ตั้งแต่ AMD Fusion เปิดตัว ผมก็สนใจจะซื้อสักเครื่องเพื่อเป็นเน็ตบุ๊กเครื่องที่สองเพื่อใช้งานในวันที่ไม่อยากแบกคอมพิวเตอร์หนัก เช่นอาจจะมีแค่กระเป๋าสะพายข้างสักใบเท่านั้น เดิมผมเองใช้ Dell Mini 9 และมีความสุขกับมันดี แต่ Dell Mini 9 มีข้อจำกัด (ซึ่งไม่ต่างจากเน็ตบุ๊กในยุคเดียวกับมัน) คือคีย์บอร์ดที่จำกัดและผิดรูปร่างไปมาก และแรมที่น้อยมากจนไม่สามารถเปิดเว็บหลายๆ แท็บได้
สามปีผ่านไปในโลกเน็ตบุ๊ก เน็ตบุ๊กรุ่นใหม่ๆ มักมีการออกแบบที่ดีขึ้นมาก คีย์บอร์ดได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น, น้ำหนักยังคงเท่าเดิมแต่อายุแบตเตอรี่กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และซีพียูที่ทำความเร็วได้ดีขึ้น แต่ทั้งหมดยังถูกจำกัดอยู่ภายใต้นิยามเน็ตบุ๊กของอินเทล คือหน้าจอไม่ควรเกิน 1024x600 และแรมไม่เกิน 2GB ซึ่งเป็นข้อจำกัดของชิปเซ็ตเอง
ชิปเซ็ต Ontario เป็น CPU+GPU รุ่นเล็กสุดในตระกูล Fusion ที่เราหาซื้อได้ในตอนนี้ มันออกแบบมาสำหรับเน็ตบุ๊กเป็นหลัก แต่มีบางยี่ห้อเลือกนำไปติดตั้งในโน้ตบุ๊กรุ่นประหยัดด้วย ความโดดเด่นของมันคือ
ผมซื้อ Acer AO 522 ในด้วยโปรโมชั่นของ PowerBuy ในราคา 6,994 บาทนับว่าถูกกว่าเน็ตบุ๊กแทบทั้งตลาด ลดลงไป 30% จากการเปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้ว จุดเด่นของมันคือจอภาพ 1280x720 เท่ากับโน้ตบุ๊กทั่วไป ส่วนน้ำหนักอยู่ที่ 1.3 กิโลกรัมนับว่ามากไปสักหน่อย แต่ก็ยังพอยอมรับได้
ถ้าคุณเคยเห็นหรือเคยใช้ Acer Aspire One รุ่นอื่นๆ ที่มีวางขายอยู่ในตอนนี้ ผมบอกได้เลยว่ามันแทบไม่ตางกันแม้แต่น้อย เข้อจำกัดอย่างเดียวคือ AO 522 นั้นมีแต่สีดำเท่านั้น ไม่มีสีอื่นๆ ให้เลือกใช้งาน ผมเคยคุยกับคนขายหน้าร้านก็ได้ข้อมูลแปลกๆ ว่ารุ่นอื่นๆ ที่มีเครื่องสีๆ นั้นก็ได้แค่ดึงคนเข้ามาดูเป็นหลัก เครื่องที่ขายดีจริงๆ ยังคงเป็นเครื่องสีดำอยู่ดี
จุดที่ต้องชมคือผมพบว่า Acer เป็นแบรนด์ที่รูปร่างคีย์บอร์ดของเน็ตบุ๊กค่อนข้างเหมือนกับโน้ตบุ๊กมากที่สุด ไม่มีความพยายามปรับย่อปุ่มใดๆ ปุ่ม F1-F12 ยังคงอยู่ในที่ของมัน (เป็นปัญหาใหญ่มากสมัยผมใช้ Mini 9)
ปุ่มควบคุมทั้งหมดของ AO522 อยู่บนีคีย์บอร์ด ปุ่มเดียวที่อยู่นอกคีย์บอร์ดคือปุ่มปิดเปิดเท่านั้น
