เบื้องหลังการยกเลิกโครงการ Microsoft Courier: การเมืองภายใน และบิล เกตส์

by mk
3 November 2011 - 13:23

ผู้อ่าน Blognone คงจำต้นแบบแท็บเล็ต Microsoft Courier ที่เป็นข่าวตั้งแต่ปี 2009 (ก่อน iPad เปิดตัวด้วยซ้ำ) แท็บเล็ตตัวนี้ยังเป็นแค่โครงการภายในของไมโครซอฟท์ ที่ไม่เคยเปิดตัวอย่างเป็นทางการ (แต่ Gizmodo เป็นคนนำมารายงาน) น่าเสียดายว่าไมโครซอฟท์ยกเลิกโครงการไปเมื่อเดือนเมษายน 2010 และสุดท้ายก็ลงเอยอย่างที่เรารู้กันว่า ยุทธศาสตร์ "แท็บเล็ต" ของไมโครซอฟท์หันมาดัน Windows 8 แทน

แต่เรื่องราวเบื้องหลังโครงการ Courier ซับซ้อนมาก ซึ่งเว็บไซต์ CNET มีสกู๊ปพิเศษในเรื่องนี้ ข้อมูลของ CNET นำมาจากการสัมภาษณ์อดีตพนักงานไมโครซอฟท์ที่เคยอยู่ในทีม Courier จำนวน 18 ราย ดังนั้นไม่ใช่ข้อมูลอย่างเป็นทางการนะครับ

เรื่องราวของ Courier แบบสรุปสั้นๆ ให้เข้าใจก่อน ก็คือ "การต่อสู้" ระหว่างทีมภายในของไมโครซอฟท์แต่ละทีม โดยมีเดิมพันเป็น "ยุทธศาสตร์แท็บเล็ต" ในภาพรวมของไมโครซอฟท์ว่าจะมุ่งไปทางไหนกันแน่ และเหตุการณ์รอบนี้ คนชี้ขาดว่าเลือกทางไหนชื่อว่า "บิล เกตส์"

การปล่อยให้ทีมงานภายในแข่งขันกันเองเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของไมโครซอฟท์มาช้านาน ทีมที่แพ้จะจบลงด้วยการปิดแผนก และย้ายพนักงานไปอยู่ในทีมอื่นๆ แทน

J Allard และ Courier

ตัวละครสำคัญในเรื่องนี้คือ J Allard (ประวัติบน Wikipedia) เขาเป็นผู้บริหารดาวรุ่งของไมโครซอฟท์ ผลงานชิ้นสำคัญคือ Xbox ที่เขาปั้นขึ้นมากับมือ ภายหลังไมโครซอฟท์ตั้งฝ่าย Entertainment and Devices Division โดยมี Robbie Bach เป็นหัวหน้า และมี J Allard เป็นมือขวาคนสำคัญ ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของฝ่ายนี้ได้แก่ Zune, Kin และ Windows Phone

J Allard เป็นผู้บริหารของไมโครซอฟท์ที่ไม่มีบุคลิกแบบไมโครซอฟท์เท่าไรนัก เขาชอบกีฬากลางแจ้ง ชอบการดีไซน์ ทำงานในสตูดิโอแทนที่จะเป็นออฟฟิศ และใช้ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล

Allard ตั้งทีมย่อยขึ้นมาอีกสองทีมคือ Pioneer Studios และ Alchemie Ventures ขึ้นมาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมของคอมพิวเตอร์ในยุคหน้า จนได้ออกมาเป็นแท็บเล็ต Courier ที่เน้นการสร้างสรรค์เนื้อหา (content creation) และแตกต่างอย่างมากจาก iPad ที่เอาไว้บริโภคเนื้อหา (content consumption)

ทีมงานที่พัฒนา Courier ไม่ใช่เล็กๆ มีคนทำงานรวมกัน 134 คน แยกส่วนประกอบกันชัดเจนว่าใครทำฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ บริการบนกลุ่มเมฆ ฯลฯ ข้อมูลจากทีม Courier ระบุว่าตอนนั้นยังไม่มีผู้ผลิตรายใดสามารถตอบสนองไมโครซอฟท์ได้ จึงต้องลงมือทำเองเกือบหมดทุกส่วนประกอบ ในส่วนของระบบปฏิบัติการใช้วินโดวส์รุ่นพิเศษที่ปรับแต่งมาสำหรับ Courier โดยเฉพาะ

