ลองเล่นโทรศัพท์สามมิติ LG Optimus 3D

by lew
14 August 2011 - 19:46

ช่วงนี้เทคโนโลยีที่กำลังวัดใจว่าจะอยู่หรือจะไปกันในระบบบันเทิงทั้งหลายคือการแสดงภาพสามมิติที่ใช้กันตั้งแต่ในโรงภาพยนตร์, เกม, ทีวี, และจนตอนนี้มันมาถึงโทรศัพท์มือถือแล้ว ผมเองแม้จะได้ดูหนังสามมิติอยู่เรื่อยๆ แต่ก็คิดไม่ออกว่าหากมันไม่ใช่การ "ไปดู" ในโรงแต่อุปกรณ์ที่เราใช้อยู่ทุกวันเช่นมือถือหรือคอมพิวเตอร์เป็นสามมิติจริงๆ มันจะใช้งานได้จริงแค่ไหน งานนี้พอดีหายืมเครื่อง LG Optimus 3D มารีวิวได้เลยเอามาลองใช้งานดู

ก่อนอื่นคือบทความนี้ไม่ใช่การรีวิวเต็มรูปแบบแต่เป็นการทดลองใช้งานโทรศัพท์ที่มีหน้าจอและ UI เป็นสามมิติมากว่า เนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลาของผมเองในช่วงนี้นะครับ แต่แนะนำตัว LG Optimus 3D กันสักหน่อย

เสปค

LG Optimus 3D เป็นโทรศัพท์ในรุ่นสูงเช่นเดียวกับ LG Optimus 2X มันใช้ชิป TI OMAP4430 ที่เป็น ARM Cortex A9 ทำงานสูงสุดที่ 1GHz แรม 512MB และหน่วยความจำแฟลชภายใน 8GB หน้าจอ

หน้าจอสามมิติขนาด 4.3 นิ้ว พร้อมซอฟต์แวร์ LG 3D UI ที่เป็นเมนูหลักสำหรับรวมซอฟต์แวร์ที่เป็นสามมิติที่แถมมากับเครื่อง

รูปร่างภายนอก

รูปร่างภายนอกและวัสดุของ LG Optimus 3D ทำให้ผมนึกถึงโทรศัพท์รุ่นอื่นๆ ของ LG ได้เป็นอย่างดี ด้วยฝาหลังพื้นผิวสากเล็กน้อย และด้านหน้าที่เรียบเป็นแผ่นเดียว

LG Optimus 3D เป็นโทรศัพท์ที่แสดงความเป็นสามมิติทั้งตัวตั้งแต่กล้องสองตัวด้านหลัง สัญลักษณ์ 3D Stereoscopic ที่เด่นกว่าโลโก้ LG เองเสียอีก ที่หนักกว่าทั้งหมดคงเป็นปุ่มที่น่าจะเป็นชัตเตอร์กล้อง แต่มันกลับเป็นปุ่ม 3D เพื่อเปลี่ยนโหมดกล้องจากสองมิติเป็นโหมดสามมิติ

จอภาพสามิติ

LG Optimus 3D มาพร้อมกับจอภาพ 800x480 มาตรฐานปรกติสำหรับโทรศัพท์รุ่นสูงสักหน่อย แต่ในโหมดการทำงานสามมิตินั้นจะต้องวางจอภาพเป็นแนวนอนเท่านั้น โดยมันจะแบ่งพิกเซลในแต่ละคอลัมภ์มาแสดงภาพสำหรับตาซ้ายและขวา ทำให้จอภาพเวลาแสดงภาพสามมิติแล้วความละเอียดจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อจำกัดใหญ่สองข้อนี้อาจจะเป็นการบ้านให้ผู้ผลิตจอภาพต้องทำการบ้านกันอีกมาก โดยในจอความละเอียดสูงเช่นโน้ตบุ๊กนั้นการลดความละเอียดไปเพื่อนำพิกเซลครึ่งหนึ่งมาแสดงภาพสามมิติไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก แต่ในจอที่ความละเอียดไม่สูงเช่นในโทรศัพท์มันจะมีผลค่อนข้างมาก ส่วนปัญหาที่ใหญ่กว่าคือการใช้ในแนวตั้งที่เป็นท่าปรกติในการใช้โทรศัพท์ แต่พอเป็นจอสามมิติเมื่อใช้ในแนวตั้งแล้วก็ไม่สามารถแสดงผลพิเศษอะไรได้

