การดำเนินทำธุรกิจด้วยโอเพนซอร์ส

by bow_der_kleine
7 September 2011 - 09:53

เหมือนจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว เมื่อมีข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างซอฟแวร์ที่ฝั่ง โอเพนซอร์ส (ต่อไปจะเรียก OSS) กับฝั่ง Proprietary Software (ต่อไปจะเรียก PS) ก็จะมีการถกเถียง แลกเปลี่ยนประเด็นและความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งส่วนมากก็มักจะเป็นประเด็นเดิม ๆ หัวข้อเดิม ๆ ที่ผมอ่านมาตั้งแต่เริ่มสนใจพัฒนาซอฟแวร์ใหม่ ๆ (ราว ๆ ปี 2002 เห็นจะได้)

จากการลงข่าว WikiLeaks: ไมโครซอฟท์และ BSA กังวลต่อแนวทางโอเพนซอร์สของไทย ใน blognone และก็เหมือนทุก ๆ ครั้งที่ผ่านมา ก็จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งพอจะสรุปเป็นความคิดเห็นมีอยู่ 2 ประเด็นหลัก ๆ ดังนี้

หมายเหตุ บทความนี้ดัดแปลงจากบทความ Business Model for Open Source Software เผยแพร่ที่ XimpleSoft

  1. quality & usability คนที่สนับสนุน PS มักจะตั้งป้อมไว้ว่า OSS ส่วนมากคุณภาพต่ำ ไม่เสถียร ไม่สมบูรณ์ ใช้ยาก มีฟังก์ชันต่าง ๆ ไม่ครบส่วนคนที่สนับสนุน OSS มักยืนยันว่าไม่จริง เพราะเราก็ใช้อยู่ ที่คุณว่าใช้ยาก เพราะคุณไม่คิดจะเรียนรู้ต่างหาก
  2. การทำธุรกิจ คนที่สนับสนุน PS มักจะคิดว่า OSS ไม่เหมาะกับการทำธุรกิจ เพราะพัฒนาซอฟต์แวร์แล้วแจกฟรี บริษัทจะหารายได้จากไหน ส่วนคนที่สนับสนุน OSS ก็จะบอกว่า ไม่จริง เพราะหลาย ๆ บริษัทก็สามารถทำกำไรได้จาก OSS

สำหรับข้อมูลในส่วนของผู้ใช้ ที่น่าสนใจมากอีกแหล่งคือ Romance of the Three (Software) Kingdoms เป็นการนำเสนอภาพรวมของคนใช้ซอฟต์แวร์ 3 กลุ่มคือ OSS, PS และ ละเมิดลิขสิทธิ์

ขอออกตัวไว้ก่อนเลยครับว่า ผมเป็นคนสนับสนุน OSS สำหรับในเรื่อง usability ที่คนที่ใช้งาน PS พูดถึง ผมเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยบางส่วน เพราะซอฟต์แวร์หลาย ๆ ตัวที่เป็น OSS แล้วมี usability ที่ต่ำจริง ๆ เช่น GIMP, LibreOffice (ดันสำคัญทั้งสองตัวเสียด้วยสิ) หรือไม่เสถียรจริง ๆ เช่น Inkscape แต่ก็มี OSS อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีคุณภาพเทียบเท่า PS หรือบางตัวอาจดีกว่าด้วยซ้ำเช่น FireFox, Chromium, Drupal, Apache, PHP, MySQL, PostgreSQL (ทำไมมันเกี่ยวกับเว็บไซท์หมดเลยหว่า?) เรื่องนี้ผมยืนยันว่า หากจำเป็นต้องใช้งาน PS โดยเฉพาะคนที่ใช้ PS เป็นเครื่องมือทำมาหากิน ก็จำเป็นต้องซื้อ อย่าละเมิดลิขสิทธิ์

มาเข้าถึงประเด็นสำคัญคือ Business Model หรือวิธีการทำธุรกิจด้วย OSS ผมไม่เห็นด้วยแน่นอนว่า OSS ไม่เหมาะกับการทำธุรกิจ โดยดูได้จากตัวอย่างบริษัทไอทีมากมายทั่วโลก ที่ใช้ OSS เป็นส่วนขับเคลื่อน มากบ้าง น้อยบ้าง ตามแต่นโยบายของแต่ละที่ ซึ่งผมขอแยกลักษณะการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ OSS ดังนี้

OSS ในฐานะเครื่องมือ

บริษัทไอทีจำนวนมากจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ได้ใช้ OSS เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนธุรกิจของบริษัท หากจะให้ยกตัวอย่างยักษ์ใหญ่ก็มี

  • Facebook ที่ Platform ของ Facebook เกือบทั้งหมดสร้างขึ้นจาก OSS (PHP, Cassandra, HipHop) แล้วมาปรับแต่งบางส่วนให้เหมาะสมกับการใช้งาน
  • Twitter คล้าย ๆ Facebook
  • Apple ระบบปฏิบัติการ Mac OS X มีรากฐานมาจาก FreeBSD

