ข่าวนี้รวมสามเรื่องมาไว้คราวเดียวเลยเพราะเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องครับ เริ่มต้นที่หนังสือพิมพ์ The New York Times ได้นำเสนอเรื่องราวที่ต่อเนื่องจากประเด็นว่าทำไมแอปเปิลต้องเลือกจีนเป็นฐานการผลิตสินค้า โดยเป็นการบอกเล่าถึงภาพอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นภายในโรงงานประกอบชิ้นส่วน ตลอดจนโรงงานซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับแอปเปิลทั้งหมด
ต้นทุนมนุษย์ในสินค้าแอปเปิล
เมื่อพูดถึงโรงงานที่ผลิตสินค้าให้กับแอปเปิล ชื่อของบริษัท Foxconn Technology ย่อมถูกนึกถึงก่อนใครอื่น และก็โรงงานของบริษัทนี้เองที่มีข่าวตั้งแต่พนักงานฆ่าตัวตายกันอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ จนถึงสภาพการทำงานที่ไม่เหมาะสม ซึ่งแอปเปิลก็รับปากจะดูแลจัดการเรื่องนี้ แต่จากรายงานของหน่วยงานตรวจสอบความปลอดภัยด้านแรงงานระบุว่า บรรดาผู้ผลิตสินค้าให้แอปเปิลยังคงละเมิดระเบียบในการปฏิบัติต่อพนักงานที่เหมาะสมอยู่
มีรายงานว่า ระยะเวลาในทำงานก็ยังเป็นปัญหา พนักงานถูกสั่งให้ทำโอทีจนเกินข้อกำหนด 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หลายคนต้องทำงาน 7 วันไม่มีหยุดพัก หลายพื้นที่การทำงานที่มีความเสี่ยงต่อสารเคมีที่เป็นอันตรายก็ไม่ได้ถูกควบคุมการทำงานให้รัดกุม พนักงานไม่น้อยต้องดมสารพิษจนเป็นผลเสียกับร่างกายในระยะยาว บริษัทคู่ค้าเหล่านี้ก็เพียงแก้ปัญหาโดยขอให้พนักงานลาออกและจ่ายเงินชดเชยให้ตามสมควร
อดีตผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งของแอปเปิลกล่าวว่าแอปเปิลนั้นรู้ถึงปัญหาการปฏิบัติต่อแรงงานที่ไม่เหมาะสมของโรงงานผู้ผลิตมานานแล้ว แต่ที่เลือกไม่ลงไปจัดการอะไรก็เพราะว่าวิธีที่ใช้อยู่นั้นดีสำหรับแอปเปิลแล้ว แอปเปิลเองก็มีประกาศชัดว่าถ้าตรวจพบโรงงานผู้ผลิตมีการละเมิดข้อตกลง โทษสูงสุดก็คือการยกเลิกสัญญาจ้างผลิต แต่สำหรับผู้ผลิตบางรายที่ใหญ่ยักษ์อย่าง Foxconn นั้นเป็นคู่สัญญาที่แอปเปิลยากที่จะบอกเลิกได้ เพราะการหาผู้ผลิตรายใหม่สำหรับแอปเปิลที่ให้ได้ทั้งกำลังการผลิต ต้นทุนที่ต่ำแบบ Foxconn นั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง
สภาพของ Foxconn ที่ไม่เปลี่ยนไปจากอดีต
"เหนื่อยทำงานวันนี้ หรือจะเหนื่อยออกไปหางานใหม่วันพรุ่งนี้" คือป้ายเตือนใจที่แปะไว้บอกพนักงานกว่า 120,000 คนในโรงงาน Foxconn ที่เมืองเฉิงตู ประเทศจีน สภาพการทำงานที่นี่มีสองแบบคือถ้าได้นั่งเก้าอี้ก็จะเป็นแบบไม่มีพนักพิง บางไลน์การผลิตพนักงานต้องยืนทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน หลายคนถึงกับป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับขาจนเดินเหินไม่สะดวกไปเลยก็มี และหลายครั้งพนักงานก็ถูกสั่งให้ทำงานต่อเนื่องถึงสองกะโดยไม่ได้หยุดพัก
