สภาพความสัมพันธ์ระหว่างอเมซอนและสำนักพิมพ์นั้นเป็นความสัมพันธ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกจากการที่อเมซอนครองตลาดอีบุ๊กอยู่เป็นส่วนใหญ่โดยที่สำนักพิมพ์ไม่มีศักยภาพในการทำตลาด และคู่แข่งรายอื่นๆ เช่น Barnes & Noble หรือ Apple iBook นั้นยังตามหลัง Kindle อยู่ห่าง ที่ผ่านมาอเมซอนพยายามกำหนดราคาอีบุ๊กไม่ให้สำนักพิมพ์กำหนดราคาด้วยตัวเอง แต่ก็จบลงด้วยการยอมแพ้ต่อสำนักพิมพ์ ในปีนี้สงครามรอบใหม่อาจจะกำลังเกิดขึ้นเมื่ออเมซอนกำลังเปลี่ยนตัวเองมาเป็นสำนักพิมพ์เสียเอง
หนังสือพิมพ์ The New York Times อ้างแหล่งข่าวภายใน ระบุว่าปีนี้อเมซอนกำลังพิมพ์หนังสือของตัวเองทั้งหมด 122 เล่มโดยขายทั้งรูปแบบอีบุ๊กและหนังสือปรกติ
ธุรกิจหนังสือในสหรัฐฯ นั้นโดยปรกติสำนักพิมพ์จะให้เงินล่วงหน้าแก่นักเขียนเพื่อซื้อสิทธิในการพิมพ์หนังสือหลังจากหนังสือเขียนเสร็จ หรือหากนักเขียนไม่ได้รับการตอบรับจากสำนักพิมพ์ก็ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ด้วยตัวเอง และรับความเสี่ยงจากการพิมพ์เอง แต่บริการของทางอเมซอนนั้นจะให้บริการทั้งบรรณาธิการ, ออกแบบปก, และช่วยทำการตลาด โดยนักเขียนที่ได้รับบริการเช่นนี้จะได้รับการติดต่อจากอเมซอนโดยตรง
ข้อเสนอแบบนี้สร้างความขัดแย้งกับสำนักพิมพ์ให้บาดลึกขึ้นอีกครั้ง ก่อนหน้านี้นักเขียนบางคนที่กำลังทำหนังสือให้กับสำนักพิมพ์กลับนำบทความเก่าของตนมารวมเล่มขายเป็นอีบุ๊กกับอเมซอนโดยตรงก็ทำให้เป็นคดีความกับสำนักพิมพ์มาก่อนแล้ว การที่อเมซอนตัดสำนักพิมพ์ออกจากวงจรการพิมพ์ทำให้หนังสือไปอยู่กับหน้าร้านของอเมซอนโดยตรงเช่นนี้น่าจะทำให้สำนักพิมพ์ออกมาตรการตอบโต้อะไรบางอย่างออกมา
การที่อเมซอนติดต่อกับนักเขียนโดยตรงอาจจะเป็นอันตรายกับร้านหนังสืออื่นๆ ยิ่งกว่าสำนักพิมพ์เองเสียอีก โดยก่อนหน้านี้ Barnes & Noble ก็ถอดหนังสือบางรายการออกจากหน้าร้านของตัวเองเพราะหนังสือวางขายแบบอีบุ๊กกับอเมซอนเท่านั้น ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้อาจจะทำให้ตลาดหนังสือสหรัฐฯ เปลี่ยนมาคล้ายกับตลาดของไทยที่สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ มีหน้าร้านขายหนังสือของตัวเอง และเน้นทำตลาดกับหนังสือของตัวเอง ไปพร้อมๆ กับการไม่ยอมส่งหนังสือขายดีของตัวเองให้กับร้านอื่นๆ เท่าที่ควร
ที่มา - The New York Times, Los Angeles Times