สามก๊กไอที ภาคพายุสิงหา

by mk
12 September 2011 - 03:39

ต้องขอโทษอีกครั้งที่เขียนช้าไปหน่อย ด้วยเหตุผลเดิมๆ ว่างานยุ่งและสถานการณ์มันพลิกเร็วมาก เขียนตามไม่ทัน โดยเฉพาะเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญมากเกิดขึ้นสองอย่างคือ การซื้อ Motorola และการลงจากตำแหน่งซีอีโอของสตีฟ จ็อบส์

ไหนๆ ช่วงนี้พอมีเวลาก็ขอสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบ 2-3 เดือนนี้ ด้วยกรอบการวิเคราะห์แบบ "สามก๊กไอที" ว่าทั้งสามก๊กมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

กูเกิล

ก๊กของกูเกิลมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากมาก คือการเข้าซื้อกิจการโมโตโรลา ซึ่งมันอาจจะทำให้เกมของ Android เปลี่ยนโฉมไปอย่างสิ้นเชิง

เดิมทีกูเกิลวางตัวเองไว้เป็นคนทำซอฟต์แวร์ + ให้บริการออนไลน์ แล้วแจกซอฟต์แวร์ให้พันธมิตรฮาร์ดแวร์ไปทำของขาย จะมีบ้างก็คือการออกมือถือตระกูล Nexus ซึ่งอ้างได้ว่า

  • จ้างคนอื่นผลิต
  • วางขายในวงแคบๆ คือไม่ขายกับโอเปอเรเตอร์ (กรณีของ Nexus One)
  • เป็นมือถือที่สร้างขึ้นเพื่อเซ็ตทิศทางของฮาร์ดแวร์

ถึงแม้กูเกิลจะมีความสัมพันธ์ที่ดีเป็นพิเศษกับพันธมิตรฮาร์ดแวร์บางราย (เช่น HTC หรือ Samsung) แต่รวมๆ แล้วสถานะก็ยังอยู่ในระดับที่ "รับได้" คือสร้างซอฟต์แวร์และบริการ ไม่ลงมาแข่งในตลาดฮาร์ดแวร์

แต่การซื้อโมโตโรลาทำให้สถานภาพของกูเกิลเปลี่ยนแปลงไปทันที กูเกิลกลายเป็นเจ้าของบริษัทฮาร์ดแวร์ ซึ่งแปลว่าเปลี่ยนจาก "พันธมิตรในอุตสาหกรรมอื่น" มาเป็น "คู่แข่งร่วมอุตสาหกรรมเดียวกัน" กับบริษัทฮาร์ดแวร์ทั้งหลาย

ถึงแม้กูเกิลจะออกมาบอกว่า การซื้อ Motorola ไม่มีผลต่อการเลือกผู้ผลิต Nexus และมีผลดีคือช่วยคุ้มครองสิทธิบัตรให้กับพันธมิตรของกูเกิลด้วย แต่ถ้าเราเป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์อย่าง HTC/LG/Samsung เราจะ "เชื่อว่า" กูเกิลจะไม่มาแข่งกับเราไหมล่ะครับ

เป็นผมก็ไม่เชื่อ

อย่างไรก็ตาม Android ตอนนี้ติดลมบนไปแล้ว (ถึงแม้สาวกแอปเปิลบางรายจะไม่ยอมรับก็ตาม) ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากต้องยอมๆ ลู่ตามลมกูเกิลไปก่อน

คนที่ได้เปรียบทันทีหลังจากกูเกิลซื้อโมโตโรลาคือไมโครซอฟท์ เพราะกลายเป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการมือถือเพียงรายเดียวที่ยังไม่ลงมาลุยในตลาดฮาร์ดแวร์ จะเห็นว่าตอนนี้ iOS, BlackBerry OS, webOS, Android ล้วนแต่มีธุรกิจฮาร์ดแวร์ในมือทั้งสิ้น

ดังนั้นไม่น่าแปลกใจว่าผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ที่ไม่มีระบบปฏิบัติการของตัวเอง เช่น HTC, LG, Sony Ericsson, Acer, Dell จะใช้ยุทธศาสตร์สองขาคือ Android ส่วนหนึ่ง และ Windows Phone อีกส่วนหนึ่ง เพื่อบาลานซ์ความสัมพันธ์กับกูเกิลนั่นเอง

ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ Samsung เหตุเพราะ Samsung เป็นบริษัทที่ใหญ่มากๆ มียอดขายมือถือและแท็บเล็ตเยอะมาก (อันดับสองของโลก) จนอยู่ในฐานะที่คุ้มค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์ (economy of scale) ที่จะลงมาทำระบบปฏิบัติการเอง เพื่อเป็นไทแก่ตัวไม่ต้องง้อใคร (เราจึงเห็นข่าวลือว่า Samsung จะซื้อ webOS หรือ MeeGo ด้วยเหตุผลนี้นั่นเอง)

Samsung เองก็รู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี เราจึงเห็นผลลัพธ์ออกมาเป็น bada แต่การปลุกปั้นระบบปฏิบัติการ (และ ecosystem) ไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนนี้ Samsung ก็คงต้องเกาะ Android ไปก่อน และแบ่งพลังมาดันๆ Windows Phone กับ bada บ้างส่วนหนึ่ง

ผมเชื่อว่า Samsung จะไม่ขยายระบบปฏิบัติการที่ต้องดูแลมากเกินกว่า 3 ตัว ดังนั้นถ้าเราถือว่า Android กับ Windows Phone มีขนาดใหญ่พอที่จะสร้างโมเมนตัมได้ จุดที่น่าสนใจจึงไปอยู่ที่ bada ว่าจะทำต่อไหมในระยะยาว ถ้า Samsung ยังมั่นใจกับ bada (ซึ่งตอนนี้ก็ยังดูเป็นเช่นนั้น) โอกาสจะไปซื้อ webOS/MeeGo คงต่ำมาก

ประเด็นสุดท้ายที่เกี่ยวข้องกับ Android คือการ fork ระบบปฏิบัติการออกไปทำเอง ช่วงหลังเราเริ่มเห็นข่าวการ fork เยอะขึ้น เช่น Amazon Android ที่จะมากับ Kindle Tablet และระบบปฏิบัติการจากฝั่งเมืองจีน ไม่ว่าจะเป็น OPhone ของ Lenovo, MIUI, Aliyun OS ของ Alibaba, Baidu Yi ของ Baidu และ QQService ของ Tencent

จุดนี้เป็นทั้งข้อดีและข้อเสียของกูเกิล ข้อดีก็คือมีคนช่วยเผยแพร่ตัวระบบปฏิบัติการในวงกว้างมากขึ้น ส่วนข้อเสียที่ชัดๆ เลยคือ fragmentation แต่ประเด็นที่อาจมีผลมากกว่าในระยะยาว คือ คนที่ fork เหล่านี้อาจไม่พอใจในทิศทางของ Android (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการซื้อโมโตโรลา) และอาจจะ "รวมหัว" กันสร้าง "ระบบปฏิบัติการตัวใหม่ที่อิงจาก Android" โดยไม่ง้อกูเกิลอีกเลยก็เป็นได้ (เช่น China Android Distro)

แต่สุดท้ายแล้ว ถึงแม้การซื้อโมโตโรลาจะมีข้อเสียมากมาย แต่ในมุมมองของผม มันเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่ดี เพราะสภาพ "สามก๊กไอที" ที่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ทุกก๊กจะต้องมีอาวุธครบมือที่พร้อมใช้งานได้ทันที การที่กูเกิลได้บริษัทฮาร์ดแวร์มีชื่อเสียง มีแบรนด์เข้มแข็งมาไว้ในมือ สั่งได้ดังใจ (หวังว่านะ) ย่อมดีกว่าไม่มีบริษัทฮาร์ดแวร์ของตัวเองอยู่มาก

แอปเปิล

ก๊กของแอปเปิลมีการเปลี่ยนแปลงเยอะที่สุดในบรรดา 3 ก๊กใหญ่ เพราะต้องเปลี่ยนตัวผู้นำจาก สตีฟ จ็อบส์ เป็นทิม คุก ซึ่งมีผลทางจิตใจไม่น้อย

ในแง่การทำงานคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนักในระยะสั้น เพราะระบบของแอปเปิลวางไว้ค่อนข้างดีอยู่แล้ว และจ็อบส์ก็วางตัวคุกเอาไว้นานมาก จนไม่มีแรงกระเพื่อมภายในจากการแย่งอำนาจขึ้นเป็นซีอีโอคนใหม่

แต่ในระยะยาวก็ต้องมาดูกันนานๆ ว่าคุกจะสามารถนำพาแอปเปิลฝ่าตะลุยการแข่งขันอันเชี่ยวกรากได้หรือไม่ แอปเปิลในยุคใหม่จะใช้การบริหารเป็นองค์คณะ มากกว่าให้จ็อบส์เด่นคนเดียวแบบที่ผ่านมา

