สำนักข่าวบลูมเบิร์กได้เปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า ขณะนี้ Internal Revenue Service (IRS) หรือกรมสรรพากรของสหรัฐฯ กำลังตรวจสอบกูเกิลอย่างไม่เป็นทางการว่าเข้าข่ายหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีเงินได้โดยการโยกย้ายผลกำไรไปยังบริษัทในเครือในต่างประเทศหรือไม่ แหล่งข่าวระบุว่า IRS ได้แจ้งให้กูเกิลนำส่งข้อมูลดีลที่เกิดขึ้นในต่างประเทศหลังจากการเข้าซื้อกิจการจำนวนสามครั้งที่ผ่านมา ซึ่งก็รวมถึงดีลซื้อ YouTube ที่มีมูลค่าสูงถึง 1.65 พันล้านดอลลาร์ด้วย
นักเศรษฐศาสตร์รายหนึ่งกล่าวว่า ประเด็นที่สำคัญที่เกี่ยวข้องภาษีจาก transfer-pricing (การแบ่งส่วนรายได้ระหว่างหน่วยงานที่อยู่คนละประเทศ) คือการโยกย้ายสิ่งที่จับต้องไม่ได้ (intangible) ไปยังบริษัทในเครือในต่างประเทศเพื่อให้บริษัทจ่ายภาษีน้อยลง สำนักข่าวบลูมเบิร์กยังเสริมว่าหลายบริษัท อาทิ ซิสโก้ เฟซบุ๊ก ไมโครซอฟท์ ก็ใช้กลยุทธ์ดังกล่าว คือการโยกย้ายผลกำไรไปยังหน่วยงานที่อาจไม่มีกระทั่งสำนักงานหรือพนักงานอยู่จริงในต่างประเทศ
กูเกิลสามารถลดทอนการจ่ายภาษีกับนานาประเทศได้สูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์โดยใช้กลยุทธ์ "Double Irish" และ "Dutch Sandwich" ร่วมกัน ซึ่งก็คือการโยกย้ายผลกำไรไปยังหน่วยงานในประเทศไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และเบอร์มิวดา (ดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ) ตัวอย่างเช่น ไตรมาสสองที่ผ่านมากูเกิลรายงานอัตราภาษีที่บริษัทจดทะเบียนจ่ายจริง (effective tax rate) อยู่ที่ร้อยละ 18.8 ซึ่งต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยของภาษีที่ควรจะจ่ายให้กับรัฐบาลกลางและมลรัฐ หรือราวร้อยละ 39.2
ไม่ใช่ว่า IRS จะนิ่งอยู่เฉย เพราะเมื่อปี 2006 ก็ได้ฟ้องร้องบริษัทยาแห่งหนึ่งซึ่งมูลค้าที่ฟ้องร้องครั้งนั้นสูงถึง 3.4 พันล้านดอลลาร์ แต่ IRS ก็กลับมาเสียท่าแพ้คดีที่ฟ้องร้อง Veritas ทำให้การบังคับใช้กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ transfer-pricing ลดน้อยลงไป
ข่าวนี้เนื้อหายาวแต่ดีทีเดียว ใครสนใจในรายละเอียดสามารถไปอ่านต่อได้จากที่มาของข่าว
ที่มา: สำนักข่าวบลูมเบิร์ก