สถานะของ Courier ตอนที่ถูกสั่งยกเลิกถือว่าเริ่มมีตัวตนพอสมควร แต่ยังห่างไกลกับคำว่าผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์อยู่มาก

Steven Sinofsky และ Windows 8

อีกทีมหนึ่งที่พัฒนาแนวคิด "แท็บเล็ต" ภายในไมโครซอฟท์ คือทีมของ Steven Sinofsky ผู้บริหารสูงสุดของฝ่ายวินโดวส์ ที่เพิ่งออก Windows 7 ได้สำเร็จ และกำลังมองหาแนวทางพัฒนา Windows 8 ให้รองรับแท็บเล็ตได้

Sinofsky เองก็เป็นผู้บริหารดาวรุ่งของไมโครซอฟท์ เขาสร้างชื่อมาจากการคุมฝ่าย Office ที่กระบวนการพัฒนาราบรื่น จนบริษัทต้องดึงเขามาแก้ปัญหาในทีมวินโดวส์หลัง Vista ออกมาแย่ ผลงานของเขาใน Windows 7 พิสูจน์ชัดว่าเขา "เอาอยู่" และคนที่ดูงานเปิดตัว Windows 8 คงเห็นหน้าเขากันทุกคน

Sinofsky เป็นขั้วตรงข้ามกับ Allard เขารักษาค่านิยมของไมโครซอฟท์ที่เน้นซอฟต์แวร์ธุรกิจแบบดั้งเดิม เน้นประสิทธิภาพมากกว่าความสร้างสรรค์ และการที่เคยคุมทั้ง Windows และ Office ทำให้เขาเข้าใจความสำคัญของ "ขุมทรัพย์" ทั้งสองอย่างนี้เป็นอย่างดี

ส่วนแนวทางการพัฒนาแท็บเล็ตของ Sinofsky ทุกคนคงเห็นจาก Windows 8 กันแล้วนะครับ (แปลว่าเรื่องนี้จบลงด้วยชัยชนะของ Sinofsky)

Courier vs Windows 8: การตัดสินใจของบิล เกตส์

สถานการณ์ของไมโครซอฟท์ในปี 2009 และต้นปี 2010 คือมีทีมสองทีมกำลังแข่งกันทำแท็บเล็ตอยู่ ทั้งสองทีมนำโดยผู้บริหารดาวรุ่งของไมโครซอฟท์ที่มีโอกาสขึ้นมาเป็นซีอีโอในยุคถัดไป ทีมแรกนำโดย J Allard ที่เคยมีผลงาน Xbox และอีกทีมคือ Sinofsky ที่เคยทำ Office/Windows

ทั้งสองทีมพอฟัดเหวี่ยงกันแบบนี้ คนที่ปวดหัวว่าจะเลือกใครย่อมเป็นสตีฟ บัลเมอร์ ในฐานะซีอีโอของบริษัท

แต่สตีฟ บัลเมอร์ก็ฉลาดไม่ใช่เล่น ในเมื่อตัวเองตัดสินใจไม่ถูก ก็แก้ปัญหาโดยไปเชิญบิล เกตส์ กลับมาตัดสินใจ

บิล เกตส์ นัดประชุมกับ J Allard, Robbie Bach และพนักงานของทีม Courier สองคน เพื่อรับฟังข้อมูลและพิจารณาก่อนตัดสินใจ การประชุมเกิดขึ้นช่วงต้นปี 2010 (ช่วงที่ iPad เปิดตัว) และจุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่คำถามของบิล เกตส์ ต่อ J Allard ว่า Courier จะอ่าน-เขียนอีเมลได้อย่างไร

คำตอบของ J Allard คือ Courier ไม่มีโปรแกรมอีเมล เพราะไม่ได้ออกแบบมาใช้แทนพีซี แต่เป็นส่วนเสริมของพีซี และคนที่มี Courier ก็ควรจะมีสมาร์ทโฟนสำหรับอ่านอีเมลอยู่แล้ว

ข้อมูลจากทีม Courier ที่ได้มาจากห้องประชุมคือ บิล เกตส์ ไม่พอใจกับคำตอบนี้ และพยายามท้าทายแนวคิดนี้ของ Allard สุดท้ายเกตส์ให้ความเห็นของเขาต่อบัลเมอร์ ซึ่งตัวบัลเมอร์เองก็ฟังความเห็นจากคนอื่นๆ ในบริษัทด้วย

