งาน International Solid-State Circuits Conference นั้นเป็นงานประชุมวิชาการด้านวงจรกึ่งตัวนำชั้นนำของโลก ทุกปีบริษัทขนาดใหญ่จะขนเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประชันกันอยู่เสมอ ก่อนจะถึงงานจริงๆ ทางอินเทลก็เริ่มเปิดรายละเอียดของานวิจัยใหม่ๆ ออกมา
งานที่น่าสนใจมากคือชิปรุ่นใหม่ตัวต่อจาก Claremont ที่เป็นซีพียูที่ทำงานด้วยเทคโนโลยี Near Threshold Voltage (NTV) ที่ช่วยให้ซีพียูกินพลังงานต่ำลงอย่างมาก โดยต่ำกว่า 10 มิลลิวัตต์เมื่อทำงานความเร็วต่ำสุด โดยเมื่อปีที่แล้วอินเทลเปิดเฉพาะซีพียูเท่านั้นแต่ในปีนี้ทางอินเทลจะโชว์ชิปรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกันนี้กับทั้ง GPU, และหน่วยความจำ
เทคโนโลยี NTV รุ่นใหม่นี้ทางอินเทลสามารถกดค่าความต่างศักดิ์ต่ำสุดที่ชิปยังทำงานได้เหลือเพียง 280 มิลลิโวลต์เมื่อชิปทำงานที่สัญญาณนาฬิกา 3 MHz จากเดิม 400-500 มิลลิโวลต์ และสามารถเพิ่มความต่างศักดิ์ขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึง 1.2 โวลต์เพื่อทำงานที่สัญญาณนาฬิกา 1GHz
แม้เทคโนโลยี NTV จะให้ความหวังเราไว้มากแต่คงต้องรออีกนานกว่าจะได้เห็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีนี้จริง
ที่มา - TechWorld
เทคโนโลยีอีกตัวหนึ่งคือชิป Atom รุ่นใหม่ที่รวมวงจร Wi-Fi มาให้ในตัว ทำให้ชิปตัวเดียวสามารถต่อสายอากาศแล้วเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ในตัว โดยปรกติ baseband จะเป็นชิปแยกออกจากชิปส่วนอื่นๆ แม้แต่ในชิป SoC เช่น ARM เพราะการวางวงจรซีพียูที่มีสัญญาณรบกวนสูงไว้คู่กับวงจรสัญญาณวิทยุนั้นทำได้ยาก
แต่การวางชิปทั้งสองตัวไว้บนเวเฟอร์เดียวกันทำให้ต้นทุนการผลิตอุปกรณ์โดยรวมต่ำลง และขนาดมีขนาดเล็กลงมาก
สำหรับชิป Atom ที่รวมเอา Wi-Fi มาในตัวนี้น่าจะได้เห็นวางขายจริงหลังปี 2015 ไป อย่างไรก็ดีอินเทลนั้นยังมีเทคโนโลยีชิปวิทยุอื่นๆ โดยเฉพาะระบบ GSM และ 3G การแสดงศักยภาพในงานวิจัยแบบนี้ก็อาจจะเป็นสัญญาณว่าอินเทลกำลังเตรียมรวมระบบวิทยุทั้งหมดเข้าไปในซีพียู
ที่มา - Intel, ComputerWorld