Dell บริษัทแม่เพิ่งออกข่าวเบื้องต้นเมื่อไม่กี่วันก่อน วันนี้ Dell ประเทศไทยจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวเซิร์ฟเวอร์ PowerEdge 12G พร้อมเริ่มวางขายอย่างเป็นทางการแล้ว
เนื่องจากผมไปงานแถลงข่าวมาด้วย ก็ขอเพิ่มข้อมูลที่ยังไม่มีในข่าวเก่านะครับ
เซิร์ฟเวอร์ที่เปิดตัวทำตลาดในประเทศไทย
Rack Server
Tower Server
Blade Server
Cloud Server
เซิร์ฟเวอร์ทุกตัวยกเว้น C6220 และ R820 เริ่มวางขายแล้ววันนี้
หน้าตาของ PowerEdge R720 แบบ 2U
หมายเหตุ: PowerEdge 12G จะมี QR Code แปะมาบนตัวเซิร์ฟเวอร์ด้วย (ในภาพคือกรอบสี่เหลียมสีดำด้านหน้าขวา อันนี้เป็นเครื่องทดสอบเลยไม่มี QR Code แปะมาให้) แอดมินสามารถใช้มือถือถ่าย QR เพื่อดูข้อมูล-สเปก-วิธีแก้ไขปัญหาของเซิร์ฟเวอร์รุ่นนั้นๆ จากเว็บของ Dell ได้ทันที
ตัวล่างนี้คือ PowerEdge R620 แบบ 1U จะเห็นจอภาพเล็กๆ แสดงสถานะของปัญหาที่ด้านหน้าของตัวเครื่อง ช่วยให้ทราบปัญหาได้ง่ายกว่าการดูไฟ LED แบบเดิมๆ
ในแง่ของซีพียูคงไม่ต่างอะไรกับยี่ห้ออื่นมาก เพราะเป็น Xeon E5-2600 เซ็ตเดียวกันหมด บริษัทฮาร์ดแวร์จึงต้องสร้างจุดขายด้วยซอฟต์แวร์+ฟีเจอร์เสริมอื่นๆ ที่ช่วยให้การบริหารจัดการง่ายขึ้น
ฝั่งของ Dell เน้นไปที่ซอฟต์แวร์บริหารจัดการตระกูล iDRAC 7 และ Lifecycle Controller 2.0 ที่ฝังอยู่กับเมนบอร์ดเลย ช่วยให้แอดมินสามารถดูแลและมอนิเตอร์ระบบจากระยะไกลได้ง่าย ถึงแม้ตัวระบบงานหลักจะล่มก็ตาม
ฟีเจอร์อีกตัวที่น่าสนใจ (ไม่มีในสไลด์ข้างต้น) คือ Fresh Air หรือการผลิตเซิร์ฟเวอร์ให้ทำงานที่อุณหภูมิสูงได้ถึง 45 องศาเซลเซียส ช่วยลดความจำเป็นของระบบทำความเย็นลง (กรณีไปตั้งนอกศูนย์ข้อมูลหรือไฟดับ) ซึ่งเป็นแนวทางการออกแบบศูนย์ข้อมูลสมัยใหม่ๆ ที่พยายามลดการใช้พลังงานจากระบบทำความเย็นลงมา
หน้าตาของ iDRAC 7 ที่รันผ่านเบราว์เซอร์ (ดูดีๆ มันคือ IE)
ฟีเจอร์ที่ผมชอบคือ "ไฟบอกสถานะ" ที่ตัว power supply ของเซิร์ฟเวอร์จะฝังลงที่ห่วงเลย ทำให้ตัวไฟมีขนาดใหญ่ขึ้นและสังเกตจากระยะไกลได้ง่ายขึ้น (เขียว=ทำงานปกติ, ส้ม=มีปัญหา)
ในงานแถลงข่าว Dell เชิญตัวแทนจากอินเทลคือคุณเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการของอินเทลประเทศไทยมาพูดเรื่อง Xeon E5-2600 ด้วย เลยได้ข้อมูลเพิ่มเติมของ Xeon ตัวใหม่มาจากข่าวเก่าอีกเล็กน้อย
แผนภาพแสดงความแตกต่างของ Xeon 5500 รุ่นเดิม และ Xeon E5-2600 รุ่นใหม่ จะเห็นว่า I/O คือ PCIe (สีม่วง) ถูกย้ายเข้าไปยังตัวซีพียูโดยตรง ทำให้ throughput ของ I/O สูงขึ้นมาก
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการสื่อสารของซีพียูแต่ละซ็อคเก็ตที่เพิ่มจำนวน QPI เป็นสองเท่า และรองรับหน่วยความจำ DDR3 ที่ความเร็วเพิ่มขึ้นเป็น 1600MHz
ส่วนแผนภาพนี้แสดงการทำงานของฟีเจอร์ Integrated I/O (IIO) และ Data Direct I/O (DDIO) คือย้าย I/O Hub เข้าไปอยู่ในตัวซีพียู ทำให้ latency ของการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายลดลง บวกกับการเปลี่ยนเวอร์ชันของ PCIe จาก 2.0 มาเป็น 3.0 เป็นผลให้ Xeon E5-2600 มีประสิทธิภาพเรื่อง I/O ที่ดีขึ้นมาก