให้ ซึ่งสามารถลากเลยเพื่อให้เด้งกลับมาได้เหมือนกับที่เราเห็นในสมาร์ทโฟนทั่วไป
ตัวอย่างลิสต์ข่าวใน Blognone เป็นดังซอร์สโค้ดด้านล่าง
{syntaxhighlighter brush: css}
ListModel {
id: newsModel
ListElement {
title: "อินเทลเริ่มการแข่งขัน Intel Threading Challenge 2011"
time: "14 เม.ย. 2011"
}
ListElement {
title: "Intel เผยแผนพัฒนา Micro Server"
time: "20 มี.ค. 2011"
}
ListElement {
title: "Angry Birds เตรียมลงพีซี ซื้อได้ผ่าน Intel AppUp"
time: "5 ม.ค. 2011"
}
}
Component {
id: newsDelete
Item {
anchors.left: parent.left
anchors.right: parent.right
height: 60
Rectangle {
color: "#DDDDDD"
border.color: "#BBBBBB"
anchors.fill: parent
}
Column {
anchors.fill: parent
anchors.margins: 5
Text {
text: title
font.pointSize: 14
color: "#777777"
}
Text {
text: time
font.pointSize: 10
color: "#999999"
}
}
}
}
ListView {
id: newsList
anchors.fill: parent
model: newsModel
delegate: newsDelete
}
{/syntaxhighlighter}
นอกจากจะใช้การ binding ในการจัดการข้อมูลและการแสดงผลแล้ว เรายังสามารถรอดูเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกับการดักรออีเวนต์ในภาษาอื่นๆ แต่ใน Qt และ QML จะเรียกส่วนนี้ว่า signal และ slot ซึ่งจะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างไปเล็กน้อย แต่สำหรับผู้ที่เขียน QML แทบจะไม่รู้สึกแตกต่างอะไรกับระบบอีเวนต์เลย
ตัวอย่างเช่น โปรแกรมด้านล่างนี้ ปุ่มจะเลื่อนลงไปด้านล่างเมื่อถูกคลิก และ log ตำแหน่งปุ่มใหม่
{syntaxhighlighter brush: css}
Rectangle {
id: buttonBg
width: 150
height: 50
color: "#999999"
onYChanged: {
console.log(buttonBg.y)
}
MouseArea {
anchors.fill: parent
onPressed: {
buttonBg.y += 20
}
}
}
{/syntaxhighlighter}
การแสดงอนิเมชันให้กับคอมโพเนนต์ใดๆ สามารถทำได้ง่ายๆ โดยสามารถกำหนดอนิเมชันการเปลี่ยนคุณสมบัติของคอมโพเนนต์ได้ โดยใส่อีลิเมนต์ Behavior เช่น ตัวอย่างด้านล่างนี้คือการนำปุ่มเปลี่ยนสีจากตัวอย่างก่อนหน้ามาใส่อนิเมชันเปลี่ยนสีลงไป
{syntaxhighlighter brush: css}
Rectangle {
id: buttonBg
width: 50
height: 50
color: {
if (buttonArea.pressed)
return "#FFCCCC";
else if (buttonArea.containsMouse)
return "#CCFFCC";
else
return "#CCCCFF";
}
MouseArea {
id: buttonArea
hoverEnabled: true
anchors.fill: parent
}
Behavior on color {
ColorAnimation { duration: 200 }
}
}
{/syntaxhighlighter}
นอกจากนี้ เพื่อความสะดวกในการจัดการคุณสมบัติต่างๆ เราสามารถกำหนด state ของคอมโพเนนต์ เพื่อสั่งเปลี่ยนคุณสมบัติต่างๆ พร้อมกันเป็นชุดๆ พร้อมกับทำอนิเมชันระหว่างการเปลี่ยนแต่ละ state ได้