เมื่อปีที่แล้วหลังเกิดเหตุระเบิดในโรงงานดังกล่าวจนมีผู้เสียชีวิต ต่อมาภายหลังการสอบสวนก็พบว่าเหตุเกิดเริ่มมาจากพื้นที่ของเครื่องจักรที่ใช้ในการขัดผิวฝา iPad ซึ่งในบริเวณนั้นเต็มไปด้วยฝุ่นผงอลูมิเนียม แต่ไม่มีการควบคุมฝุ่นละอองเหล่านี้ให้ดีพอ แม้พนักงานจะสวมอุปกรณ์รัดกุมดี แต่ฝุ่นละอองนี้ก็สะสมเกาะในเครื่องจักรจนเป็นสาเหตุให้เครื่องจักรดังกล่าวระเบิดจนเป็นโศกนาฏกรรมในที่สุด ญาติของผู้เสียชีวิตได้รับเงินช่วยเหลือจาก Foxconn เป็นเงิน 150,000 ดอลลาร์ในเวลาต่อมา แต่เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดซ้ำอีกครั้งที่โรงงานคู่ค้าของแอปเปิลเช่นกันที่เซี่ยงไฮ้ จึงเกิดคำถามว่าแอปเปิลพยายามแค่ไหนที่จะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาลักษณะนี้
ภาพจาก Wired
Foxconn เองได้นำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะว่าบริษัทมีการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเหมาะสม ใครที่ต้องทำงานใกล้สารเคมีก็ได้รับการดูแลอย่างดี พนักงานได้พักระหว่างวัน 1 ชั่วโมง สภาพทำงานก็ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ และสถิติความปลอดภัยของ Foxconn ก็อยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับบริษัทอุตสาหกรรมในจีน แต่ดูเหมือนความจริงที่ถูกรายงานออกมาเป็นระยะๆ นั้นดูจะสวนทางกับสิ่งที่ Foxconn พยายามนำเสนอ
ใช่ว่าแอปเปิลไม่ใส่ใจ
ปัจจุบันแอปเปิลได้จัดทำหน้าความรับผิดชอบต่อซัพพลายเออร์ไว้ในเว็บขององค์กร เพื่อแสดงให้เห็นว่าแอปเปิลตระหนักต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และต้องการให้คู่ค้ามีการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเหมาะสมเช่นกัน และยืนยันว่าถ้าตรวจพบการละเมิดสิทธิแรงงานขั้นสูงและปัญหาไม่ถูกแก้ไขภายใน 90 วัน บริษัทนั้นจะถูกยกเลิกสัญญาทันที
สตีฟ จ็อบส์เองก็เคยกล่าวถึงเรื่องคู่ค้าโรงงานผลิตในงานสัมมนาหนึ่งเมื่อปี 2010 ว่า "แอปเปิลเป็นบริษัทที่เข้าใจและสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานได้ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ไม่ใช่แค่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี แต่ถือว่าดีที่สุดในทุกอุตสาหกรรมเลยก็ว่าได้ ถ้าคุณเข้าไปในโรงงานแล้วคุณจะต้องตะลึงแบบที่ผมเจอ มันมีทั้งร้านอาหาร มีโรงภาพยนตร์ มีโรงพยาบาล มีสระว่ายน้ำ ทุกอย่างอยู่ในนั้น มันเป็นโรงงานที่สวยงามมาก"
แอปเปิลเริ่มออกรายงานต่อสาธารณะเรื่องการตรวจสอบโรงงานคู่ค้าทั้งโรงงานที่มีความสัมพันธ์แบบโดยตรงและระดับรองตั้งแต่ปี 2007 ซึ่งจนถึงปัจจุบันรายงานก็ยังคงพบปัญหาการใช้แรงงานเด็ก สภาพการทำงานที่ไม่เหมาะสม การให้ทำงานต่อเนื่องนานเกินไป โดยอดีตผู้บริหารแอปเปิลรายเดิมบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าแอปเปิลแค่พยายามแสร้งใส่ใจในปัญหา แต่ไม่ได้พยายามลงไปแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพราะผ่านมาหลายปีแล้วปัญหาซ้ำเดิมก็ยังคงเกิดอยู่โดยตลอด โรงงานคู่ค้าที่มีเกือบ 400 แห่งนั้น จนถึงตอนนี้ถูกเลิกสัญญาจ้างไปแค่ 15 รายเท่านั้น
