รู้จักกับ Metro Style App และ WinRT คู่หูของการพัฒนาโปรแกรมบน Windows 8

by mk
16 September 2011 - 13:03

คนที่ติดตามข่าวของ Windows 8 คงเห็นแผนภาพ diagram แสดงโครงสร้างการพัฒนาแอพของ Windows 8 ที่แสดงใน keynote เปิดตัว

ไมโครซอฟท์แยกประเภทของแอพเป็น 2 อย่างคือ Desktop Apps ซึ่งหมายถึงแอพแบบเดิมๆ ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ (ไม่ว่าจะเขียนเป็น native/.NET/web app ก็ตาม) และแอพชนิดใหม่ Metro Style Apps สำหรับใช้ในโหมดแท็บเล็ต (และมีเพียงแอพแบบหลังที่ย้ายไปรันบน ARM ได้ด้วย - ข่าวเก่า)

เพื่อความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้น ก็ขอลงภาพ diagram ซ้ำอีกรอบ

บริเวณสีเขียวในภาพ คือ พื้นที่ใหม่หมดของการพัฒนาแอพในอาณาจักรของไมโครซอฟท์ ซึ่งก็คงทำให้หลายๆ คนเกิดคำถามว่าบทบาทของมันต่อการพัฒนาแอพแบบเดิมๆ อย่าง native/.NET จะเป็นอย่างไรบ้าง เช่น เราจะต้องเลิกเขียน native/.NET กันแล้วเปลี่ยนมาเขียน Metro แทนหรือเปล่า?

เท่าที่ผมหาข้อมูลได้ ก็ตอบแบบฟันธงได้เลยว่า มันไม่ได้มาแทน .NET

ถ้าจะให้อธิบายแบบรวบรัดที่สุด ต้องบอกว่า Metro Apps เกิดมาเพื่อแท็บเล็ตและจอสัมผัสเท่านั้น และเป็นแอพในฝั่ง client เพียงอย่างเดียวด้วย ทำงานได้เฉพาะบนแพลตฟอร์ม Windows (และ Windows Phone ในอนาคต) ไม่สามารถทำงานข้ามแพลตฟอร์มแบบ .NET ด้วยซ้ำ (อนาคตไม่แน่)

เราจะมองว่ามันเป็นคู่แข่งของ Android App หรือ iOS App จากฝั่งไมโครซอฟท์ก็พอได้

ก่อนจะลงลึกไปที่ Metro Style App เราต้องย้อนดู "ทางเลือก" ของการพัฒนาแอพในอาณาจักรของไมโครซอฟท์ก่อน

ปัจจุบันไมโครซอฟท์เปิดโอกาสให้เราพัฒนาแอพได้ 4 แบบ

  1. native code เขียนเชื่อมต่อกับ Win32 API ที่อยู่คงกระพันมานาน เป้าหมายของมันก็คือแอพที่ทำงานบนเดสก์ท็อปวินโดวส์ ไม่รันข้ามแพลตฟอร์ม
  2. .NET เขียนเชื่อมต่อกับ .NET API (เช่น WPF, WCF) เลือกภาษาได้หลายภาษา (ที่นิยมคือ C#/VB) ทำงานข้ามแพลตฟอร์มได้ (อย่างน้อยก็บนแมค)
  3. web app เขียนด้วย HTML/JavaScript รันผ่านเบราว์เซอร์ทั้งหมด ไม่ต้องติดตั้ง (อันนี้เหมือนกับ web app บนแพลตฟอร์มอื่นๆ) ทำงานข้ามแพลตฟอร์ม ไม่ต้องคอมไพล์ แต่ความสามารถอาจจะน้อยไปบ้าง และต้องต่อเน็ตเพื่อใช้งาน
  4. Silverlight/WP7 เป็นเวอร์ชันลดรูปของข้อ (2) และใช้งานบนมือถือ Windows Phone เท่านั้น

การมาถึงของ Metro Style ถือเป็นวิธีการพัฒนาแอพแบบที่ 5 ของไมโครซอฟท์ มันจะมาพร้อมกับ API ตัวใหม่ที่เรียกว่า WinRT (ย่อมาจาก Windows Runtime) ซึ่งถือเป็น API ชุดใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ Win32 และ .NET เดิมเลย

Metro/WinRT ถือเป็นแพลตฟอร์มการพัฒนาแบบใหม่ทั้งหมด แต่ก็อิงอยู่บนเทคโนโลยีเดิมหลายจุด

ในส่วนของ WinRT ที่อยู่ด้านล่าง ไมโครซอฟท์จะนำความสามารถใน Win32 และ .NET API มาจัดระเบียบใหม่ คัดเฉพาะสิ่งที่จำเป็นจริงๆ เพื่อให้เบา (เช่น ตัด WinForm ออกไป, ไม่มี GDI, ไม่มี XNA ต้องเรียก DirectX ตรงๆ - ดูรายการ API ทั้งหมดของ WinRT และ การเปรียบเทียบ API ระหว่าง WinRT กับ API แบบเดิมๆ)

