รีวิว iReed เครื่องอ่านอีบุ๊กจอ E Ink ที่รองรับภาษาไทย (ในระดับหนึ่ง)

by mk
30 August 2011 - 09:50

เครื่องอ่านอีบุ๊กถือเป็นอุปกรณ์อีกประเภทที่ได้รับความนิยมแบบเงียบๆ ในบ้านเรา ถึงแม้จะไม่โด่งดังขนาดแท็บเล็ตพีซี แต่ก็มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เริ่มซื้อหาเครื่องอ่านอีบุ๊กมาใช้งาน นอกจาก Kindle ที่เป็นอุปกรณ์ยอดนิยมแล้ว ยังมีเครื่องอ่านยี่ห้ออื่นๆ อีกไม่น้อย เช่น NOOK หรือ Sony Reader

แต่ปัญหาสำคัญของเครื่องอ่านอีบุ๊กเหล่านี้คือการรองรับภาษาไทย ทั้งเรื่องฟอนต์และการตัดคำ ซึ่งตอนนี้ยังเรียกได้ว่าห่างไกลกับ "อ่านไทยได้สมบูรณ์" อยู่มาก

ช่องว่างทางการตลาดตรงนี้จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย และผมได้รับการติดต่อจาก ห้างหุ้นส่วน ฟิวเจอร์ โซลูชั่นส์ ส่งเครื่องอ่านอีบุ๊กจอ E Ink ที่พัฒนาให้รองรับภาษาไทยชื่อ iReed มาให้ลองเล่น เลยเป็นที่มาของรีวิวชิ้นนี้ครับ

หน้าตา

หน้าตาของ iReed นั้นใกล้เคียงกับ Kindle มาก (เป็นลูกผสมของ Kindle 2 กับ Kindle 3) สอบถามจากผู้จำหน่าย พบว่าเป็นเครื่อง E Ink ที่จ้างผลิตในจีน แล้วเพิ่มเฟิร์มแวร์ที่รองรับภาษาไทยลงไป

คีย์บอร์ดยังมีเฉพาะภาษาอังกฤษ การใช้งานโดยรวมก็ไม่ต่างอะไรกับ Kindle คือใช้จอยสติ๊กและเมนูเป็นหลัก (จอยสติ๊กจะเป็นแบบ Kindle 2 ไม่ใช่ปุ่มแบบ Kindle 3)

ด้านใต้ของตัวเครื่องเป็นพอร์ตเชื่อมต่อ คือ ช่องเสียบหูฟัง และ Mini USB (ไม่ใช่ Micro USB สมัยนี้อาจจะหาสายยากขึ้นสักหน่อย)

ด้านข้างของตัวเครื่องไม่มีอะไรพิสดาร มีปุ่มเพียงปุ่มเดียวคือปุ่มเปิดเครื่องที่ฝั่งขวาบน

ด้านหลังไม่มีอะไร ยกเว้นลำโพงซ้ายขวา

ลองถือแล้วขนาดเหมาะมือ ไม่ต่างอะไรกับ Kindle หน้าจอก็เป็น E Ink มาตรฐาน

เทียบขนาด

เทียบขนาดกับ Kindle 3 จะเห็นว่า iReed มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย (เล็กน้อยจริงๆ) ความรู้สึกโดยรวมไม่ต่างกัน

เทียบความหนา iReed หนากว่าเล็กน้อย

ลองวางเทียบกัน จะเห็นว่า iReed ยาวกว่านิดเดียว

ลองเทียบกับ Galaxy Tab รุ่น 7 นิ้วดูบ้าง

iReed ใหญ่กว่าเล็กน้อย แต่บางและเบากว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ

อุปกรณ์เสริม

อุปกรณ์ที่มาในกล่อง มีซองหนังมาให้ด้วย โดยรวมใช้งานได้ดี ยกเว้นเรื่องสีขาวน่าจะเปื้อนง่ายถ้าใช้ไปนานๆ

สาย Mini USB to USB พร้อมหัวปลั๊กเสียบ นอกจากนี้ยังมีชุดหูฟังมาตรฐานด้วย (ไม่อยู่ในภาพ)