การใช้งานจริงพบว่าต้องเล็งระยะให้ตรงกับระยะที่จอออกแบบไว้ ไม่ใช่นั้นแล้วภาพก็จะเริ่มซ้อนๆ กันมองไม่เป็นสามมิติ ชวนให้ปวดหัว ตรงนี้หลายคนรอบตัวผมมาลองใช้แล้วบอกผมว่า "นึกออกแล้วว่าทำไม Nintendo 3DS ขายไม่ดี"

กล้อง

กล้องสองตัวใช้จับภาพจากสองมุมมองแบบเดียวกับที่สายตาของเรามองภาพจริงๆ ไฟล์ที่ได้จากกล้องนั้นจะเป็นไฟล์ .jps ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือภาพ JPEG ธรรมดา ในกรณีที่โปรแกรมไหนอ่านไฟล์ .jps ไม่ออกก็เปลี่ยนนามสกุลไฟล์ได้เลย

ที่น่าสนใจคือไฟล์นี้เมื่อเปิดมาแล้วเป็นสองภาพ ถ้าใครสามารถทำ "ตาเข" เพื่อมองภาพสามมิติได้ ภาพนี้ก็ทำได้เหมือนกัน

ไฟล์วิดีโอก็เช่นเดียวกัน คือเป็นไฟล์ .mp4 ธรรมดาที่มีวิดีโอสำหรับตาซ้ายขวา แต่กรณีของไฟล์วิดีโอนั้น YouTube จะรู้ว่าเป็นวิดีโอสามมิติและแปลงให้เอง หากจอภาพเราเป็นสามมิติเช่นใน LG Optimus 3D ก็จะแสดงภาพสามมิติได้เอง หรือหากไม่มีจอภาพสามมิติก็สามารถใส่แว่นเพื่อดูภาพได้เหมือนกัน ตรงนี้สำคัญมากเพราะเราจะมีช่องทางแชร์เนื้อหาที่เป็นสามมิติให้กับคนที่ไม่มีจอสามมิติได้สะดวกมาก

ความรู้สึกจากการใช้งาน

อย่างที่บอกไว้แล้วว่าผมขอยืมเครืองนี้มาเพื่อทดสอบการใช้งานจอภาพสามมิติเป็นหลัก ส่วนใหญ่ใช้เล่นเกมสามมิติและดูวิดีโอ (น่าสนใจว่า channel ของทาง LG สำหรับวิดีโอสามมิตินั้นดูในเมืองไทยไม่ได้) พบว่าจอภาพสามมิตินั้นมี "คุณค่า" ในตัวมันเองเช่นเดียวกับการดูภาพยนตร์ในโรงสามมิติที่หาก เนื้อหาถูกสร้างมาเป็นสามมิติแล้ว ความสนุกโดยรวมก็จะดีกว่าการรับชมด้วยภาพสองมิติธรรมดาพอสมควร

อย่างไรก็ตามปัญหาความล้าของสายตายังมีผลอย่างมาก โดยเฉพาะจอภาพที่ไม่ต้องใส่แว่นเช่นนี้ ทางเดียวที่เราจะมองภาพโดยไม่เห็นภาพซ้อนได้คือการวางเครื่องไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งพอเป็นโทรศัพท์เราก็มักจะถือเครื่องห่างไป หรือใกล้เกินไปเป็นเรื่องปรกติ ภาวะเช่นนี้ทำให้เวลาที่ระยะหลุดออกจากระยะที่มองเห็นภาพสามมิติภาพก็จะเบลอจนทำให้สายตาล้าเร็วขึ้นไปอีก ตรงนี้ผมเชื่อว่าอนาคตหากจอภาพสามมิติยังได้รับความนิยมต่อไป ผู้ผลิตน่าจะใช้จอภาพด้านหน้ามาจับระยะสายตาผู้ใช้เช่นเดียวกับโน้ตบุ๊กสามมิติของโตชิบา

อย่างที่บอกแล้วว่าจอภาพสามมิติในตอนนี้ยังไม่สามารถแสดงผลในแนวตั้งได้ เรื่องหนึ่งที่น่าจะเป็นข้อจำกัดคือการใช้ accelerometer เพื่อควบคุมเกมที่เป็นเรื่องปรกติในโทรศัพท์จะทำไม่ได้ทันที เพราะหากจอภาพไม่อยู่แนวนอนพอดีแล้วภาพก็จะเบลอ เทคโนโลยีจอภาพสามมิติคงต้องการการพัฒนา "อีกขั้น" เพื่อที่จะใช้งานกันเป็นเรื่องปรกติได้จริงๆ

Blognone Jobs Premium