Olympus ออกมายอมรับว่ามีการทุจริตในบริษัทจริง

by arjin
8 November 2011 - 09:54

เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกันมาได้ราว 1 เดือนแล้ว จึงต้องขอลำดับเหตุการณ์ก่อนครับ เรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยประธานของ Olympus คือคุณ Tsuyoshi Kikukawa ได้แถลงว่าบอร์ดมีมติให้ซีอีโอ Michael C. Woodford พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเขาบริหารงานโดยไม่สนใจคำเตือนของคนในบอร์ด ทีแรกเองนักข่าวก็มองว่าด้วยลักษณะของบริษัทญี่ปุ่นแล้วการสั่งกันไม่ได้ก็เป็นเหตุผลอันสมควรพอที่จะให้ซีอีโอต้องออกจากตำแหน่ง

ปัญหาคือหลังจากถูกปลดออกไม่กี่วัน อดีตซีอีโอ Woodford ก็เดินสายพบปะสื่อเพื่อจัดรายการ "แฉ" Olympus เองกับมือ โดยระบุว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เขาถูกไล่ออกนั้น เป็นเพราะเขาได้เสนอขอรื้อโครงสร้างการบริหารภายใน Olympus ทั้งหมด เนื่องจากก่อนหน้านี้ Woodford ได้ว่าจ้างผู้ตรวจสอบกิจการภายนอกคือบริษัท PwC จึงพบว่าการเข้าซื้อกิจการบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ของอังกฤษ Gyrus Group ที่มีมูลค่าถึง 2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2008 ของ Olympus นั้น มีรายการค่าใช้จ่ายที่ทำให้เกิดข้อสงสัย คือค่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาสองแห่งที่มีมูลค่าถึง 687 ล้านดอลลาร์

เมื่อตรวจสอบสองบริษัทที่ปรึกษานี้ก็พบว่าเป็นบริษัทที่ไม่มีใครรู้จัก ทั้งยังจดทะเบียนอยู่บนเกาะ Cayman ด้วย นอกจากนี้สองบริษัทที่ปรึกษานี้ยังมีส่วนร่วมในการเป็นที่ปรึกษาในการเข้าซื้อกิจการอื่นอีก 3 บริษัทของ Olympus ในภายหลัง Woodford มองว่าการเสนอขอรื้อโครงสร้างบริหารนี้เลยถูกมองว่าเป็นการท้าทายบุคคลในบอร์ดบริษัทซึ่งล้วนเป็นผู้สูงวัยและมีประสบการณ์ในองค์กรมานานทั้งสิ้น

อดีตซีอีโอ Michael Woodford

ภายหลังรายการแฉนี้ บอร์ดของ Olympus ก็ออกมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและบอกว่าจะฟ้อง Woodford ฐานเปิดเผยข้อมูลภายในบริษัท แต่นักลงทุนในบริษัทต่างเริ่มแสดงอาการไม่เชื่อมั่น ส่งผลให้ราคาหุ้นของ Olympus ร่วงลงอย่างมาก เพื่อลดแรงกดดันที่เกิดขึ้น ประธาน Tsuyoshi Kikukawa จึงได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งในสองสัปดาห์ให้หลังจากการไล่ซีอีโอออก โดยแต่งตั้ง Shuichi Takayama ซึ่งเป็นประธานฝ่ายธุรกิจกล้องถ่ายรูปขึ้นเป็นประธานคนใหม่ ซึ่ง Takayama ก็ออกมาช่วยยืนยันอีกแรงว่าการออกมาแฉของ Woodford เป็นเรื่องที่ไร้จรรยาบรรณทางธุรกิจ

แม้บอร์ดจะลดแรงเสียดทานกับผู้ถือหุ้นแต่ Woodford ก็ยังคงไม่หยุดแฉ เขาเดินสายเปิดโปงข้อมูลว่าการเข้าซื้อบริษัทอีก 3 แห่งต่อจาก Gyrus นั้นล้วนแต่ไม่ได้เป็นธุรกิจที่มีประโยชน์เสริมกับองค์กรเลย อีกทั้งในขั้นตอนการเข้าซื้ออีก 3 บริษัทนี้ก็มีค่าจ้างที่ปรึกษารวมมูลค่าไม่น้อยกว่าการซื้อ Gyrus อีกด้วย เขายังบอกว่าได้ส่งเรื่องนี้ให้กับสำนักงานสอบสวนคดีพิเศษในอังกฤษและอเมริกา (เอฟบีไอ) เพื่อช่วยตรวจสอบอีกทางด้วย

Shuichi Takayama

ความคืบหน้าล่าสุดเกิดขึ้นวันนี้เมื่อประธาน Takayama ได้ออกมาแถลงและแสดงความขอโทษต่อนักลงทุน โดยเขาบอกว่าจากผลการสืบสวนนั้นพบว่ามีการกระทำที่ไม่ถูกต้องในบริษัทจริง โดยมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างน้อยสามคนคืออดีตประธาน Kikukawa, รองประธาน Hisashi Mori ซึ่งถูกไล่ออกวันนี้และผู้ตรวจสอบบัญชี Hideo Yamada

ผลการสืบสวนพบว่า Olympus ได้ทำการจดทะเบียนตั้งบริษัทจัดการกองทุนไว้ที่เกาะ Cayman ไว้เมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน โดยบริษัทนี้มีหน้าที่รับไซฟ่อนหน่วยหลักทรัพย์การลงทุนของ Olympus ที่ขาดทุนเอาไว้ และ Olympus ก็ใช้ค่าธรรมเนียมในการจ้างที่ปรึกษานี้เป็นที่ผ่องถ่ายเงินออกจากบริษัทเพื่อไปโปะส่วนที่ขาดทุน ทำให้นักลงทุนไม่สามารถเห็นความผิดปกติใน Olympus ได้จากงบการเงิน

วิธีการดังกล่าวเกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียนในประเทศญี่ปุ่นมาแล้วหลายครั้ง เรียกว่าวิธี Tobashi ซึ่งทุกบริษัทที่ถูกค้นพบว่าใช้วิธีซุกซ่อนตัวเลขขาดทุนทางการเงินแบบนี้ก็จบลงด้วยการล้มละลายทั้งสิ้น เนื่องจากคดีนี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระบบตรวจสอบทางการเงินของตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงกำลังพิจารณาถอดถอน Olympus ออกจากตลาดหุ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนทั่วโลกกลับคืนมา

มีข้อเสนอจากนักลงทุนให้นำตัว Woodford กลับมาเป็นซีอีโอเนื่องจากเขาน่าจะเป็นผู้สะสางปัญหาได้ดีที่สุดเพราะรู้เรื่องแต่ต้น โดยตัว Woodford เองบอกว่าเขายินดีที่จะกลับมาแม้รู้ว่าคนในจะต่อต้านก็ตาม ขณะที่ประธาน Takayama ปฏิเสธว่าบริษัทไม่มีแผนจะนำตัวอดีตซีอีโอคนนี้กลับมาแต่อย่างใด

ราคาหุ้นของ Olympus นับจากที่ซีอีโอถูกไล่ออกซึ่งเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือนนั้นร่วงมาแล้วถึง 70% โดยรายได้ของ Olympus นั้นมาจากการขายเครื่องมือทางการแพทย์ 50% และกล้องถ่ายรูป 50%

อ่านข่าวนี้จบไม่รู้ชาว blognone ที่ใช้กล้อง Olympus จะรู้สึกหวั่นใจกันหรือไม่

ที่มา: Bloomberg

Blognone Jobs Premium