หลังจากไมโครซอฟท์เปิดบล็อก Building Windows 8 และเผยฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่าง Windows Explorer "Ribbon" หรืออินเทอร์เฟซ Metro ก็สร้างกระแสวิจารณ์ทั้งบวกและลบ จนหัวหน้าทีมวินโดวส์ Steven Sinofsky ต้องเขียนบล็อกอธิบายเรื่อง Metro/Desktop ไปแล้วครั้งหนึ่ง
แต่กระแสวิจารณ์ดูจะยังไม่จบ (โดยเฉพาะเรื่อง Ribbon) ทำให้ Sinofsky ต้องเขียนบล็อกอธิบายอีกครั้ง เขาแบ่งบล็อกเป็นสองตอนคือ ภาค 1 และ ภาค 2 แต่เนื้อหาต่อกัน
ใจความโดยรวมของ Sinofsky ก็คือ การเผยเฉพาะ "ภาพ" หรือ "วิดีโอ" ของ UI ใหม่ทำให้คนเข้าใจผิด เพราะบางอย่างต้องลองใช้จริงๆ จึงจะรู้เรื่อง เขาเปรียบเทียบว่าเหมือนกับเห็นภาพนิ่งของหนังแล้วตัดสินใจว่าเรื่องราวของมันเป็นอย่างไร
Sinofsky บอกว่าทีมวินโดวส์รับฟังความเห็นของผู้ใช้ในบล็อก Building Windows 8 รวมถึงทวิตเตอร์และอีเมล เขาบอกว่ามีทีมงานระดับอาวุโสกว่า 20 คนคอยตอบคำถามผ่านคอมเมนต์ในบล็อก และขอให้ทุกคนแสดงความเห็นเข้ามาเยอะๆ เพราะบล็อก Building Windows 8 เป็นที่สนใจของพนักงานไมโครซอฟท์อย่างมาก
Sinofsky อธิบายประเด็นเด่นๆ อีก 3 ประเด็น ดังนี้
เขาบอกว่า Ribbon เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของ Windows Explorer เท่านั้น เขาบอกว่าทีมงานคาดอยู่ก่อนแล้วว่า จะมีคอมเมนต์ "เกลียด Ribbon" เยอะเป็นพิเศษ ซึ่งก็เกิดขึ้นจริงๆ
Sinofsky อธิบายว่าถึงแม้ Ribbon จะเป็นประเด็นถกเถียงว่าดีหรือไม่ดี เหมาะสำหรับผู้ใช้หน้าใหม่หรือผู้ใช้ระดับสูงกันแน่ แต่ผลิตภัณฑ์อื่นของไมโครซอฟท์ที่ใช้ Ribbon นั้นได้รับคะแนนความพึงพอใจสูงกว่าปกติมาก และสถิติก็บอกว่าคนใช้จริงๆ เยอะ
เหตุผลของการเลือก Ribbon คือการนำคำสั่งต่างๆ ออกมาแสดงให้เห็นชัด และลดจำนวนกลไกต่างๆ ของ UI ลง (เช่น แท็บหรือเมนู) เขาอธิบายว่าไมโครซอฟท์ต้องการ "ทำให้ง่าย" (simplifying) แต่ "การทำให้ง่ายไม่ใช่การซ่อนคำสั่งไม่ให้เห็น" (hiding is not simplifying) โดยเปรียบเทียบกับเมนูแบบซ่อนรายการที่ไม่ค่อยได้ใช้ (adaptive menu) ใน Office 2000 ที่ได้รับเสียงตอบรับแย่มากจากผู้ใช้ ว่าเป็นบทเรียนที่ไมโครซอฟท์เรียนรู้
Sinofsky บอกว่าทีมวินโดวส์จะปรับปรุง Ribbon ของ Windows Explorer ต่อไป โดยจัดกลุ่มคำสั่งให้ดีขึ้น และเลือกคำสั่งให้เหมาะสมมากขึ้น และขอให้ผู้ใช้ส่งความเห็นเข้ามาเรื่อยๆ โดยยืนยันว่าเป้าหมายของไมโครซอฟท์คือ "UI แบบสะอาด" เช่นกัน