อย่างไรก็ตามรายงานด้านความรับผิดชอบต่อซัพพลายเออร์ฉบับปี 2011 ของแอปเปิล ระบุว่าจำนวนครั้งที่แอปเปิลเข้าตรวจโรงงานนั้นสูงขึ้นทุกปี และปัญหาก็ได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้แอปเปิลยังช่วยฝึกอบรมพนักงานนับล้านคนให้รู้จักปกป้องสิทธิแรงงานของตนเองด้วย
ปัจจุบันแอปเปิลยอมเปิดเผยรายชื่อโรงงานคู่ค้าเกือบทั้งหมดผ่านเว็บไซต์ของตน โดยโรงงานบางแห่งที่ถูกปิดเป็นความลับก็ด้วยเหตุผลด้านการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่
ถูกบีบให้ลดต้นทุนทุกวิถีทาง
หลายคนอาจคิดว่าการได้เป็นซัพพลายเออร์ให้แอปเปิลคือข่าวดี ซึ่งก็อาจจะจริง เพราะแต่ละวันมีบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนจำนวนทั้งเดินทางไปสำนักงานใหญ่แอปเปิล หรือเชื้อเชิญบรรดาผู้บริหารระดับสูงด้วยหวังว่าแอปเปิลจะเลือกซื้อชิ้นส่วนจากบริษัทตน แต่เมื่อข้อตกลงบรรลุ ความท้าทายสำหรับบริษัทก็เริ่มขึ้น
แอปเปิลไม่ใช่ลูกค้าที่แสนดีนัก แอปเปิลจะเริ่มด้วยการขอข้อมูลต้นทุนวัตถุดิบ จำนวนพนักงานที่ใช้เพื่อให้ผลิตได้ตามจำนวน ค่าจ้างพนักงานแต่ละคน เรียกได้ว่าข้อมูลทางการเงินทุกบรรทัดจะถูกเปิดเผยเพื่อให้แอปเปิลประเมินได้ว่าแอปเปิลควรจ่ายเท่าไหร่สำหรับชิ้นส่วนนี้ และข่าวร้ายคือซัพพลายเออร์มักได้ส่วนต่างที่เป็นกำไรน้อยมาก
ภาพจาก Edible Apple
เมื่อถูกกดราคาอย่างหนักแม้มาพร้อมปริมาณสั่งซื้อที่มหาศาล บรรดาซัพพลายเออร์จึงไม่มีทางเลือกนอกจากลดต้นทุนทางอื่นทุกอย่างที่อาจไม่เหมาะสม ตัวอย่างที่เป็นข่าวเมื่อหลายปีก่อนคือโรงงาน Wintek ซึ่งเดิมใช้แอลกอฮอล์ในการทำความสะอาดหน้าจอ iPhone ก็เปลี่ยนไปใช้เฮกเซนที่ราคาถูกแต่มีความอันตรายมากกว่า และสามารถทำความสะอาดหน้าจอได้รวดเร็วกว่า จนเกิดเหตุพนักงานล้มป่วยหลายร้อยคนจากการสูดดมสารพิษนี้ ซึ่งต่อมาแอปเปิลก็สั่งห้ามโรงงานนี้ใช้เฮกเซนอีก
แม้เกิดเหตุร้ายนี้ขึ้นรายงานข่าวก็ระบุว่าแอปเปิลไม่ได้เห็นใจ Wintek เลย สัญญาจ้างผลิตปีต่อมา แอปเปิลได้ต่อรองขอลดราคาชิ้นส่วนลงอีก ซึ่งนั่นเท่ากับว่าแอปเปิลก็เหมือนบีบโรงงานคู่ค้าให้ต้องลดต้นทุนด้วยวิธีการแผลงๆ อีกครั้ง
ผู้เกี่ยวข้องระบุว่าอันที่จริงแอปเปิลใช่ว่าจะไม่มีหัวจิตหัวใจ แต่เพราะเป้าหมายธุรกิจที่เป็นหลักสำคัญ ทำให้หลายครั้งแอปเปิลก็ต้องหลับตาข้างเดียวไม่ใส่ใจต่อการละเมิดแรงงานที่เกิดขึ้น เพราะถ้าต้องไปทำทุกอย่างให้ถูกต้องนั้น ก็อาจส่งผลต่อความสามารถในการออกผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ตลอดจนปริมาณและคุณภาพซึ่งเป็นจุดแข็งของแอปเปิลในตอนนี้ด้วยเช่นกัน
ทิม คุกบอกเราทำดีกว่าใครแล้ว
หลังบทความนี้เผยแพร่ออกไปวันเดียว ซีอีโอทิม คุกก็ส่งอีเมลภายในถึงพนักงานแอปเปิล โดยบอกเล่าว่าทุกปีมีพนักงานแอปเปิลจำนวนมากที่ต้องเดินทางไกล เพื่อไปควบคุมดูแลซัพพลายเออร์อย่างใกล้ชิด และแอปเปิลก็ได้เพิ่มมาตรฐานในการทำงานของโรงงานเหล่านี้ให้สูงขึ้นทุกปี เพื่อให้แน่ใจว่าสภาพการทำงานในที่เหล่านั้นมีความเหมาะสมที่สุด ซึ่งไม่มีใครในอุตสาหกรรมที่กล้าลงทุนทำเท่ากับที่แอปเปิลทำตอนนี้