ผมคิดว่าการเปลี่ยนตัวซีอีโอรอบนี้ จะคล้ายๆ กับสถานการณ์ของ "ง่อก๊ก" ช่วงที่แม่ทัพใหญ่ "จิวยี่" ป่วยจนเสียชีวิต (ผมไม่ได้แช่งให้จ็อบส์ตายนะครับ!) และอำนาจถูกส่งผ่านมายัง "ซุนกวน" ซึ่งกระจายอำนาจไปยังแม่ทัพเสนาธิการต่างๆ ให้ทำงานร่วมกัน จนทำให้ง่อก๊กอยู่มาได้นานที่สุดในบรรดาก๊กทั้งสามในตอนหลัง

ยุทธศาสตร์ของแอปเปิลในอีก 3-5 ปีข้างหน้า น่าจะเริ่มตันในเรื่องฮาร์ดแวร์แล้ว (คือ iPod/iPhone/iPad มันพัฒนามามากในหลายปีที่ผ่านมา จนมีที่ว่างให้ไปต่อได้ยาก) สิ่งที่พอเป็นไปได้คือ การมาทำทีวีเพื่อยึดห้องนั่งเล่น โดยอาจใช้ฮาร์ดแวร์จาก Cinema Display ผนวกกับซอฟต์แวร์จาก Apple TV และบริการเนื้อหาออนไลน์ที่แอปเปิลมีอยู่แล้ว

ทิศทางที่แอปเปิลน่าจะมุ่งไปน่าจะเป็นบริการออนไลน์ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของแอปเปิลมานาน (ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะรากเหง้าของบริษัทไม่ได้มาจากออนไลน์) และการที่ iOS จะต้องพึ่งพิงบริการแผนที่หรือการค้นหาจากกูเกิลที่เป็นคู่แข่งตัวฉกาจไปตลอด คงไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อบริษัทนัก

แอปเปิลก็รู้เรื่องนี้ดีเช่นกัน แต่ยังทำอะไรไม่ได้มาก ช่วงหลังเราจึงเห็นการขยับตัวมาทำ iCloud ซึ่งก็เป็นพัฒนาการที่ดีแต่ยังไม่พอ เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างกูเกิลที่ทำออนไลน์มาตั้งแต่เริ่ม และไมโครซอฟท์ที่ลงทุนใน Bing/Windows Live ไปมาก (และยังไม่ได้ทุนคืน แต่ช่วยให้มีอาวุธต่อกรได้ทุกแนวรบ)

สิ่งที่เราน่าจะได้เห็นคือ แอปเปิลจะทยอยเปิดตัวผลิตภัณฑ์ออนไลน์ของตัวเองอย่างช้าๆ ทีละตัวสองตัว สำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง แต่ยุทธศาสตร์ในภาพรวมคือปลดแอกตัวเองออกจากกูเกิล

หรือไม่งั้น ก็ยังมีอีกทางที่ไปได้เร็วกว่า นั่นคือการซื้อ Yahoo! ครับ

ถึงแม้ Yahoo! จะอยู่ในช่วงขาลง แต่ยังมีความเข้มแข็งในโลกออนไลน์อยู่มาก Yahoo! Mail และ IM มีคนใช้เยอะมาก ส่วนเว็บพอร์ทัลและบริการอื่นๆ ก็มีฐานผู้ใช้เข้าขั้นแข็งแกร่ง ตอนนี้แอปเปิลมีเงินสดในมือมากมาย แถม Yahoo! ไม่ได้แพงเหมือนตอนไมโครซอฟท์อยากจะซื้อเมื่อ 2-3 ปีก่อนอีกแล้ว ถ้ามันจะเกิดขึ้น บอร์ดแอปเปิลจะเอาจริง ก็น่าจะเกิดภายใน 1 ปีจากนี้

แน่นอนว่าการซื้อ Yahoo! ไม่ได้มีแต่ข้อดีอย่างเดียว ถ้าซื้อแล้วคงมีปัญหาที่ต้องแก้อีกมาก แต่ลองคิดถึงว่า Yahoo! มีผลิตภัณฑ์-บริการออนไลน์ที่น่าสนใจหลายอย่าง แต่ขาดโมเมนตัมและแบรนด์ที่ดี ถ้าเราเอาแบรนด์แอปเปิลมาแปะเข้าไป อาจพลิกฟื้นโมเมนตัมได้ทันที แค่คิดก็น่าสนุกแล้ว