เขายอมรับว่ายังไงก็คงมีผู้ใช้บางกลุ่มที่ไม่พอใจ แต่เป็นผู้ใช้กลุ่มเล็กๆ เท่านั้น และไม่ว่าไมโครซอฟท์จะทำอะไร ก็จะมีผู้ใช้กลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจอยู่ดี
Sinofsky บอกว่าวิดีโอแนะนำ Windows 8 ครั้งแรกที่ใช้สไตล์ Metro ได้รับเสียงตอบรับดี คนดูกว่า 6 ล้านครั้ง แต่นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของ Metro เท่านั้น
Sinofsky บอกว่าตอนนี้คนเริ่มเข้าใจผิดว่า Aero = ของเก่า และ Metro = ของใหม่ และควรเปลี่ยนของเก่าเป็นของใหม่ให้หมด เขาจึงขออธิบายว่า Metro เป็นแอพชนิดใหม่ ที่พัฒนาจากแอพแบบปัจจุบัน ซึ่งจะประกาศเรื่องนี้ในงาน BUILD (13-16 ก.ย. นี้)
ส่วนประเด็นเรื่องความแตกต่างของ UI แบบ desktop กับ Metro นั้น เขาอธิบายว่าแม้แต่ระบบ desktop เองก็มีความหลากหลายสูงมาก ไมโครซอฟท์รู้เรื่องนี้ดี และเคยพยายามจัดระเบียบให้ UI ของโปรแกรมต่างๆ มีหน้าตาคล้ายๆ กัน ซึ่งก็ไม่เคยสำเร็จ เพราะวินโดวส์เป็นระบบปฏิบัติการที่เปิดกว้างในเรื่อง UI เสมอมา
ดังนั้นเขาเชื่อว่าถึงแม้โปรแกรมแบบเก่าๆ กับ Metro จะหน้าตาไม่เหมือนกัน แต่มันสามารถใช้ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา ในแง่การใช้งาน มันสามารถทำงานร่วมกันได้เหมือนโปรแกรมปกติ ไม่ว่าจะเป็นการกด Alt+Tab เพื่อสลับโปรแกรม, การ copy/paste ข้ามกัน, หรือแม้แต่โปรแกรมเก่าๆ ที่ใส่ตัวตั้งค่าไว้ใน Control Panel จะยังใช้งานได้เหมือนเดิม
ประเด็นสุดท้ายที่ Sinofsky พูดถึงคือ Windows Media Center ซึ่งไม่มีใน Windows 8 รุ่นทดสอบ แต่เขายืนยันว่ามันจะมีใน Windows 8 บาง edition/SKU อย่างแน่นอน (เหมือนกับที่ปัจจุบัน Windows 7 ก็มีเพียงบางรุ่นที่มี Windows Media Center)
เขาบอกว่าการตัดสินใจเลือกว่าฟีเจอร์ใดหรือโปรแกรมใด จะอยู่ใน edition ไหนเป็นสิ่งที่ไมโครซอฟท์ตัดสินใจตอนใกล้จะพัฒนาเสร็จแล้ว สำหรับฟีเจอร์เก่าที่ไมโครซอฟท์ยังไม่ตัดสินใจเลือกใส่ ได้แก่ Media Center, เกมของ Windows 7, DVD Creator, ตัวติดตั้งการอัพเกรด, Dot Net 3.5
Sinofsky เผยสถิติการใช้ Windows Media Center ว่าผู้ใช้ Windows 7 จำนวน 6% ใช้งานฟีเจอร์นี้ โดยประเทศที่ใช้เยอะที่สุดคือรัสเซีย เม็กซิโก บราซิล และมีเพียง 25% ของ 6% ที่ใช้งานนานกว่า 10 นาทีต่อครั้ง ส่วนงานที่ใช้มากที่สุดคือการดูทีวี ในขณะที่การดูแผ่นซีดีและดีวีดีเริ่มมีการใช้งานลดลง
ที่มา - Building Windows 8 (ภาค 1) และ Building Windows 8 (ภาค 2)