Eric Schmidt ประธานของกูเกิลไปพูดที่ CES โดยพูดถึงประเด็นเรื่อง fragmentation ที่ถูกวิจารณ์มาโดยตลอด
Schmidt บอกว่าความแตกต่าง (differentiation) เป็นสิ่งที่ดี และความแตกแยก (fragmentation) เป็นเรื่องไม่ดี ความแตกต่างหมายถึงทางเลือกของผู้บริโภค หมายถึงนวัตกรรมใหม่ๆ และหมายถึงการแข่งขันของผู้ผลิตที่จะนำเสนอว่าผลิตภัณฑ์ของตัวเองดีกว่าคู่แข่ง ส่วนความแตกแยกคือเราไม่สามารถรันแอพบนอุปกรณ์ต่างชนิดกันได้
ยุทธศาสตร์หลักของกูเกิลคือให้ผู้ผลิตทุกรายเข้าถึง Ice Cream Sandwich และอนุญาตให้ทุกรายปรับแต่งหน้าตาของมันได้อย่างเต็มที่ ตราบเท่าที่ยังรันแอพข้ามกันได้ กูเกิลมองว่านี่เป็นสิ่งดีต่อผู้บริโภคเพราะสร้างทางเลือก (choice)
Schmidt บอกว่ากูเกิลไม่ได้บังคับให้ทุกคนใช้อินเทอร์เฟซที่เหมือนกันหมดทุกราย ทุกคนมีเสรีที่จะเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ตัวเองเห็นว่าดี และถ้าผู้บริโภคไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงนี้ ก็มีตัวเลือกอื่นๆ ให้เลือกแทนอีกมาก
เขายังบอกว่าสิ่งที่ผู้ใช้สนใจจริงๆ คือสภาพแวดล้อมของแอพที่ทำงานข้ามกันได้ (an interoperable ecosystem of apps) ซึ่งเป็นสิ่งที่บางคนมองว่าระบบของแอปเปิลเสนอให้ไม่ได้ เขาบอกว่าแอปเปิลทำงานของตัวเองได้ดี แต่โมเดลการตรวจสอบแอพอย่างละเอียดไม่ใช่แนวทางที่กูเกิลต้องการ และตลาดมีที่ว่างพอสำหรับโมเดลทั้งสองแบบให้อยู่ร่วมกันได้
เขาพูดถึงคดีฟ้องร้องระหว่างแอปเปิลกับซัมซุงว่า แอปเปิลพยายามอย่างหนักในการแบนแท็บเล็ตของซัมซุงไม่ให้วางขาย เรื่องนี้ถือเป็นการลดทอนทางเลือกของผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคมีสิทธิจะตัดสินว่าเลือกผลิตภัณฑ์ตัวใดอย่างเท่าเทียมกัน
นอกจากนี้เขาพูดถึงไมโครซอฟท์ว่ากำลังติดหล่มของการเปลี่ยนผ่านทางสถาปัตยกรรมของตัวเอง (architectural transition) ที่ไมโครซอฟท์อาจข้ามไปไม่พ้นก็เป็นได้ และพูดถึง Google TV ว่า "ไปได้ดี" (doing very well) และจะมีพาร์ทเนอร์เพิ่มอีกมากในครึ่งหลังของปีนี้
ที่มา - PC Mag