ไมโครซอฟท์

หลังจากเซ็นสัญญากับโนเกียช่วงต้นปี เรายังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในไมโครซอฟท์มากนัก แต่ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อเปิดตัว Windows 8 ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ถึงแม้จะไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยน แต่ถ้ามาย้อนมองดีๆ สถานการณ์ของไมโครซอฟท์ตอนนี้ดีกว่าเมื่อ 3-4 ปีก่อนมาก

  • Windows 7 ยังไร้เทียมทานในตลาดพีซี
  • Windows Phone เริ่มเข้ารูปเข้ารอยหลังออก Mango
  • Xbox 360 ยังไปได้สวย ยิ่งมี Kinect มาเสริมทัพยิ่งหาคนมาแข่งยาก
  • IE กลับมาเป็นเบราว์เซอร์ที่น่าจับตา (ถึงแม้จะไม่ใช่ที่สุด) และ IE10 ก็ต่อสู้กับคู่แข่งได้สูสี
  • Bing ยังไม่ถึงกับดีมาก แต่ก็ไม่ถูกกูเกิลทิ้งห่างแบบแต่ก่อน และเริ่มแย่งส่วนแบ่งตลาดจากกูเกิลได้บ้างแล้ว
  • บริการออนไลน์อื่นๆ ก็มีของไว้ชนกับกูเกิลแทบทุกแนวรบ เช่น Hotmail, Office Web Apps, Office 365, Bing Maps
  • แนวรบด้าน cloud ที่กำลังก่อตัว ก็มี Azure เตรียมรอไว้แล้ว

นอกจากนี้ยังซื้อ Skype และโนเกีย เข้ามาเสริมทัพ และมีพันธมิตรอย่างโนเกียกับ RIM ในโลกมือถือ และ Facebook/Twitter ในโลกออนไลน์

ตอนนี้สภาพการณ์แวดล้อมทุกอย่างพร้อมแล้ว เหลือแค่รอพระเอกคนใหม่เดินเข้าสู่เวที ว่าจะเวิร์คแค่ไหน (ไม่เวิร์คก็จบเหมือนกัน)

ก๊กอื่นๆ

  • HP ที่เคยถูกประเมินว่าจะเข้ามาเป็นก๊กที่สี่ หลังซื้อ webOS คงไปไม่รอดแล้วในตลาดคอนซูเมอร์ ธุรกิจพีซีคงไปได้เรื่อยๆ แต่ webOS คงแห้งตายไปเอง
  • RIM มีขนาดบริษัทที่ไม่ใหญ่พอจะเข้ามาต่อกรกับสามก๊กได้สูสี ถึงจะเปิดตัว QNX บนมือถือได้เร็วและดีพอ อาจจะไม่ช่วยอะไรในระยะยาว ถ้าบริษัทหาพื้นที่เฉพาะอันใหม่ของตัวเองไม่ได้ (หลังจากมือถือเพื่อธุรกิจโดนถล่มยับ) ก็อาจจะต้องขายกิจการให้บริษัทอื่น (น่าจะเป็น Dell)
  • Amazon เป็นค่ายที่น่าสนใจมาก เพราะครอบครองระบบ content ของตัวเองเบ็ดเสร็จ มีฮาร์ดแวร์ของตัวเองที่ขายดีมากมาย มีตลาดเฉพาะเรื่อง E-book ที่หาคนมาเจาะยากมาก ในเบื้องต้นคงเกาะ Android ไปก่อน แต่ถ้าใหญ่พอเมื่อไรก็แยกตัวเป็นอิสระเมื่อนั้น
  • Sony เป็นค่ายที่มีสถานะแบบเดียวกับ Amazon แถมดีกว่าด้วยซ้ำเพราะมีทั้งค่ายหนัง ค่ายเพลง ค่ายเกมอยู่ในมือ มีฮาร์ดแวร์สารพัดชนิด ตั้งแต่ทีวี เครื่องเกม พีซี มือถือ (ไม่มีใครมีเยอะเท่านี้แล้ว) แต่ยังขาดเรื่องซอฟต์แวร์ เลยต้องเกาะ Android ไปเช่นกัน ปัญหาคือโครงสร้างการบริหารภายในมีปัญหามาก (อันนี้เป็นสิ่งที่ต่างจาก Amazon) คงอยู่สภาพนี้ไปอีกหลายปี แม้จะมีศักยภาพสูงมากก็ตาม
  • Nokia ในฐานะก๊กอิสระที่ไม่ต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ ก็คงจบสิ้นแค่นี้ ภารกิจของ Nokia ในสองสามปีข้างหน้าต้องมาเน้นที่การกลับมาให้ได้เสียก่อน
Blognone Jobs Premium