ข่าวนี้ขยายความจาก งาน Facebook f8 วันนี้: Timeline และ Open Graph รุ่นใหม่ ในส่วนของ Open Graph ใครยังไม่ได้อ่านข่าวเก่าก็ย้อนไปอ่านก่อนครับ
นอกจากเรื่อง Timeline แล้ว สิ่งที่ Facebook ประกาศในงาน F8 คือ Open Graph API แบบใหม่ที่แอพสามารถโพสต์เนื้อหาบนวอลล์ของเราได้มากขึ้น โดยจะแสดงอัตโนมัติในส่วนของ Ticker ที่แสดงกิจกรรมแบบเรียลไทม์ และ "อาจจะ" ไปแสดงผลต่อบน News Feed กับ Timeline ได้
ที่ต้องเน้นว่า "อาจจะ" เพราะ Facebook ใช้อัลกอริทึมแบบใหม่ที่เรียกว่า Graph Rank คอยพิจารณาว่ากิจกรรมไหนควรจะมาแสดงบน News Feed ของเราบ้าง (เดิมทีอัลกอริทึมที่จัดการ News Feed ถูกเรียกว่า EdgeRank แต่รอบนี้มันมีชื่อใหม่แล้วคือ Graph Rank)
ในเบื้องต้น Facebook เตรียมแอพแบบใหม่ที่รองรับ Open Graph API รุ่นใหม่เอาไว้ให้ 3 หมวด คือ เพลง, หนัง และข่าวสาร (สโลแกนว่า Read, Watch, Listen ตรงตามข่าวลือก่อนหน้านี้) โดยจับมือกับพันธมิตรในวงการหลายราย
"เพลง" เป็นแอพหมวดสำคัญที่สุดในงานแถลงข่าวรอบนี้ อธิบายง่ายๆ ว่าเราสามารถกดฟังเพลงจากหน้า Facebook ได้เลยถ้าเห็นไอคอนปุ่ม play บนกิจกรรมของเพื่อนๆ บน Ticker
ชื่ออย่างเป็นทางการของมันคือ Facebook Music หลักการคือประสานกับบริการฟังเพลงออนไลน์ต่างๆ ให้เราสามารถแสดงกิจกรรมการฟังเพลงของตัวเองผ่าน Facebook และเปิดให้เพื่อนๆ มาฟังเพลงร่วมกับเราได้ (ทั้งฟังเพลงพร้อมกันในทันที และฟังเพลงที่เพื่อนของเราฟังย้อนหลัง)
พันธมิตรรายสำคัญคือ Spotify บริการฟังเพลงผ่านอินเทอร์เน็ตชื่อดัง แต่ก็มีรายอื่นๆ อีกมาก เช่น Rdio, Rhapsody, Turntable, Tunein, MOG เป็นต้น
Facebook ได้เชิญผู้บริหารของ Spotify ขึ้นมาพูดบนเวที f8 ด้วย หน้าตาของมันดูได้จากวิดีโอของ Spotify ครับ
ว่ากันว่า Facebook Music นี่แหละที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นไม่ให้แอปเปิลสามารถเจรจากับ Facebook เรื่องการประสาน iTunes เข้ากับ Facebook ได้ จนสุดท้ายแอปเปิลต้องแยกไปทำ iTunes Ping ของตัวเอง
หมายเหตุ: ผมยังหาข้อมูลไม่เจอว่าบริการด้านการฟังเพลงออนไลน์ (ที่มักจำกัดประเทศให้บริการ) จะครอบคลุมถึงประเทศไทยด้วยหรือไม่
ที่มา - Spotify Blog, The Next Web, This is my next
หลักการเดียวกับเพลง แต่เปลี่ยนผู้ให้บริการมาเป็นภาพยนตร์ออนไลน์อย่าง Netflix และ Hulu แทน โดยสมาชิก (แบบเสียเงิน) ของ Netflix และ Hulu สามารถดูภาพยนตร์จากหน้า Facebook ได้โดยตรง และแชร์ข้อมูลการดูภาพยนตร์กับเพื่อนๆ ได้
ในทางกลับกันบนแอพของ Netflix/Hulu ก็จะเห็นข้อมูลการแชร์ภาพยนตร์ของเพื่อนๆ จาก Facebook ด้วย
กรณีของ Hulu จะมีฟีเจอร์ที่น่าสนใจคือเราสามารถใส่ "คอมเมนต์" ในช่วงต่างๆ ของภาพยนตร์ไว้ให้เพื่อนๆ อ่านได้ด้วย (ไม่แน่ใจว่า Netflix ทำแบบเดียวกันได้หรือเปล่า)
กรณีของ Netflix จะยังติดปัญหาด้านกฎหมายในสหรัฐอยู่บ้าง ทำให้ยังไม่สามารถเปิดบริการในสหรัฐได้ แต่ประเทศอื่นๆ อย่างแคนาดาและกลุ่มละตินอเมริกานั้นใช้ได้เลย
นอกจากสองรายนี้แล้ว Facebook ยังมีพันธมิตรรายอื่นๆ เช่น Flixster, IMDb, DailyMotion เข้าร่วมด้วย
แอพสุดท้ายคือ "ข่าว" ซึ่ง Facebook จับมือกับเว็บข่าวหลายแห่งให้อ่านข่าวบนหน้า Facebook ได้ และในทางกลับกันก็แชร์ข่าวกลับไปยังหน้าเว็บข่าวได้ พันธมิตรกลุ่มนี้ได้แก่ Yahoo!, Washington Post, The Guardian, The Independent
ตัวอย่างการอ่านข่าวของ Yahoo!
กรณีของ Washington Post ได้สร้างแอพอ่านข่าวชื่อ Social Reader ที่อ่านข่าวได้จากบนหน้า Facebook โดยตรง และแสดงข่าวที่เพื่อนๆ เราแชร์ได้ด้วย
ที่มา - Yodel Anecdotal, Washington Post, Wired
พันธมิตรเบื้องต้นที่จับมือกับ Facebook สามารถดูได้จาก Open Graph Platform Showcase และนอกจาก "เพลง หนัง ข่าว" เราก็ยังสามารถทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ทำกับข้าว ออกกำลังกาย ฯลฯ ผ่านแอพอย่าง Nike+, Foodily, Foodspotting ได้เช่นกัน (ดูวิดีโอประกอบ)
ที่มา - Facebook Developers, All Facebook, This is my next, AllThingsD