ยาฮูเปิดตัว Cocktails เฟรมเวิร์คสำหรับพัฒนา "แอพ" ที่ฉีกแนวคิดแบบเดิมๆ ทิ้งไป
เดิมทีเฟรมเวิร์คสำหรับการพัฒนาแอพ มักใช้กับ "เว็บแอพ" หรือแอพที่ทำงานบนฝั่งเซิร์ฟเวอร์ (เช่น Ruby on Rails) แต่ภายหลังเราก็เห็นเฟรมเวิร์คสำหรับภาษาจาวาสคริปต์ ที่ออกแบบมาทำงานบนฝั่งไคลเอนต์มากขึ้น (เช่น jQuery)
แต่ Cocktails ของยาฮูกลับแนวคิดนี้เสียใหม่ โดยสร้างเฟรมเวิร์คภาษาจาวาสคริปต์ที่โค้ดชุดเดียวกัน สามารถรันได้ทั้งบนไคลเอนต์และเซิร์ฟเวอร์ แถมการทำงานบนไคลเอนต์ยังไม่จำกัดเฉพาะภายในเบราว์เซอร์ แต่ขยายไปยัง iPad/iPhone ได้ด้วย
Cocktails มีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ Mojito และ Manhattan
Mojito คือเฟรมเวิร์คสำหรับพัฒนาแอพแบบที่หลายคนคุ้นเคย มันพัฒนาต่อจาก Node.js แต่ก็เพิ่มเทคโนโลยีเว็บตัวอื่นๆ อย่าง HTML5/CSS3 และเทคโนโลยีของยาฮูเองอย่าง YUI/YQL เข้ามาด้วย สรุปว่ามันขยายจากเฟรมเวิร์คจาวาสคริปต์เพียงอย่างเดียว มาเป็นเฟรมเวิร์คสำหรับพัฒนาแอพ (ที่ใช้เทคโนโลยีเว็บ) เต็มรูปแบบ
แอพที่สร้างด้วย Mojito สามารถทำงานได้ทั้งบนเบราว์เซอร์ตามปกติ หรือจะนำไปรันบนอุปกรณ์พกพาอื่นๆ ก็ได้ ในเบื้องต้นยาฮูบอกว่าจะรองรับ iOS และ Android ก่อน
Manhattan เป็นส่วนเสริมสำหรับแอพที่สร้างด้วย Mojito ในกรณีที่ต้องการนำไปรันบนเซิร์ฟเวอร์ (การรันบนเซิร์ฟเวอร์อาจมีหลายเหตุผล เช่น ไคลเอนต์ไม่รองรับจาวาสคริปต์ หรือ ต้องการพลังประมวลผลที่มากขึ้น) Manhattan จะช่วยนำแอพไปประมวลผลบนเซิร์ฟเวอร์ (เบื้องต้นคือกลุ่มเมฆของยาฮู) และส่งมายังไคลเอนต์ต่อให้
ยาฮูสร้างเทคโนโลยี Cocktails ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความยุ่งยากของนักพัฒนาแอพยุคใหม่ ที่ต้องทำแอพลงหลายแพลตฟอร์ม การที่ใช้โค้ดชุดเดียวรันได้บนอุปกรณ์หลายตัว ย่อมทำให้งานของนักพัฒนาง่ายขึ้น
แอพตัวแรกที่สร้างด้วย Cocktails คือ Yahoo! Livestand แอพนิตยสารอิเล็กทรอนิกส์บน iPad ที่เคยเปิดตัวไปแล้ว (ข่าวเก่า) และเพิ่งเปิดให้ดาวน์โหลดเมื่อเร็วๆ นี้
ยาฮูบอกว่าจะพัฒนา Cocktails ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แล้วจะเปิดซอร์สส่วนของ Mojito ในไตรมาสแรกของปี 2012 และเปิดซอร์ส Manhattan ตามมาหลังจากนั้น
วิดีโอสาธิตการทำงานของ Cocktails ดูได้ตามลิงก์ที่มาครับ (embed ไม่ได้)
ที่มา - Yahoo! Developer Network