สามก๊กไอที: ความเป็นก๊กที่เริ่มแจ่มชัด

by mk
28 June 2011 - 16:11

ก่อนอื่นต้องขอโทษผู้อ่านทุกท่านที่ผมประกาศ โครงการสามก๊กไอที ไปแล้วทำไม่ได้อย่างที่พูด (จะว่า "ดีแต่พูด" ก็ได้ครับ จริงๆ อาจต้องใช้ "ดีแต่โพสต์" น่าจะตรงกว่า)

ส่วนเหตุผลที่ทำไม่ได้ก็มีหลายอย่าง แต่อย่างหนึ่งที่สำคัญคือสถานการณ์มันเปลี่ยนเร็วมากจนเขียนตามไม่ทัน แต่ไหนเลยช่วงนี้เพิ่งผ่านเหตุการณ์สำคัญของทั้ง 3 ก๊กคือ Google I/O, WWDC และประกาศต่างๆ ของไมโครซอฟท์ ก็ยังไม่น่าจะมีอะไรใหม่มาก เป็นโอกาสอันดี รีบเขียนเลยดีกว่า

โดยสรุปรวบรัด ณ ปลายเดือนมิถุนายน 2011 ก็คือ เราจะเห็นภาพของ "สามก๊ก" ที่เริ่มแจ่มชัดขึ้น โดยเฉพาะฝ่ายของไมโครซอฟท์ที่ชัดเจนว่าเริ่มดูดก๊กที่อ่อนกำลังอื่นๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็น Nokia ที่เริ่มเพลียแรง, Skype ที่โดนดูดเข้ามาเรียบร้อย และรายล่าสุดคือ RIM ที่เริ่มออกอาการ

แอปเปิล

ยุทธศาสตร์ของแอปเปิลนั้นชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่า "ข้ามาคนเดียว" ซึ่งก็มีแอปเปิลเพียงบริษัทเดียวที่เดินเกมแบบนี้ได้ (เพราะบริษัทอื่นไม่สามารถสร้างศรัทธาได้มากพอ)

แนวทาง "ทำทุกสิ่งทุกอย่างเอง" ของแอปเปิลก็เริ่มชัดเจนขึ้นหลังการประกาศ iCloud ในงาน WWDC 2011 ในภาพรวมมันคือ "ก้าวแรก" ของแอปเปิลสำหรับการสร้างบริการออนไลน์ของตัวเอง แต่ในภาพรวมอีกนั่นแหละ แอปเปิลก็ยังมีสินทรัพย์ออนไลน์น้อยมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง (ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของแอปเปิล) หลายๆ อย่างก็ยังต้องพึ่งจมูกกูเกิลหายใจต่อไป

ยุทธศาสตร์อีกขาของแอปเปิลคือการหลอมรวม OS X ทั้งสาย Mac และ iOS เข้าด้วยกัน อันนี้เห็นได้ชัดจาก OS X 10.7 Lion ทิศทางการหลอมรวมก็ตรงไปตรงมาคือ OS X จะถูกกลืนเข้าไปยัง iOS ที่แอปเปิลมีส่วนแบ่งตลาดสูงกว่ามาก (สายผลิตภัณฑ์ Mac ก็คงมาได้แค่นี้ ไม่มีทางโค่นวินโดวส์ได้แล้ว)

สถานการณ์ของแอปเปิลในตอนนี้คือ ฐานรายได้และส่วนแบ่งตลาดในหลายจุดเริ่มแน่น ดังนั้นก็ได้เวลาขยายสายผลิตภัณฑ์ของตัวเองออกไปยังตลาดใกล้เคียง ที่ผมคิดว่าจะมาแน่ๆ มี 2 อย่างคือ

