กฏหมาย SOPA ถูกต่อต้านเป็นวงกว้าง, มาตรการในกฏหมายขัดต่อมาตรฐาน DNSSEC

by lew
21 November 2011 - 02:11

กฎหมาย Stop Online Piracy Act (SOPA) เป็นกฏหมายที่ให้อำนาจรัฐในการปิดกั้นเว็บไซต์ด้วยเหตุผลจากการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กฏหมายฉบับนี้ให้อำนาจรัฐไว้กว้างมากถึงขนาดที่สามารถห้ามการ "ลิงก์" ไปยังเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

ภายใต้กฏหมายนี้ ให้อำนาจไว้กับรัฐและเอกชนไว้สามส่วนใหญ่ๆ

  • Section 102: ให้อัยการสามารถขออำนาจศาล เพื่อประกาศแบนเว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่ง จากเว็บค้นหา, บริการ DNS, เซิร์ฟเวอร์ใดๆ, บริการจ่ายเงิน, และการโฆษณา
  • Section 103: ให้อำนาจเจ้าทุกข์ในการยื่นคำร้องไปยังบริการจ่ายเงิน เพื่อให้บริการ เช่น Paypal หรือ VISA เพื่อหยุดให้บริการแก่เว็บที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อผู้ให้บริการจ่ายเงินได้รับคำร้องจะมีหน้าที่ต้องติดต่อเว็บไซต์ที่ถูกกล่าวหาเอง เพื่อรอรับการอุทธรณ์คำร้อง และกระบวนการทั้งหมดต้องเสร็จสิ้นภายในห้าวัน
  • Section 104: บริการจ่ายเงินสามารถหยุดให้บริการเองได้ แม้จะไม่ได้รับคำร้องใดๆ หากพิจารณาว่าเว็บไซต์หนึ่งๆ ทำความผิดฐานละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาก็สามารถไม่ให้บริการได้โดยไม่มีความผิด

    กฏหมายนี้ไม่เพียงกระทบถึงเว็บไซต์ที่มีการละเมิด แต่ยังกระทบไปยังอินเทอร์เน็ตโดยรวม โดยเฉพาะการมองเว็บเป็น "โดเมน" งานนี้บริษัทที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่ 9 บริษัท คือ AOL, eBay, Facebook, LinkedIn, Mozilla, Twitter, Yahoo!, และ Zynga ได้ร่วมกันส่งจดหมายถึงสภาคองเกรสให้ทบทวนกฏหมายนี้ ทางกูเกิลนั้นส่งตัวแทนไปเพื่อให้การต่อสภานิติบัญญัติ เพื่อให้คำแนะนำในการต่อต้านการละเมิดที่เจาะจงมากกว่านี้

ทุกวันนี้ทางการสหรัฐฯ ใช้กระบวนการ DNS poisoning หรือการปลอมแปลงค่า DNS เพื่อย้ายผู้ใช้จากเว็บจริงที่ถูกปิดกั้นไปยังเว็บอื่นๆ แต่ตอนนี้โลกกำลังเปลี่ยนไปใช้ DNSSEC การปลอมแปลงเว็บไซต์ผ่านทาง DNS เช่นนี้จึงไม่สามารถทำได้โดยไม่บังคับให้ผู้ให้บริการทำสิ่งที่ขัดต่อมาตรฐานในโลกของ DNSSEC เพราะแม้แต่การตอบว่าโดเมนใดๆ ไม่มีตัวตนก็มีระบบการยืนยันที่ไม่สามารถปลอมแปลงได้ (NSEC3 - rfc5155)

ที่มา - Google Public Policy, EFF, The Register

Blognone Jobs Premium