โนเกียเปิดกระบวนการพัฒนา Qt สู่ชุมชน

by mk
25 October 2011 - 01:09

Qt (อ่านว่า "คิวต์") เป็นเฟรมเวิร์คสำหรับพัฒนาแอพพลิเคชันที่ได้รับความนิยมมากตัวหนึ่ง ตัวซอฟต์แวร์เป็นโอเพนซอร์ส แต่การพัฒนาตัว Qt กลับค่อนข้างอยู่ในวงปิด อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท Trolltech เป็นหลัก (ลักษณะเดียวกับ Android คือเปิดซอร์สก็จริง แต่กูเกิลเป็นคนควบคุมทั้งหมด)

บริษัท Trolltech ถูกโนเกียซื้อกิจการเมื่อปี 2008 เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้กับ Symbian/MeeGo ตัวบริษัทถูกโนเกียเปลี่ยนชื่อเป็นฝ่าย Qt Development Frameworks แต่ภาระหน้าที่ยังคงเหมือนเดิม

แต่เมื่อโนเกียเปลี่ยนทิศทางมาใช้ Windows Phone ในปี 2011 นี้ อนาคตของ Qt (และ Symbian) ภายในโนเกียก็เริ่มหมองหม่น เราจึงเห็นโนเกียเริ่มปลด "ภาระ" ไปทีละส่วน กรณีของ Qt คือขายส่วนที่เป็นเชิงพาณิชย์ให้บริษัท Digia

อย่างไรก็ตาม Qt ยังเป็นเฟรมเวิร์คที่มีคนใช้อยู่มาก ถึงแม้ว่า "เจ้าของ" อย่างโนเกียจะไม่ต้องการแล้วก็ตาม ทางออกจึงตรงไปตรงมาคือเปิดกว้างให้ "ชุมชน" เข้ามารับผิดชอบการพัฒนาซอฟต์แวร์แทน

ล่าสุดโนเกียประกาศโครงการ Qt Project ซึ่งถือเป็นกระบวนการพัฒนา Qt แบบใหม่โดยมอบสิทธิให้ "ชุมชน" จัดการกันเอง (ตัวโค้ดเป็นโอเพนซอร์สอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาเรื่องนี้)

ในทางกฎหมายแล้ว โนเกียจะยังเป็นเจ้าของ Qt อยู่ (รวมถึงเครื่องหมายการค้า) แต่ในทางปฏิบัติ บทบาทของโนเกียจะลดลง เปิดโอกาสให้คนภายนอกมีส่วนร่วมมากขึ้น ถึงแม้ในช่วงแรกนักพัฒนาส่วนมากจะยังเป็นพนักงานของโนเกียก็ตาม แต่นี่เป็นสัญญาณที่ดีของการพัฒนา Qt ในระยะยาว

รูปแบบการเปิดกว้างให้ชุมชนเข้ามาพัฒนาโครงการโอเพนซอร์สลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราเห็นตัวอย่างมาแล้วจากซอฟต์แวร์หลายๆ ตัวที่เดิมทีบริษัทเป็นผู้พัฒนาฝ่ายเดียว แต่ภายหลังก็เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้าร่วมมากขึ้น ตัวอย่างที่คล้ายที่สุดคงเป็นโครงการ Fedora ของ Red Hat (โค้ดเป็นโอเพนซอร์สอยู่แล้ว มาเปิดกระบวนการพัฒนาทีหลัง)

ผู้ใช้ Qt รายใหญ่คือโครงการ KDE (ซึ่งมีนักพัฒนาหลายคนเป็นพนักงานของโนเกีย) ออกมาแสดงความยินดีกับทิศทางใหม่ครั้งนี้ โดยบอกว่าการเปิดกว้างในการพัฒนา (open government) เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดต่อนักพัฒนา Qt ทุกคน

ที่มา - Qt Labs, KDE

Blognone Jobs Premium