  • iPhone สำหรับตลาดกลาง (ซึ่งก็เพิ่งมีข่าว iPhone 4S ออกมา)
  • Smart TV ที่ใช้เทคโนโลยีจอภาพของแอปเปิลเอง + ซอฟต์แวร์จาก Apple TV แต่รวมมาในชุดเดียวกัน แล้วขายผ่านร้าน Apple Store หรือตัวแทนจำหน่ายอื่นๆ เหมือนกับทีวีของคู่แข่งที่ขายตามร้านอุปกรณ์ไฮไฟทั่วไป

ถ้ามองสภาพของตลาดในระยะยาว ตอนนี้แอปเปิลอยู่ในจุดสูงสุดของกราฟแล้ว ต้องรีบกอบโกยก่อนกราฟจะตกลง (ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ) และบริษัทจะต้องผ่านช่วงเวลา "เปลี่ยนผ่าน" ที่สำคัญ ในการปรับตัวให้อยู่ได้โดยไม่มีสตีฟ จ็อบส์

กูเกิล

ยุทธศาสตร์ของกูเกิลกลับกับแอปเปิลแบบคนละขั้ว นั่นคือ "ข้ามาเป็นฝูง" โดยกูเกิลจะรับบท 2 อย่างคือ

  • สร้างระบบปฏิบัติการ + แอพมาตรฐานจำนวนหนึ่ง โดยรวมๆ ก็คือสร้าง middleware สำหรับ smart device
  • สร้าง online service ที่อยู่บน cloud ล้วนๆ (ซึ่งจุดกำเนิดของกูเกิลก็มาแบบนี้อยู่แล้ว)

สิ่งที่กูเกิลเหลือไว้ให้พาร์ทเนอร์ก็คือ

  • ฮาร์ดแวร์
  • บริการหรือซอฟต์แวร์เสริมอื่นๆ ที่กูเกิลไม่สนใจทำ แต่เป็นการสร้างมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์

ตัวอย่างสมการ

  • HTC = สร้างฮาร์ดแวร์มือถือ + (Android) + Sense/Sense.com + (บริการออนไลน์ของกูเกิล) + OnLive
  • Sony = Xperia Play + (Android) + PlayStation Suite + (บริการออนไลน์ของกูเกิล) + Qriocity
  • Amazon = แท็บเล็ตที่ยังไม่ออก + (Android) + Amazon Appstore/Kindle Store + (บริการออนไลน์ของกูเกิล)

จุดเด่นของยุทธศาสตร์นี้คือสร้างแนวร่วมได้เป็นจำนวนมาก (ซึ่งตลาดในปัจจุบันก็พิสูจน์แล้ว Android ติดตลาดไปแล้ว) แต่ก็มีจุดอ่อนเรื่อง fragmentation กับเรื่องการควบคุมประสบการณ์ในการใช้งาน ที่ไม่สามารถสู้กับแอปเปิลที่คุมได้ทุกอย่างนั่นเอง

ผมคิดว่าในระยะยาว พาร์ทเนอร์ที่สำคัญของกูเกิลมี 2 รายคือ Sony และ Amazon เพราะสองรายนี้มี content ในมือจำนวนมาก (Sony มีเพียบทั้ง Sony Pictures/Music/SCE) ถ้ารวมตัวกันดีๆ คงได้เห็นอะไรสนุกๆ อีกมาก ส่วนรายที่ไม่มี content ในมืออย่างเช่น Acer หรือ Motorola ก็อาจสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้ยากสักหน่อย

ประเด็นเรื่อง fragmentation จะยิ่งมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะพาร์ทเนอร์กับกูเกิลย่อมมีความเห็นไม่ลงรอยกันเรื่อง Android และในระยะยาวสักหน่อย เราอาจเห็น "กบฎหุ่นยนต์" ที่บางบริษัทอาจรวมหัวกัน fork แยกไปพัฒนา Android เองก็ได้