CNET ประเมินว่าตรรกะของเกตส์มาจาก Exchange ที่เป็นผลิตภัณฑ์ทำเงินของไมโครซอฟท์อีกตัวหนึ่ง ถ้า Courier ไม่สามารถวางตัวอยู่ในยุทธศาสตร์ร่วมกับ Windows/Office ได้ (Exchange ถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ Office) ก็ย่อมไม่มีที่ยืนภายในบริษัท

จุดจบของ Courier

จุดจบของ Courier ตามมาหลังจากการประชุมของบิล เกตส์ เพียงไม่กี่สัปดาห์ โดยสตีฟ บัลเมอร์ เดินทางไปที่สำนักงานของ Pioneer Studios เพื่อบอกเรื่องนี้ด้วยตัวเอง บัลเมอร์เรียกประชุมทีมงานในห้องประชุมใหญ่ และบอกว่า Courier ถูกยกเลิกเพราะยุทธศาสตร์ไม่สอดคล้องกับภาพรวมของบริษัท

ทีมงาน Courier เล่าว่าในห้องประชุมมีแต่ความเงียบ และทุกคนช็อคเพราะตั้งใจทำงานเต็มที่ โดยไม่ได้สนใจเรื่องยุทธศาสตร์ของฝ่ายบริหารเลย

พนักงานบางคนของทีม Courier เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า ถ้าทีมของเขาทำงานร่วมกับฝ่ายอื่นๆ ในไมโครซอฟท์มากกว่านี้ โครงการ Courier (อาจจะในรูปแบบที่ต่างออกไป) อาจเดินหน้าต่อไปได้

ทีมงานคนหนึ่งบอกว่า "การซุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ซักชิ้นจะทำให้งานเดินหน้าได้เร็วจริง แต่ถ้าโครงการใหญ่ ต้องใช้ทรัพยากรจากส่วนอื่นๆ ของบริษัทด้วย ก็ต้องเลิกซุ่มและหันมาพูดคุยแนวทางกับฝ่ายอื่นในบริษัทจึงจะประสบผล"

เรื่องราวหลังจากนั้น

  • ปัจจุบันทีมงาน Courier แยกย้าย กระจายกันไปอยู่ในฝ่ายต่างๆ ของไมโครซอฟท์ ในขณะที่พนักงานบางส่วนลาออกไปอยู่บริษัทอื่น
  • ไมโครซอฟท์จดสิทธิบัตรจากแนวคิดของ Courier (ข่าวเก่า) แต่ยังไม่มีประกาศใดๆ ในเรื่องนี้
  • หลังจาก Courier ถูกยกเลิกไม่นาน Robbie Bach และ J Allard ลาออกจากบริษัทไปทำอย่างอื่น (ข่าวเก่า) ทั้งสองคนปฏิเสธว่าการลาออกไม่เกี่ยวข้องกับการล้มโครงการ Courier
  • แนวคิด Courier ถูกนำมาสานต่อในแอพชื่อ Tapose บน iPad (ข่าวเก่า) นักพัฒนาทีมนี้ได้รับเงินลงทุนส่วนหนึ่งจาก Allard และเขาให้คำแนะนำกับทีมงานด้วย

Courier ไม่ใช่โครงการเดียวที่ Allard ล้มเหลว เพราะ Kin ก็มีชะตากรรมคล้ายๆ กัน (อ่าน เบื้องหลังความตายของ Kin การเมืองภายในไมโครซอฟท์ทำพิษ)

สรุปปิดท้ายว่าความตายของ Courier และ Kin อาจมีสาเหตุมาจากแนวทางการทำงานของ Allard ที่ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของไมโครซอฟท์นั่นเอง

ที่มา - CNET (ตอนที่ 1), CNET (ตอนที่ 2)

เว็บไซต์ Ars Technica วิจารณ์ว่าการตัดสินใจของไมโครซอฟท์ที่เลือก Sinofsky/Windows 8 นั้นถูกต้องแล้ว เพราะคำนึงถึงอนาคตระยะยาวของบริษัทเป็นหลัก แต่เหตุผลในการตัดสินใจเลิก Courier เพราะไม่มีแอพอีเมล (ตามที่ CNET กล่าวอ้าง) อาจดูไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไร - Ars Technica

Blognone Jobs Premium