ห้องวิจัย IBM สร้างไดรฟ์ต้นแบบขนาด 120 petabyte สำหรับซูเปอร์คอมพิวเตอร์

by mk
29 August 2011 - 04:17

ห้องวิจัยของบริษัท IBM ที่เมือง Almaden ประสบความสำเร็จในการสร้าง "ไดรฟ์" เก็บข้อมูลขนาด 120 PB (PB = petabyte = 1 ล้าน GB)

อย่าเพิ่งตกใจกับความจุมโหฬารของมัน เพราะไดรฟ์ตัวนี้สร้างจากฮาร์ดดิสก์ปัจจุบันจำนวน 200,000 ตัวทำงานรวมกัน (จริงๆ ควรจะเรียกว่า storage array มากกว่า) เป้าหมายของมันคือเป็นไดรฟ์เก็บข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับงาน simulation ที่ซับซ้อน เช่น การพยากรณ์อากาศ

ความสำเร็จของ IBM อยู่ที่ความจุของไดรฟ์ที่ 120 PB เพราะก่อนหน้านี้มีไดรฟ์ที่ใหญ่ที่สุดเพียง 15 PB เท่านั้น วิศวกรของ IBM ได้พัฒนาเทคนิคด้านการเก็บข้อมูลขั้นสูงหลายอย่าง เช่น วิธีการวางฮาร์ดดิสก์ให้ใช้พื้นที่น้อยลง และการทำความเย็นด้วยน้ำแทนที่จะเป็นพัดลม

ส่วนเทคนิคด้านซอฟต์แวร์จะคล้ายๆ กับระบบไฟล์ของกูเกิล คือเก็บสำเนาไฟล์หลายชุดแยกกันเพื่อป้องกันดิสก์ อย่างไรก็ตามยังมีเทคนิคการย้ายไฟล์กรณีดิสก์เสีย เพื่อไม่ให้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ทำงานช้าลง โดยมีซอฟต์แวร์ส่วนที่ทำหน้าที่ย้ายไฟล์ระหว่างดิสก์โดยเฉพาะ เมื่อย้ายเสร็จแล้วค่อยนำดิสก์ชุดนั้นเข้าสู่ระบบ กระบวนการสำเนาข้อมูลแบบนี้จะป้องกันไม่ให้สูญเสียข้อมูลแม้แต่น้อย

ไดรฟ์ของ IBM ตัวนี้ยังสามารถใช้ระบบไฟล์ GPFS ที่ออกแบบมาให้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์เข้าถึงข้อมูลได้เร็ว โดยใช้เทคนิคกระจายไฟล์ข้ามดิสก์กัน เพื่อให้ไฟล์สามารถอ่านและเขียนพร้อมกันได้ (ทีมของ IBM เคยสร้างสถิติทำดัชนีไฟล์ 1 หมื่นล้านไฟล์ในเวลา 43 นาทีมาแล้ว)

Steve Conway ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงของ IDC ให้ความเห็นว่า เมื่อพูดถึงซูเปอร์คอมพิวเตอร์ คนมักจะสนใจสมรรถนะของซีพียูเป็นหลัก แต่ไดรฟ์สมรรถนะสูงแบบนี้ก็สำคัญขึ้นเรื่อยๆ เพราะปริมาณข้อมูลที่ต้องประมวลผลเพิ่มสูงขึ้นมาก และไดรฟ์แบบนี้น่าจะเป็นมาตรฐานในวงการซูเปอร์คอมพิวเตอร์ในไม่ช้า

ที่มา - MIT Technology Review

Blognone Jobs Premium