กูเกิลยอมจ่ายค่าปรับจำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ในกรณีอนุญาตให้มีการโฆษณายาจากประเทศแคนาดา ซึ่งส่งผลให้มีการนำเข้ายามายังสหรัฐอย่างผิดกฏหมาย
กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐให้เหตุผลว่า การนำเข้าใบสั่งยาจากต่างประเทศนั้นผิดกฏหมายเนื่องจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐ หรือ FDA ไม่สามารถยืนยันได้ว่ายาเหล่านั้นจะมีความปลอดภัยและได้ผลในการรักษาจริง และยังกล่าวเพิ่มเติมว่า "กูเกิลรับรู้มาโดยมาตลอดว่า การนำเข้าใบสั่งยาจากภายนอกสหรัฐนั้นผิดกฏหมาย แต่ธุรกรรมเหล่านี้ก็ได้สร้างผลประโยชน์ให้กับกูเกิลจากการโฆษณา และในขณะที่บริษัทยาของแคนาดาก็ได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการขายยาออนไลน์กับคนอเมริกัน"
James Cole รองอัยการสูงสุด (Deputy Attorney General) กล่าวว่า "การยอมความในครั้งนี้จะทำให้มั่นใจได้ว่ากูเกิลจะยอมปรับเปลี่ยนวิธีการโฆษณาใหม่ เพราะต้องจ่ายเงินค่าปรับที่ถือเป็นหนึ่งในครั้งที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์"
กูเกิลกล่าวในอีเมล์แถลงการณ์วันนี้ว่า "เราได้ทำการแบนการโฆษณายาที่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ในสหรัฐมานานแล้ว โดยเฉพาะยาที่มาจากบริษัทยาในแคนาดา แต่อย่างไรเราก็ไม่ควรจะลงโฆษณาเหล่านี้บนกูเกิลตั้งแต่แรก"
ทั้งนี้กูเกิลมีรายได้จากปีก่อน 29.3 พันล้านเหรียญสหรัฐซึ่งเกือบทั้งหมดมาจากการโฆษณา ซึ่งกูเกิลเคยกล่าวไว้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่าได้เตรียมตัวกันเงินก้อนนี้เพื่อยุติคดีความครั้งนี้ไว้แล้ว
ที่มา: Bloomberg
(ความเห็นผู้แปล: ธุรกิจที่เกี่ยวข้องสุขภาพในสหรัฐเป็นธุรกิจเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาล โดยเฉพาะธุรกิจยา แต่ด้วยราคายาในสหรัฐมีราคาที่สูงมากกว่าเมื่อเทียบกับยาเดียวกันที่ผลิตในต่างประเทศ และแน่นอนว่าแพงกว่ายาที่ผลิตในประเทศข้างบ้านอย่างแคนาดา เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่สูงมาก เลยทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรักษาพยาบาลโดยเฉพาะคนที่ไม่มีประกันสุขภาพ ดังนั้นคนอเมริกันหลายคนถึงขั้นยอมเดินทางข้ามไปแคนาดาเพื่อไปรักษาและซื้อยากลับมายังสหรัฐ และไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศเป้าหมายด้วยเช่นกัน ดังนั้นการฟ้องร้องในครั้งนี้นอกจากจะเป็นเรื่องของกฏหมายโดยเฉพาะความปลอดภัยของยาแล้ว แน่นอนว่าอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของบริษัทยาในสหรัฐด้วยก็เป็นได้ ถ้าอยากรู้ว่าธุรกิจยาในสหรัฐเป็นยังไงให้ลองดูหนังเรื่อง Love and Other Drugs หรืออ่านจาก Washington Post, Wikipedia แล้วจะพอเห็นภาพ)