เนื่องจากตัวเครื่องที่ราคาไม่แพงมาก AO522 จึงไม่มีวินโดวส์แถมมาด้วย และแม้จะแถม Windows Starter มาก็คงยอมรับไม่ได้อยู่ดีเพราะจำกัดแรมที่ 2 กิกะไบต์ งานนี้ผมจึงเลือกใช้ลินุกซ์เป็นหลัก
การใช้ลินุกซ์มีปัญหาหลายอย่าง เท่าที่ผมทราบมีดังนี้
หากแก้ปัญหาข้างต้นได้แล้วการใช้งานโดยทั่วไปก็จะทำงานได้ดี อย่างไรก็ตามยังมีีอีกประเด็นคือไดรเวอร์ของ Radeon 6250 ที่มีสองตัวให้เลือกคือ fglrx ซึ่งเป็นไดรเวอร์ปิดซอร์สของ AMD กับ Mesa ที่เป็นโอเพนซอร์ส
หากใช้โอเพนซอร์สนั้นก็จะทำงานได้ทั่วไปดี ไดรเวอร์ค่อนข้างสมบูรณ์ เว้นแต่มันไม่สามารถใช้ฮาร์ดแวร์เร่งความเร็วในการถอดรหัสวิดีโอได้ ทำให้การเล่นวิดีโอแค่ 480P ก็ยังกินซีพียูเกือบทั้งหมด
แต่หากใช้ fglrx จะพบปัญหาใหม่คือเมื่อ sleep เครื่องแล้ว จะไม่สามารถปลุกเครื่องกลับมาตื่นได้อีกเลย แม้จะมีคนแนะนำหลายวิธีแต่ผมยังไม่พบวิธีใดที่ทำงานได้จริง แต่จากการทดลองใช้ fglrx และใช้ vlc รุ่นล่าสุด พบว่ามันสามารถเล่นไฟล์ขนาด 720P ได้จริง แต่ยังไม่สามารถเล่นไฟล์ขนาด 1080P ได้อาจจะเพราะประสิทธิภาพตัวถอดรหัสฝั่งโอเพนซอร์สนั้นด้อยกว่า
เรื่องที่ควรเล่าไว้สักหน่อยคือเหตุผลหลักที่ผมเลือก AO522 คือมันรองรับแรมได้ถึง 4GB ซึ่งจะให้ประสบการณ์ใช้งานที่ใกล้เคียงเครื่องหลักของผมมาก แต่ AO522 มีขั้นตอนการเพิ่มแรมที่ค่อนข้างลำบากจนแทบไม่สามารถติดตั้งได้ด้วยตนเองได้ คือต้องถอดคีย์บอร์ดเพื่อดันฝาปิดด้านล่างออกแล้วจึงเพิ่มแรมในช่องที่ซ่อนอยู่ งานนี้ผมส่งให้ร้าน MemoryToday จัดการ
note: MemoryToday เป็นสปอนเซอร์ Blognone ในการเพิ่มแรมเซิร์ฟเวอร์ที่ผ่านมา แต่เครื่องส่วนตัวนี้ผมเข้าไปขอให้ทางร้านเพิ่มให้โดยไม่ได้แจ้งว่ามาจากเว็บไหนแต่อย่างใดครับ
ผมใช้งาน AO522 มาจริงจังประมาณสองสัปดาห์ พบว่ามันเป็นการ "อัพเกรด" จาก Dell Mini 9 ที่ค่อนข้างคุ้มค่า คีย์บอร์ดที่พิมพ์งานได้จริงจังแม้ปุ่มจะเล็กลงไปบ้าง แต่การจัดวางก็เป็นธรรมชาติมาก ข้อเสียสำคัญคือความร้อนที่ AMD ทำได้ไม่ดีเลย ทางซ้ายของเครื่องซึ่งเป็นซีพียูนั้นร้อนตลอดเวลา ผมคาดว่าอาจจะเป็นเพราะการทำงานร่วมกับลินุกซ์ยังไม่สมบูรณ์นักอีกสาเหตุ
แรม 4GB ให้ประสบการใช้งานที่ดีขึ้นมาก ผมสามารถเปิดแท็บเว็บได้ "แทบ" จะเหมือนในเครื่องหลักแต่อาจจะต้องระวังแท็บที่มีการใช้ซีพียูสูงๆ อยู่บ้าง
ผมเองมีแท็บเล็ตใช้งานอยู่ด้วย และพบว่าสำหรับงานที่ต้องการการพิมพ์มากๆ เช่นตัวผมเอง การซื้อเน็ตบุ๊กราคาถูกยังคุ้มค่ากว่ามากครับ