มินิรีวิว Acer Aspire S3 - Ultrabook ตัวแรกจาก Acer

by mk
7 January 2012 - 05:05

ปีนี้เราคงเห็นกองทัพ ultrabook ออกมาถล่มตลาดกันเหมือนกับที่ netbook เคยเป็นกระแสอยู่ช่วงหนึ่ง ในกลุ่ม ultrabook รุ่นแรกๆ ที่เปิดตัวตั้งแต่ปีที่แล้วก็มี Acer Aspire S3 (เปิดตัว ก.ย. 2011) ซึ่งก็เข้ามาทำตลาดในบ้านเราสักระยะแล้ว

ผมมีโอกาสได้เครื่องมารีวิว (ดองนานไปหน่อยเลยเพิ่งได้เขียน) ก็มาดูกันหน่อยครับว่าความพยายามครั้งแรกของ Acer กับ ultrabook เป็นอย่างไรกันบ้าง

รู้จักกับ ultrabook

Ultrabook เป็น "คำประดิษฐ์" ของอินเทลที่สร้างขึ้นมาเรียกโน้ตบุ๊กสายตระกูล thin & light แต่เดิม (หรือบางที่เรียก ultraportable) โน้ตบุ๊กกลุ่มนี้มีมานานแล้วในตลาด เพียงแต่ขายราคาแพงกว่าโน้ตบุ๊กทั่วไป ซึ่งการลงมาลุยตลาดของอินเทลโดยออกชิปเฉพาะกิจครั้งนี้ ก็มีผลช่วยให้โน้ตบุ๊กกลุ่มนี้ราคาถูกลงพอสมควร (แต่เทียบกับเน็ตบุ๊กก็ยังแพงอยู่นะครับ)

ultrabook ส่วนใหญ่จะเปิดตัวที่ขนาดหน้าจอ 13.3" ขึ้นไป (ซึ่งเป็นตลาดที่ MacBook Air มาสร้างเอาไว้) เหตุผลที่ไม่มีจอขนาดเล็กกว่านี้คงเป็นเพราะไม่ต้องการไปชนกับตลาดเน็ตบุ๊กนั่นเองครับ (แต่เราก็เริ่มเห็นพวกโน้ตบุ๊กจอ 11" ที่ใช้ AMD Fusion มาแย่งตลาดอีกเหมือนกัน)

Acer Aspire S3

เกริ่นมาพอแล้ว มาดู Aspire S3 กันดีกว่าครับ สเปกพื้นฐานของมันตามนี้

  • จอ 13.3" 1366x768
  • แรม 4GB
  • การ์ดจอ Intel HD 3000 แรม 128MB
  • USB 2 พอร์ต (ไม่มี USB 3.0), HDMI, ช่องเสียบ SD
  • น้ำหนักประมาณ 1.33 กิโลกรัม
  • Windows 7 Home Premium 64 บิต

สำหรับซีพียูและฮาร์ดดิสก์ ผมดูจากโบรชัวร์แล้ว รุ่นที่เอาเข้ามาทำตลาดเมืองไทยมี 3 รุ่นย่อยคือ

  • Core i3-2367M 1.4GHz + ฮาร์ดดิสก์ 320GB = ราคา 27,900 บาท
  • Core i5-2467M 1.6GHz + ฮาร์ดดิสก์ 320GB = ราคา 29,900 บาท
  • Core i7-2637M 1.7GHz + SSD 240GB = ราคา 49,900 บาท

รุ่นที่ได้มารีวิวเป็นตัวท็อปสุด Core i7 + SSD นะครับ (สเปกจะใกล้เคียงกับ MacBook Air ตัวท็อป) รุ่นท็อปราคาอาจแพงเกินเอื้อมไปบ้าง แต่ถ้าดูรุ่นมาตรฐานก็อยู่ในระดับที่พอซื้อกันไหวสำหรับคนที่อยากได้โน้ตบุ๊กลักษณะนี้จริงๆ

รายละเอียดอื่นๆ ดูกันเองในเว็บ Acer ครับ

รูปลักษณ์ภายนอก

แวบแรกที่เห็น หน้าตามันคล้ายๆ กับ MacBook Air ของแอปเปิลพอสมควร แต่ลองจับไปจับมาก็ไม่เหมือนเสียทีเดียว เพราะมีกลิ่นของ Acer ยุคหลัง (สีเงินโลหะ) แทรกอยู่เยอะมาก

ด้านหน้าจะไม่มีพอร์ตเชื่อมต่อใดๆ เพราะขนาดของมันที่บางมาก และฝาพับก็ไม่มีตะขอหรือล็อค เป็นการล็อคด้วยแม่เหล็กทั้งหมด (ซึ่งก็จะเปิดยากสักนิดถ้าเปิดตัวมือเดียว)

พอร์ตส่วนใหญ่จะย้ายมาอยู่ด้านหลังซึ่งเป็นจุดที่หนาที่สุดของเครื่อง ได้แก่ สายชาร์จไฟ (ผมลองเอาสายชาร์จ Acer รุ่นอื่นๆ มาเสียบแล้วใช้งานได้ครับ), HDMI และ USB x2

ใต้เครื่องก็ไม่มีอะไรพิสดาร สังเกตมีลำโพงอยู่ใต้เครื่องทั้งสองด้าน

ด้านซ้ายของตัวเครื่อง เป็นช่องเสียบหูฟัง จากมุมนี้จะเห็นการออกแบบแนวเดียวกับ MacBook Air คือเครื่องบางลงเรื่อยๆ ในทางปลาย