และยังนับรวมถึงบริษัทที่ใช้ PHP, Java, MySQL, Linux, Apache, Drupal, Joomla, etc. เป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจ หากพิจารณาบริษัทไอทีที่ทำงานเกี่ยวกับ web-based ผมไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่เดาว่ามีบริษัทเกินครึ่ง ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ OSS ในฐานะเครื่องมือ ข้อดีของการใช้ OSS ในฐานะเครื่องมือคือ

  • ประหยัดงบประมาณ อันนี้ชัดเจนตรงตัว
  • อิสรภาพในการทำงาน ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก แต่หลายคนมองข้าม ลองนึกดูว่าเราต้องทำงานด้วย PS ที่ต้องซื้อลิขสิทธิ์ และติดตั้งได้บนจำนวนเครื่องที่จำกัด หากวันหนึ่ง เราต้องทำงานด้วยเครื่องอีกเครื่องหนึ่ง (เช่น ทำงานนอกสถานที่) ซึ่งไม่ได้ลงเครื่องมือที่เราใช้ เราจะทำอย่างไร แต่หากเราใช้ OSS เป็นเครื่องมือ เพียงแค่มีอินเทอร์เนต เราก็สามารถทำงานได้บนทุกเครื่องที่เราต้องการ
  • การสร้างบุคลากร หากเครื่องมือที่ใช้ในบริษัท เป็นเครื่องมือที่หาง่าย ราคาถูก การสร้างบุคลากรก็ง่ายขึ้นด้วย เพราะเป็นการลดความเสียงในการลงทุนเพื่อการศึกษา ดังนั้น จะเห็นได้ว่าบริษัท PS จำนวนมาก พยายามออกซอฟต์แวร์เวอร์ชันฟรี หรือราคาถูกเพื่อการศึกษา เพื่อที่จะได้สร้างบุคลากรสำหรับซอฟต์แวร์ของตนเอง

ซึ่งแน่นอนว่าหน้าที่ของ OSS ในลักษณะนี้ เราจะคาดหวังให้บริษัทต่าง ๆ contribute หรือมีส่วนร่วมในงานบางอย่าง เพื่อกลับไปสู่โครงการ OSS คงไม่ได้ แต่ส่วนมากแล้วบริษัทต่าง ๆ จะมีส่วนร่วมกับโครงการ OSS เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง เพื่อพัฒนา OSS ที่ใช้เป็นเครื่องมือ ในส่วนที่ยังตอบโจทย์ของบริษัทได้ไม่ดีนัก การมีส่วนร่วมลักษณะนี้ถือว่าเป็นการสร้างผลประโยชน์ต่างตอบแทนที่ดีมากวิธีหนึ่ง

OSS ในฐานะสินค้า

การทำธุรกิจลักษณะนี้หากเทียบอัตราส่วนแล้วถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับ OSS ในฐานะเครื่องมือ สาเหตุง่าย ๆ ก็เพราะว่า หากมี OSS ที่ฟรีอยู่แล้ว ใครจะมาเสียเงินซื้อซอฟต์แวร์ แต่ก็มี OSS จำนวนหนึ่ง ที่มีสัญญาอนุญาตในลักษณะ Dual Licensing กล่าวคือ จะมีการแยกแยะระหว่าง การนำซอฟต์แวร์ไปใช้งานเชิงพาณิชย์ และการนำซอฟต์แวร์ไปใช้ในลักษณะอื่น ๆ ซึ่งบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ก็จะเก็บเงินจากหน่วยงานที่นำซอฟต์แวร์ไปใช้งานเชิงพาณิชย์

หรืออีกลักษณะที่มีการทำกันค่อนมากคือ การแยกซอฟต์แวร์ออกเป็น 2 เวอร์ชัน คือ เวอร์ชันที่เป็น PS และเวอร์ชันที่เป็น OSS (แตกต่างจาก Dual Licensing ตรงที่ Dual Licensing มีแค่เวอร์ชันเดียว)

คำถามคือ ทำไมพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นสินค้าโดยตรง (PS) ทำไมถึงต้องทำควบคู่กัน (OSS + PS) แนวคิดการทำธุรกิจในลักษณะนี้คือ

  • เป็นการทำการตลาดให้กับซอฟต์แวร์ ด้วยการให้คนได้นำไปใช้ในลักษณะ OSS
  • เป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับซอฟต์แวร์ จากปริมาณผู้ใช้ซอฟต์แวร์ผ่าน OSS และเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าว่า ถึงแม้วันหนึ่งบริษัทผู้ผลิตอาจอยู่ไม่รอด แต่ตัวซอฟต์แวร์ยังคงอยู่รอด ด้วยโมเดลของ OSS
  • เป็นการนำการมีส่วนร่วมของชุมชนมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ในหลาย ๆ โครงการ การมีส่วนร่วมจากชุมชน OSS อาจมากกว่าส่วนที่บริษัทพัฒนาเองด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้เสมอไป ต้องอาศัยการผลักดันเรื่องชุมชน OSS ในหลาย ๆ จุด