ส่วนของภาษาที่ใช้พัฒนาแอพ Metro ก็มีให้เลือก 3 แนวทางตามชอบใจ

  1. HTML + JavaScript (โดยเชื่อมกับ WinRT API ลักษณะเดียวกับ webOS หรือ Silverlight รุ่นแรกๆ ซึ่งแน่นอนว่ามันเอาไปรันบนแพลตฟอร์มอื่นๆ ไม่ได้) รันผ่านเอนจินจาวาสคริปต์ของ IE
  2. XAML + C/C++ รันแบบ native
  3. XAML + C#/VB โดยรันผ่าน CLR ของ .NET

ตอนนี้เป้าหมายของแอพแบบ Metro คือการรันบน Windows 8 (ไม่ว่าจะเป็น x86/ARM) เท่านั้น แต่ใน keynote เราก็เห็นเดโมการพอร์ตแอพ Metro ไปอยู่บน Windows Phone ได้ด้วย (ซึ่งเดิมทีแอพ Windows Phone เป็น Silverlight) ตรงนี้คงเห็นชัดว่าไมโครซอฟท์เริ่มขยับหนี Silverlight ในความหมายเดิม และใน Windows Phone รุ่นถัดๆ ไป เราน่าจะเห็นการใช้ Metro/WinRT มากขึ้น

อธิบายง่ายๆ ว่า Metro/WinRT จะมาแทนวิธีการพัฒนาแบบที่สี่เป็นหลัก นั่นคือ Silverlight จะค่อยๆ ลดบทบาทลง ส่วนวิธีการพัฒนาโปรแกรม 3 แบบแรกคือ native/.NET/web app จะยังมีที่ทางของมันอยู่เหมือนเดิม (อย่างน้อยก็ใน Windows 8 แบบเดสก์ท็อป x86) เพียงแต่ในระยะยาว ไมโครซอฟท์น่าจะผลักดันให้แอพบนแพลตฟอร์มวินโดวส์หันมาใช้ Metro/WinRT มากขึ้น

ข้อมูลจาก ReadWriteWeb ระบุว่าตอนนี้ไมโครซอฟท์ยังไม่มีแผนจะทำ Metro/WinRT แบบข้ามแพลตฟอร์ม (เหมือนกับ .NET ที่มีรันไทม์ไปติดตั้งบนแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้) และการนำ Metro/WinRT ไปรันบนกลุ่มเมฆ (เหมือนกับ .NET บน Azure) ในช่วงแรกคงเป็นเฉพาะสภาพแวดล้อมในการพัฒนาแบบ client บนแท็บเล็ตเท่านั้น

กระบวนการพัฒนาแอพ Metro นอกจากตัวแอพแล้ว ยังมีเรื่องการทำแพกเกจและส่งขึ้นไปขายบน Windows Store (ร้านขายแอพของ Windows 8 ซึ่งไม่ใช่ Windows Marketplace) แต่ตรงนี้คงไม่ต่างอะไรจากแอพบนมือถือในปัจจุบันมากนัก

ในสายตาของนักพัฒนาฝั่งไมโครซอฟท์ คงปรับตัวกันไม่ยากนักเพราะใช้เทคโนโลยีเดิมๆ อย่าง C#, VB, HTML/JavaScript, XAML แต่ก็มีส่วน WinRT และสไตล์ของ Metro ที่ต้องเรียนรู้ใหม่บ้าง และการพัฒนาโปรแกรมที่ต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่แรก เครื่องมือพัฒนาเป็น Visual Studio 11 ซึ่งถ้าอยู่สายนี้ก็คงคุ้นมืออยู่แล้ว

ช่วงนี้ Metro/WinRT ยังเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น แต่ดูจากทิศทางของไมโครซอฟท์แล้ว ก็คงอยู่กับมันยาวทีเดียว

ข้อมูลจาก Tim Anderson’s ITWriting, ReadWriteWeb

เอกสารเพิ่มเติมของไมโครซอฟท์

หมายเหตุ: ในบทความข้างต้นผมไม่ได้พูดถึงการเขียนเกมบน Metro เพราะเดี๋ยวจะซับซ้อนเกินไป และเป็นหัวข้อค่อนข้างเฉพาะ วิธีการเขียนเกมบน Metro จะใช้ C++ เรียก native API อย่าง DirectX โดยตรง (ซึ่งปัจจุบันเกมจำนวนมากก็เขียนแบบนี้อยู่แล้ว) รายละเอียดอ่านใน Building your first Metro style game with C++

Blognone Jobs Premium