ในอีเมลดังกล่าว ทิม คุกยังพูดถึงโปรแกรมการฝึกอบรมพนักงานที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานตลอดสายการผลิตทั้งหมดนับล้านคน ว่าเป็นการฝึกอบรมเพื่อให้พนักงานเหล่านี้รู้ถึงสิทธิที่พวกเขามี สอนให้พวกเขากล้าพูดถ้าหากได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม
ทิม คุกยังกล่าวอีกว่าทุกครั้งที่เกิดปัญหาไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย สภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมด้านแรงงานแม้เพียงเล็กน้อย แอปเปิลจะเข้าไปดูแลปัญหาเพื่อแก้ไขโดยทันที แอปเปิลสามารถเลือกไม่รายงานปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้เพื่อให้ภาพใหญ่ออกมาดูดี แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่คนที่อยู่ในระดับผู้นำอุตสาหกรรมพึงกระทำ เขาปิดท้ายว่าแอปเปิลจะยังคงมุ่งมั่นลงลึกและแก้ไขทุกปัญหาในสายการผลิต สิ่งเดียวที่แอปเปิลจะไม่ทำคือการหลับตาทำเป็นไม่รับรู้กับเรื่องที่เกิดขึ้น
เรียกร้องให้แบนแอปเปิล
ในขณะเดียวกันสื่อหลายสำนักในอเมริกาก็เริ่มแสดงความเห็นต่อรายงานดังกล่าว ระบุว่าแอปเปิลนั้นควรออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้นให้มากกว่านี้ โดย L.A. Times ได้เปิดประเด็นแรงๆ ว่า ถึงเวลาหรือยังที่ผู้บริโภคควรแบนสินค้าแอปเปิล เพราะอัตรากำไรต่อ iPhone ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ตามรายงานผลประกอบการล่าสุดก็แลกมาจากการกดขี่แรงงานในจีน
ส่วน Peter Cohan จาก Forbes บอกว่าผลของการกดต้นทุนที่แอปเปิลกระทำต่อซัพพลายเออร์ทำให้ iPhone และ iPad ที่เราใช้กันอยู่นั้นแลกมาด้วยด้วยชีวิตคนถึง 23 คน และผู้บาดเจ็บอีกหลายร้อยราย ถึงเวลาหรือยังที่เราจะเรียกร้องให้แอปเปิลแก้ไขปัญหาที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น
อีกรายคือ Dan Lyons นักเขียนใน Daily Beast บอกว่าทุกสิ่งที่เราเห็นจากแอปเปิลคือด้านเดียวของเหรียญ แต่ยังมีอีกด้านที่โหดร้ายซึ่งส่งผลต่อแอปเปิลให้เป็นบริษัทกำไรมหาศาลจากการไปลดต้นทุน จึงถึงเวลาหรือยังที่บริษัทที่มีเงินมหาศาลระดับแสนล้านดอลลาร์จะลงมาทำอะไรเสียบ้างให้มีมนุษยธรรมมากกว่านี้
สุดท้าย Heather White ซึ่งเป็นนักวิจัยจาก Harvard กล่าวว่าแท้จริงแล้วปัญหาเหล่านี้มันจะดีขึ้นเองก็ต่อเมื่อทัศนคติของผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากแทนที่จะตื่นเต้นกับผลิตภัณฑ์ใหม่ของแอปเปิลที่ออกมาแต่ละปีโดยไม่สนใจวิธีการ มาเป็นสนใจว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นผ่านอะไรมาบ้างกว่าจะถึงมือเรา แบบที่ผู้บริโภคเคยร่วมกันกดดันสินค้าอย่าง Nike หรือ Gap สำเร็จมาแล้วนั่นเอง
ที่มา: The New York Times, 9to5Mac และ The Guardian
เขียนครั้งแรกที่ Arjin's Blog