คนที่ติดตามงาน Google I/O คงเห็นทิศทางที่ชัดเจนของยุทธศาสตร์ "ข้ามาเป็นฝูง" ทั้งจาก Android@Home และ ADK ที่จะขยายจากมือถือ แท็บเล็ต ทีวี ไปยังอุปกรณ์สารพัดชนิด (วิสัยทัศน์ที่ MeeGo เคยฝันไว้) ถ้ากูเกิลทำตรงนี้ดีๆ แอปเปิลก็ลำบากเหมือนกัน เพราะไม่ว่าแอปเปิลเก่งแค่ไหน ก็ไม่มีวันทำเองได้ทุกอย่าง

ส่วนของ Android สายหลักผมคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก เพราะยุทธศาสตร์ในภาพใหญ่ของกูเกิลไม่เปลี่ยน ใน Ice Cream Sandwich คงเป็นการรวมฐานโค้ดของ Android หลายๆ เวอร์ชันเข้าด้วยกันมากกว่าจะมีอะไรใหม่ชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน

ปัญหาในระยะสั้นของกูเกิลคงเป็นการแก้ปัญหาที่รู้ๆ กันอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น Android Market, UI และจำนวน App เด็ดๆ ซึ่งก็แก้ไม่ได้สักที

เรื่อง Chrome OS ผมเคยเขียนไปแล้วว่ามันจับตลาดเฉพาะกิจ (อย่างน้อยก็ในช่วงนี้) และในระยะยาวก็ไม่มีอุปสรรคอะไรขวางการยัด Chrome ลงใน Android

สรุปว่ายุทธศาสตร์ทุกหนทุกแห่งของกูเกิลเหมาะสมแล้ว กูเกิลเพียงแก้ปัญหาเก่าของตัวเองให้ได้ กับรักษาพาร์ทเนอร์ให้อยู่ต่อไป ก็ชนะแล้ว (ทำได้หรือไม่อีกเรื่องนึง)

ไมโครซอฟท์

ก๊กที่น่าตื่นเต้นที่สุดในรอบปีนี้คือไมโครซอฟท์ จากบริษัทที่ทุกคนดูแคลนในปีที่แล้วว่าเชื่องช้าไม่ทันกิน แต่ในปี 2011 นี้เราเห็นพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

สิ่งที่เราเห็นในปี 2010

  • Windows 7 ที่ยังแน่นปึ๊กในตลาดพีซีชนิดหาใครมาเจาะยาก
  • Kinect อุปกรณ์ล้ำสมัยที่เพิ่งเริ่มต้น
  • Windows Phone 7 ที่ออกขายรุ่นแรกแบบเงียบๆ ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
  • ไม่มีคำตอบใดๆ ต่อตลาดแท็บเล็ต

สิ่งที่เราเห็นในปี 2011

  • จับมือ Nokia ผู้ผลิตมือถืออันดับหนึ่งของโลกทำ Windows Phone
  • Windows 8 ที่รองรับแท็บเล็ตและ ARM แถมรองรับโปรแกรมเก่าๆ ด้วย
  • ซื้อ Skype
  • Kinect ขายดีระเบิด
  • Bing ที่ดีวันดีคืน ถึงแม้จะยังตามกูเกิลอีกไกล

ไมโครซอฟท์ได้พันธมิตรที่เข้มแข็งอย่าง Nokia มาเข้าเป็นพวก ได้ Skype มาเป็นอาวุธเจาะตลาดเฉพาะ และอาจจะได้ RIM เข้ามาอีกราย ทำให้ความเป็นก๊กของไมโครซอฟท์เริ่มชัดเจนขึ้น

ยุทธศาสตร์ของไมโครซอฟท์จะอยู่กึ่งๆ ระหว่างแอปเปิล (คนเดียว) กับกูเกิล (เป็นฝูง) คือเป็นสายสัมพันธ์แบบ "พี่ใหญ่-น้องรองทั้งหลาย" โดยไมโครซอฟท์เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้กับพาร์ทเนอร์ใกล้ชิดอย่าง Nokia แต่ก็มีหลายส่วนที่ทำเองทั้งหมด เช่น Xbox

