คดีระหว่างออราเคิลและเอชพียังคงอยู่ในช่วงของการค้นหาความจริงก่อนการพิจารณาคดี แต่ในภาพของคนภายนอกช่วงเวลานี้กลับกลายเป็นช่วงเวลาของการ "แฉรายวัน" ที่ทางออราเคิลหาประเด็นใหม่ๆ มาใส่ในเอกสารคดีได้เรื่อยๆ ล่าสุดก็มีสองประเด็นสำคัญคือ การขอข้อมูลจากอีกสองบริษัทคือไมโครซอฟท์และเรดแฮต และการระบุว่าเอชพีสัญญาจะจ่ายเงินอินเทลไปถึง 690 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ปี 2009 เพื่อยืดอายุการซัพพอร์ตชิป Itanium ไปจนถึงปี 2017
เอชพีได้ตกลงจ่ายเงินให้กับอินเทลสองรอบใหญ่ รอบแรกในปี 2008 เป็นเงินรวม 440 ล้านดอลลาร์ แบ่งจ่ายตลอดช่วงเวลา 5 ปีจาก 2009 ถึง 2014 และรอบที่สองมีการตกลงในปี 2010 เพื่อให้อินเทลซัพพอร์ต Itanium ไปจนถึงปี 2017 โดยเงินที่จ่ายให้นี้ไม่รวมค่าชิปที่เอชพีต้องจ่ายซื้อชิปต่างหาก ออราเคิลระบุว่าเอชพีจงใจไม่บอกลูกค้าตัวเองว่าชิป Itanium อยู่ได้เพราะเอชพีจ่ายเงินอุดหนุนการพัฒนาให้อินเทลทำให้มองเป็นการหลอกลวงลูกค้าได้ ขณะที่เอชพีปฎิเสธคำกล่าวหานี้ต่อศาล และผู้พิพากษาเห็นด้วยบางส่วน แต่สุดท้ายก็รับเอกสารของออราเคิลเข้าไว้ในการพิจารณาทำให้เอกสารที่ไม่มีการปกปิดถูกเปิดเผยออกมาตามกระบวนการพิจารณา
นอกจากการแฉถึงการจ่ายเงินอุดหนุนการพัฒนาซีพียูแล้ว เอกสารรอบล่าสุดของออราเคิลยังแสดงเจตน์จำนงค์ที่จะขอข้อมูลจากบริษัทอื่นๆ คือ เรดแฮตและไมโครซอฟท์ ไม่มีความชัดเจนว่าออราเคิลต้องการข้อมูลอะไรจากสองบริษัทนี้ แต่ทั้งสองบริษัทนี้เคยเป็นผู้สนับสนุนหลักของ Itanium โดยเรดแฮตนั้นหยุดการสนับสนุนอยู่ที่ RHEL5 ส่วนไมโครซอฟท์นั้นเคยทุ่มสุดตัวด้วย Windows XP Itanium และ Windows Server ก็หยุดการสนับสนุนที่ Windows Server 2008 R2 แล้วเช่นกัน เป็นไปได้ว่าทั้งสองบริษัทอาจจะรับรู้ถึงสัญญาณบางอย่างจากทางอินเทลที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อออราเคิลในคดีนี้
ที่แน่ๆ คือลูกค้าเอชพีที่ใช้ชิป Itanium ช่วงนี้คงรู้สึกวังเวงกันแปลกๆ