การใช้งาน

การใช้งาน iReed ก็คล้ายกับ Kindle คือเป็นระบบเมนู โดยเมนูของ iReed แบ่งเป็นสองหน้า ภาพแรกคือเมนูหน้าแรก

  1. Recent รายการเอกสารที่อ่านล่าสุด
  2. Books อีบุ๊ก และไฟล์เอกสารต่างๆ
  3. Music ฟังเพลง MP3
  4. Pictures ดูรูปภาพ
  5. Memo... ดูไฟล์ทั้งหมดในหน่วยความจำ (บางไฟล์อาจจะไม่รองรับ)
  6. Memo จดบันทึก
  7. Annotation รวมโน้ตที่เราบันทึกไว้ในอีบุ๊ก
  8. Dictionary พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย

หน้าสอง

  1. Radio วิทยุ (ต้องเสียบหูฟัง)
  2. Calendar ปฏิทิน
  3. Network เซ็ต Wi-Fi และเบราว์เซอร์
  4. Games เกมง่ายๆ มีให้ 2 เกม
  5. Settings ตั้งค่า
  6. Manual คู่มือ
  7. Shutdown ปิดเครื่อง

การอ่านอีบุ๊กด้วย iReed นั้นตรงไปตรงมาครับ คือเสียบสาย Mini USB เข้ากับพีซี แล้วมันจะทำตัวเป็น mass storage device สามารถลากไฟล์ไปใส่ได้เลย

iReed ยังรองรับการเพิ่มไฟล์ด้วยวิธีนี้วิธีเดียว ไม่มีแนวคิด Online Store แบบของ Kindle หรือ NOOK

หลังจากใส่ไฟล์ลงในเครื่องแล้ว จะเห็นรายการไฟล์พร้อมไอคอนบอกว่าเป็นไฟล์อะไร สังเกตว่าชื่อไฟล์ภาษาไทยแสดงผลได้ดีไม่มีปัญหา

ทดสอบภาษาไทย

ประเด็นเรื่องภาษาไทยเป็นจุดที่น่าจับตาที่สุดของ iReed ผมเลยทดสอบโดยสร้างไฟล์ภาษาไทยหลายๆ ฟอร์แมต แล้วนำไปเปิดดูใน iReed ว่าผลเป็นอย่างไรบ้าง

เอกสารที่เลือกใช้คือ คำประกาศของนิติราษฏร์ ฉบับ ๒๘ (วรเจตน์ ภาคีรัตน์) เนื่องจากว่าเอกสารมีความยาวในระดับหนึ่ง มีลักษณะเป็นบทความที่ตัวอักษรติดๆ กัน (และไม่อยากใช้บทความของ Blognone เอง เดี๋ยวจะหาว่าขายของมากเกินไป)

แรกสุดคือแปลงเป็นไฟล์ .doc ผลปรากฏว่าสระบน-ล่างหายไป และตัดคำไม่ได้ (ลองแปลงเป็น .odt พบว่าอ่านไม่ได้เลย)

ถัดมาลองแปลงเป็นไฟล์ .txt ผลคืออ่านได้สวยงาม ตัวอักษรคมชัด แต่ตัดคำไม่ได้ครับ และบรรทัดที่ยาวเกินความกว้างของหน้าจอ จะยาวตกขอบจอไปเลย

แปลงเป็นไฟล์ PDF สามารถอ่านได้สวยงาม แต่ถ้าจะอ่านจริงๆ คงต้องปรับ PDF ให้พอดีกับขนาดหน้าจอ จะได้ไม่ต้องเลื่อนหน้าบ่อยๆ

เซฟแบบ HTML Complete แล้วนำก็อปปี้ไปทั้งโฟลเดอร์ พบว่าแสดงรูปภาพได้ด้วย แต่ก็ตัดคำไม่ได้

ลองไฟล์ชนิดอื่นๆ บ้าง อันนี้เป็น PowerPoint เปิดได้นะครับ แต่มีปัญหาเรื่องสระบน-ล่าง เหมือนกับ .doc

