อินเตอร์เน็ตไม่จำเป็นต้องมีความเป็นนิรนาม

by j03w
9 February 2012 - 12:21

การเป็นนิรนาม (Anonymity หรือ Anonymous) และอินเทอร์เน็ตอาจจะดูว่าเป็นสิ่งคู่กัน แต่ในมุมมองของ Alexander Ntoko หัวหน้าฝ่ายแผนปฏิบัติการของ International Telecommunication Union (ITU) อินเทอร์เน็ตในยุคเริ่มต้นไม่ได้เป็นเช่นนั้น และมันก็ไม่ควรจะเป็นเช่นนั้นในอนาคตเช่นกัน

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีกระแสการเรียกร้องถึงการทำให้อินเทอร์เน็ตเป็นสภาวะนิรนาม แต่ Ntoko มีมุมมองที่แตกต่างออกไป โดยเขาเชื่อว่าบางส่วนของข้อมูลส่วนตัวควรถูกเปิดเผยไว้ เพราะข้อมูลบางอย่างเราสามารถรับรู้ได้ทันทีจากการพบกันซึ่งหน้าแต่ไม่สามารถรับรู้ได้จากการติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น รู้ว่าคนที่กำลังพูดคุยด้วยอยู่ขณะนี้เป็นเด็กหรือผู้ใหญ่, อยู่ในพื้นที่ภูมิภาคเดียวกันหรือไม่ หรือแม้กระทั่งรูปร่างลักษณะเป็นยังไง เขายังบอกอีกด้วยว่าในยุคเริ่มแรก อินเทอร์เน็ตก็เป็นเช่นนี้ คือไม่ได้ถูกสร้างโดยมีเป้าหมายว่ามันจะต้องเป็นสังคมนิรนาม

"ในยุคเริ่มแรกของอินเทอร์เน็ต มันเป็นระบบเครือข่ายที่เชื่อมต่อของบุคคลที่รู้จักกัน ในยุคของ ARPAnet นั้นทุกคนรู้จักกันหมด คุณสามารถระบุได้เลยว่ากำลังติดต่อกับใครอยู่เพียงแค่ดูจาก IP address"

แต่ในปัจจุบันอินเทอร์เน็ตถูกนำไปใช้เป็นหนึ่งในหัวใจหลักของระบบสาธารณูประโภค และจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในยุคต่อๆ ไป ซึ่งหากว่าไม่มีการสร้างอัตลักษณะในสังคมออนไลน์ (Online Identity) อาจจะทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิของผู้ใช้ได้

"บางคณะรัฐบาลอาจจะตัดบริการบางอย่างออกไปเพื่อตัดปัญหา เนื่องจากไม่สามารถแยกแยะได้ว่าใครเป็นใครที่ใช้บริการพวกนั้นอยู่"

ถึงแม้ว่า IP address จะสามารถใช้ในการแยกแยะบุคคลได้บ้าง แต่ IP address นั้นผูกติดอยู่กับพิกัดที่อยู่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล และถึงแม้ว่า IPv6 จะสามารถทำให้บุคคลทุกคนมี IP เป็นของตัวเองได้ แต่มันก็ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ เพราะ IPv6 ท้ายที่สุดแล้วก็ยังผูกติดอยู่กับพิกัดหรือวัตถุ ไม่ใช่บุคคลผู้ใช้จริงของมัน

"เราเชื่อมต่ออุปกรณ์และสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน จนถึงจุดจุดหนึ่ง เราต้องเริ่มหาทางแยกแยะแล้วว่าอะไรเป็นเพียงสิ่งของหรืออุปกรณ์ และอะไรเป็นคนจริงๆ ซึ่งหากว่าไม่มีการสร้างวิธีแยกแยะบุคคลบนอินเทอร์เน็ตเลย มันจะเป็นเรื่องที่ยากมาก ในขณะนี้มีบริการบางอย่างที่เราไม่สามารถบอกได้เลยว่า เรากำลังให้บริการอยู่กับโปรแกรม[ของวัตถุสิ่งของเครื่่องใช้ต่างๆ] หรือคนจริงๆ"

มันอาจจะเป็นไปได้ที่องค์กรอย่าง Facebook จะสามารถกลายมาเป็นผู้ให้บริการในการแยกแยะบุคคลได้ แต่มันก็ยังมีปัญหาอยู่ เช่นว่า มีข้อจำกัดในการเข้าถึง, รัฐบาลบางที่อาจจะไม่ไว้ใจในการที่จะให้ Facebook หรือบริษัทใดๆ มาทำหน้าที่ในจุดนี้ หรือขึ้นอยู่สถานที่ตั้งของบริษัท บริษัทเหล่านั้นอาจจะไม่สามารถทำตามกฎหมายควบคุมการใช้ข้อมูลจากต่างชาติ (data-protection laws) ของประเทศอื่นๆ ได้

ที่มา - ZDNet Australia

Blognone Jobs Premium