OSS ในฐานะการสร้างคู่แข่งทางธุรกิจเพื่อความเชื่อมั่น

อาจฟังดูแปลก ๆ แต่ลองนึกดูครับว่า หากเราสร้างเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมาหนึ่งอย่าง และเราเป็นบริษัทหน้าใหม่ สิ่งที่ลูกค้าจะถามคือ "เราจะมั่นใจในเทคโนโลยีของคุณได้อย่างไร?" แน่นอน เราสามารถสร้างความเชื่อมั่นในลักษณะอื่น ๆ ได้ แต่ทั้งนี้ การมีคู่แข่งทางธุรกิจ ที่ทำงานลักษณะเดียวกัน จะเพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าได้อีกระดับหนึ่ง เพราะการที่มีบริษัทอื่น ๆ นอกเหนือจากบริษัทผู้ผลิตสนใจในเทคโนโลยีดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีได้ผ่านการตรวจสอบจากบริษัทที่นำไปใช้แล้วระดับนึง

OSS ในฐานะใบเบิกทาง

ในหลาย ๆ กรณี OSS ไม่สามารถสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจด้วยตัวมันเองได้ แต่สามารถสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจให้กับผู้ผลิต ด้วยสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัวมันได้ โดยใช้ OSS เป็นตัวเบิกทาง โดยธุรกิจแวดล้อม OSS อาจมีความเป็นไปได้ดังนี้

  • ขายบริการหลังการขาย เป็นการทำธุรกิจที่เป็นที่นิยมใช้พอสมควร เพราะมีบริษัทจำนวนมาก ที่สนใจอยากใช้ OSS แต่ไม่สามารถหาคนให้บริการหลังการขาย หรือการติดตั้งได้ ซึ่งตรงนี้จะมีผลกับการตัดสินใจของผู้ใช้อย่างมาก (โดยเฉพาะหากผู้ใช้สามารถหาคนรับผิดชอบได้ เมื่อซอฟต์แวร์มีปัญหา) และโดยส่วนมากแล้ว ผู้ใช้ยินดีที่จะจ่ายเงินในส่วนนี้ ในฐานะผู้ผลิต เราสามารถขายสินค้าได้ง่ายขึ้น (เพราะราคาเป็น 0) ประหยัดค่าใช้จ่ายในการผลิตลงไปได้ หากสามารถสร้างชุมชนมามีส่วนร่วมในการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เราผลิตได้ การดำเนินการลักษณะนี้ ถือว่าได้ผลประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย (ผู้ซื้อ ซื้อของถูก, ชุมชนได้ใช้ของฟรี ปรับแต่งซอฟต์แวร์ได้ตามต้องการ) และเป็นแนวทางที่น่าสนใจอย่างมาก
  • ขายส่วนเสริม การทำธุรกิจนี้เป็นที่นิยมอย่างมากสำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซท์ ที่ใช้ CMS เป็นฐานในการสร้างเว็บไซท์ โดยตัว CMS เองเป็น OSS แต่บริษัทสามารถขายส่วนเสริมให้กับลูกค้าได้ หรือพัฒนาส่วนเสริมตามความต้องการของลูกค้า ในส่วนนี้จะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ทั้งฝั่งผู้ซื้อ และผู้ผลิต เพราะไม่ต้องพัฒนาซอฟต์แวร์พื้นฐานใหม่ทั้งหมด
  • ขายสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัวอย่างที่ดีที่สุดของการทำธุรกิจนี้คือ Android ที่ Google ไม่ได้มีรายได้จากการขาย Android แต่ Google  มีรายได้จากการโฆษณาผ่านการใช้ Android แน่นอนว่า การทำธุรกิจลักษณะนี้ จะเน้นการโฆษณาเป็นหลัก แต่ทั้งนี้ ก็มีการสร้างรายได้ด้วยวิธีอื่น ๆ ได้เช่นกัน

บทสรุป

จะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจด้วย OSS มีให้เลือกใช้มากมายหลายลักษณะ และหลาย ๆ อย่างก็ผ่านการพิสูจน์มานับครั้งไม่ถ้วน ว่าได้ผล แต่ทั้งนี้การทำธุรกิจทุกรูปแบบที่เขียนถึง เป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่คนทำธุรกิจโดยทั่วไปไม่คุ้นชิน สิ่งที่คนทำธุรกิจคุ้นชินคือ การมองซอฟต์แวร์เป็นสินค้าตัวหนึ่ง ซื้อมา ขายไป ซึ่งลักษณะการทำธุรกิจของ OSS มีความซับซ้อนกว่านั้น ดังนั้น การทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ OSS ต้องมีการปรับกระบวนการคิดพอสมควร

Blognone Jobs Premium