สุดท้ายคือ EPUB ผมลองดาวน์โหลดไฟล์ EPUB ภาษาไทยที่แจกในเว็บ
WeRead มาทดสอบ จะเห็นว่าการฝังฟอนต์ใช้งานได้ แต่ยังตัดคำไม่ได้อยู่ดี

สรุปก็คือ iReed นั้นรองรับฟอนต์ภาษาไทย แต่ยังมีปัญหาเรื่องการตัดคำ และการอ่านไฟล์ของ Microsoft Office ครับ

เท่าที่ลองดูในหน้า Settings พบว่าใช้ฟอนต์ TLWG Typist และมีฟอนต์ Droid Sans ให้เป็นทางเลือก

การอ่านเอกสารภาษาอังกฤษ

โดยรวมไม่มีปัญหา ยิ่งถ้าเป็นฟอร์แมตสำหรับเครื่องอ่านอีบุ๊กอยู่แล้ว

ผมลองโหลด EPUB ภาษาอังกฤษจาก Project Gutenberg มาทดสอบ ก็พบว่าอ่านได้ดี สวยงาม

ไฟล์ PDF นั้นอ่านได้อยู่แล้ว แต่ก็มีฟังก์ชัน reflow ช่วยจัดข้อความให้พอดีกับหน้าจอด้วย ลองดูภาพเปรียบเทียบระหว่าง PDF ต้นฉบับ (ซ้าย) และหลังสั่ง reflow แล้ว (ขวา)

แต่บางที reflow ก็ไม่สำเร็จ 100% ดูได้จากเอกสารรายงานของ Distimo สั่งแล้วกราฟหายไปเลย

ฟีเจอร์อื่นๆ

พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย อันนี้ใช้งานได้ดีเยี่ยม

ปฏิทิน แสดงได้โหมดเดียวดังภาพคือ เรียงเดือนทั้ง 12 เดือนพร้อมกันในหน้าจอเดียว เหมือนกับปฏิทินแขวนฝาผนัง

เบราว์เซอร์ (ทำงานผ่าน Wi-Fi) ลองเปิด Blognone แล้วเละ แต่เปิดเว็บ BBC ปรากฎว่าสวยงามมาก

เกมที่แถมมาด้วยมี 2 เกมคือ Mines กับ Gobang ตามภาพอันนี้คือ Mines เวอร์ชันจอ E Ink

สรุป

โดยรวม iReed เป็นเครื่องอ่านอีบุ๊กหน้าจอ E Ink แบบที่ไม่ต้องต่อเน็ต (ใช้การลากไฟล์มาใส่แทนการซื้อจาก Online Store แบบ Kindle) ที่น่าสนใจตัวหนึ่ง อย่างไรก็ตามมันยังมีปัญหาเรื่องภาษาไทยอยู่พอสมควร และยังไม่เหมาะกับการซื้อมาอ่านไฟล์ภาษาไทยมากนัก (ผมแจ้งปัญหาเหล่านี้ไปยังผู้ขายแล้ว ต้องรอการแก้ไขผ่านเฟิร์มแวร์ในอนาคตต่อไป)

ถ้าตัดเรื่องภาษาไทยออกไป iReed คงไม่ต่างอะไรกับเครื่องอ่าน E Ink รุ่นอื่นๆ ที่ไม่ใช่ Kindle (เช่น พวก Sony Reader) แต่จุดขายที่มีคงเป็นเรื่องมีตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ไม่ต้องหิ้วมาเหมือนเครื่องยี่ห้ออื่นๆ ถ้าไม่เน้นอ่านภาษาไทย และไม่ชอบระบบปิดของ Kindle ก็ถือว่าเป็นตัวเลือกอีกตัวที่น่าสนใจครับ

ราคา 6,900 บาทไม่รวมแวท เริ่มขายวันที่ 16 กันยายนนี้ผ่านเว็บไซต์ ebookforyou.biz และเห็นว่าจะมีช่องทางจำหน่ายแบบออฟไลน์อื่นๆ ตามมา

Blognone Jobs Premium