เมื่อ 2-3 ปีก่อนเราเห็นไมโครซอฟท์ประกาศวิสัยทัศน์ "three screens and a cloud" วันนี้ลองดู 3 ภาพนี้น่าจะเห็นอะไรชัดเจนขึ้น

สรุปว่าตอนนี้ไมโครซอฟท์กำลังปรับตัวเองให้หนีจากค่านิยม "พีซี" ที่เป็นรากเหง้าของบริษัทแต่เดิม ปัญหาของไมโครซอฟท์ไม่ใช่มาจากคู่แข่งเท่ากับตัวเอง ไมโครซอฟท์เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีฝ่ายต่างๆ เป็นจำนวนมาก (ลำพังแค่ฝ่าย Xbox ก็ใหญ่กว่าบริษัทเกมจำนวนมากแล้ว) โจทย์ของไมโครซอฟท์จึงเป็นการ "หลอมรวม" ผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้ได้ อะไรที่ยังขาดอยู่ก็ไปซื้อมา (อย่างกรณีของ Skype)

กิจการสายวินโดวส์และเกมของไมโครซอฟท์ไปได้ดี ขาดแต่ฝั่งมือถือที่ยังตามหลังอยู่ แต่การได้ Nokia มาช่วยย่อมดีขึ้นมาก และการที่ไมโครซอฟท์มีทุนมหาศาล สายป่านยาวเป็นกิโล ทำให้ไม่ต้องแคร์รายได้ระยะสั้น สามารถรบในเกมยาวได้อย่างมั่นคง

สิ่งที่น่าจับตาที่สุดในตอนนี้คงเป็น Windows 8 ซึ่งจะตอบโจทย์เรื่องพีซีและแท็บเล็ตได้ ขั้นถัดไปคงเป็นการรวม Kinect เข้ามาใช้กับพีซี ส่วน Windows Phone คงต้องให้เวลาตั้งตัวอีกพักหนึ่ง

ก๊กอื่นๆ

สายมือถือ

  • Nokia น่าจะหมดสภาพไปแล้วในฐานะก๊กอิสระ
  • RIM ใช้ยุทธศาสตร์ "ข้ามาคนเดียว" แบบแอปเปิล แต่แบรนด์เข้มแข็งไม่เท่า คงต้องปรับตัวโดยไปเข้ากับใครสักคน

สายพีซี

HP ซื้อ Palm แต่มีปัญหาเรื่องหลอมรวมผลิตภัณฑ์ไม่น้อย webOS อาจช้าไปแล้วสำหรับศึกครั้งนี้ และปัญหาที่สำคัญจริงๆ คือ HP ไม่มี content หรือผลิตภัณฑ์ฝั่งคอนซูเมอร์แม้แต่น้อย สุดท้ายก็อาจจะอยู่ได้แต่โลกธุรกิจเหมือนเดิม

สายเว็บ

รายที่น่าสนใจที่สุดคือ Facebook ซึ่งวางตัวเป็นไม้เบื่อไม้เมากับกูเกิลมาตลอด แต่ธรรมชาติของธุรกิจ Facebook กลับเหมือนกูเกิลอย่างมาก ดังนั้นการที่ Facebook จะไปเกาะอยู่บน Android จึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลมากในเชิงยุทธศาสตร์

ตัวอย่างเช่น การออกมือถือหรือแท็บเล็ต Facebook ที่ให้ HTC ผลิตเครื่อง, รัน Android, มีเลเยอร์พิเศษของ Facebook แต่ก็ยังใช้บริการของกูเกิลได้ ซึ่งทั้งหมดนี้แอปเปิลหรือไมโครซอฟท์ไม่น่าจะให้ได้เท่ากับกูเกิล

Blognone Jobs Premium