เช่น จากตัวอย่างก่อนหน้านี้สามารถเขียนได้โดยกำหนด State สำหรับกรณีปกติ (normal) กรณีเมาส์วางเหนือปุ่ม (hovered) และกรณีถูกคลิก (clicked) โดยสามารถกำหนดคุณสมบัติที่จะเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละ State โดยใส่อีลิเมนต์ PropertyChanges ลงใน State นั้นๆ จากนั้นจึงกำหนดอนิเมชันการเปลี่ยนแปลง State ในคุณสมบัติ transitions
{syntaxhighlighter brush: css}
Rectangle {
id: buttonBg
width: 50
height: 50
color: "#FFCCCC"
states: [
State {
name: "normal"
PropertyChanges {
target: buttonBg
color: "#FFCCCC"
}
},
State {
name: "hovered"
PropertyChanges {
target: buttonBg
color: "#CCFFCC"
}
},
State {
name: "clicked"
PropertyChanges {
target: buttonBg
color: "#CCCCFF"
}
}
]
transitions: Transition {
ColorAnimation {
target: buttonBg
duration: 200
}
}
state: {
if (buttonArea.pressed)
return "clicked"
else if (buttonArea.containsMouse)
return "hovered"
else
return "normal"
}
MouseArea {
id: buttonArea
hoverEnabled: true
anchors.fill: parent
}
}
{/syntaxhighlighter}
สำหรับการสร้างอนิเมชันให้คอมโพเนนต์ด้วยวิธีอื่นๆ อ่านได้จากเอกสารของ Qt
เราสามารถสร้างคอมโพเนนต์ด้วย QML ได้โดยสร้างคอมโพเนนต์ขึ้นเป็นไฟล์ QML ใหม่หนึ่งไฟล์ ซึ่งระบุคอมโพเนนต์ลูกในคอมโพเนนต์นั้น นอกจากนี้เรายังสามารถประกาศคุณสมบัติ และ signal ใหม่ ให้กับคอมโพเนนต์ที่เราสร้างขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น การสร้างกล่องข้อความที่มีข้อความแนะนำเมื่อผู้ใช้ยังไม่ได้พิมพ์ข้อความ จะเขียนได้ดังนี้
{syntaxhighlighter brush: css}
// HintTextInput.qml
import QtQuick 1.0
Rectangle {
id: component
property string text: ""
property string hint: ""
radius: 5
smooth: true
anchors.fill: parent
gradient: Gradient {
GradientStop { position: 0; color: "#FFFFFF" }
GradientStop { position: 1; color: "#F0F0F0" }
}
Text {
id: hintText
text: component.hint
color: "#777777"
visible: textInput.text.length === 0
anchors.fill: parent
anchors.margins: 5
}
TextInput {
id: textInput
text: component.text
anchors.fill: parent
anchors.margins: 5
}
Binding {
target: component
property: "text"
value: textInput.text
}
}
{/syntaxhighlighter}
เพื่อให้เห็นภาพการสร้างแอพลิเคชันที่พอจะทำงานได้จริงๆ ตอนท้ายนี้จึงมีตัวอย่างแอพลิเคชันดูรูปภาพอย่างง่ายๆ พร้อมคอมเมนต์ประกอบ โดยผู้อ่านสามารถทดลองสร้างเองได้โดยใช้ซอร์สโค้ด ต่อไปนี้
ซอร์สโค้ดนี้จะได้โปรแกรมดังภาพ
QML เป็นเครื่องมือสร้างส่วนติดต่อผู้ใช้ที่น่าจับตามอง ด้วยคุณสมบัติเด่นๆ หลายประการ
อ่านจนจบแล้ว อยากทดลองใช้บ้าง สามารถเข้าไปดูและดาวน์โหลดมาใช้ได้ที่ Qt Quick
บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทอินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อสนับสนุนให้นักพัฒนาสามารถเข้าร่วมกับ Intel AppUp Center ได้ง่ายยิ่งขึ้น ท่านสามารถเข้าดูข้อมูลเพิ่มเติมของ Intel AppUp ได้ที่ Intel AppUp Developer Program