ด้านขวามือเป็นช่องเสียบ SD Card ครับ

คีย์บอร์ดและทัชแพด

คีย์บอร์ดเป็นแบบชิคเล็ตตามสมัยนิยม และทัชแพดก็เป็นแบบแผ่นเรียบแผ่นเดียว ไม่มีปุ่มแยกให้เห็น ตามสไตล์ของแอปเปิล

ปุ่มเปิดเครื่องจะอยู่บริเวณฝาพับ

คีย์บอร์ดกลับกลายเป็นจุดอ่อนที่สุดของ Acer Aspire S3 เครื่องนี้ จากภาพจะเห็นว่าปุ่มลูกศรเล็กมาก แถมปุ่มจะแบนกว่าปกติทำให้กดผิดพลาดได้ง่ายมาก ส่วนปุ่มตัวหนังสือทั่วไปจะแบน การกดลงไปจะทำได้ไม่ลึกนัก และผมพบว่าหลายครั้งผมเจออาหาร "พิมพ์ไม่ติด" ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นปัญหาของคีย์บอร์ดลักษณะนี้เอง หรือเป็นปัญหาของเครื่องที่ได้มาทดสอบ

จากภาพคีย์บอร์ดทั้งหมด เราจะเห็นว่ายังมี "ที่ว่าง" อีกมากให้ขยายปุ่มเล็กๆ ได้เต็มพื้นที่ แต่ Acer กลับเลือกไม่ทำอย่างนี้ ทำให้การพิมพ์คีย์บอร์ดบน S3 เป็นประสบการณ์ที่ไม่น่าประทับใจสำหรับผมครับ (พยายามใช้เขียนข่าวบน Blognone แล้วไม่สำเร็จ ทนไม่ไหวก่อน)

ทัชแพดทำได้ค่อนข้างโอเค ปรับแต่งด้านซอฟต์แวร์มาเรียบร้อย รองรับ gesture แบบหลายนิ้วหลายอย่างมาให้ตั้งแต่แรก (รวมทั้ง 2-finger scrolling แต่ยังไม่มี 2-finger right click)

จอภาพ

จอของ Acer โฆษณาว่าเป็น LED-backlit ให้ความสว่างมากกว่าปกติ ความละเอียด 1366x768 อาจจะน้อยไปสักนิดแล้วสำหรับโน้ตบุ๊กจอ 13" ในปัจจุบัน (น่าจะได้สัก 1440x900 แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไรมากนัก)

แต่ที่เลวร้ายคงเป็น "จอกระจก" ที่สะท้อนอย่างร้ายกาจ ถ้าแสงในห้องทำงานจัดไม่ดีพอ ก็เล่นเอาแย่เหมือนกันครับ น่าเสียดายว่าผู้ผลิตโน้ตบุ๊กในปัจจุบันไม่ค่อยมีตัวเลือกจอแบบด้านให้เราๆ สักเท่าไรแล้ว

การใช้งาน

Aspire S3 มีน้ำหนักประมาณ 1.3 กิโลกรัม ก็ถือว่าเบามากแล้วสำหรับคนที่เคยแบกโน้ตบุ๊กขนาดปกติมา แต่ก็ไม่ได้เบาจนน่าตื่นเต้นเหมือนกับเน็ตบุ๊กหรือโน้ตบุ๊กสายที่เบาประมาณ 1 กิโลกรัม สรุปว่าตรงนี้ไม่มีอะไรแปลกใหม่ แต่ในการใช้งานจริงก็เบาอยู่ในขั้นที่พกพาได้สบาย ไม่เมื่อย ไม่หนัก

ความบางคงไม่มีผลต่อการใช้งานมากนัก แต่ก็ทำให้ตัวเครื่องดูดีขึ้นมาหลายเท่า ลองวางเทียบกับ Aspire รุ่นอื่นๆ จะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจน

เนื่องจากรุ่นที่ผมได้มาเป็นรุ่นท็อป การใช้งานจึงรวดเร็วมาก ทั้งการประมวลผล และการปลุกให้ตื่นจาก sleep (เพราะเป็น SSD) ถือว่าน่าประทับใจมาก อย่างไรก็ตามใช้โน้ตบุ๊กระดับนี้แล้วก็เกิดคำถามว่า เราต้องการสเปกขนาดนี้ในการใช้งานจริงๆ มากน้อยแค่ไหน

ตามสเปก Acer บอกว่าแบตเตอรี่ทำงานได้ 7 ชั่วโมง (6 ชั่วโมงสำหรับรุ่นที่เป็นฮาร์ดดิสก์) ผมลองใช้งานแบบปกติ ไม่ได้วัดระยะการใช้งานแบบจริงจังอะไร อยู่ได้ประมาณ 5 ชั่วโมงนิดๆ ครับ ก็ถือว่าโอเคพอสมควรสำหรับคนที่คิดจะซื้อไปทำงานนอกสถานที่โดยไม่นำอแดปเตอร์ไปด้วยเป็นครั้งคราว

สรุป

ข้อดี

  • บาง เบา แรง
  • คุณภาพของวัสดุทำได้ดี การประกอบดี

ข้อเสีย

  • คีย์บอร์ดเข้าขั้นแย่
  • จอกระจกสะท้อนแสงมาก
  • หน้าตาเหมือน MacBook Air ในระดับหนึ่ง

ผมคิดว่าสุดท้ายแล้วปัจจัยในการผลัก ultrabook ให้เกิดคงเป็นเรื่อง "ราคา" เป็นหลัก (เหมือนกับที่เน็ตบุ๊กเคยบูมมาได้เพราะเหตุนี้) ซึ่งราคาชุดที่อินเทลตั้งมาในขั้นนี้ หลายคนอาจมองว่ายังไม่ถึงเวลาของมันสักเท่าไร

Blognone Jobs Premium