เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมสหรัฐ (DoJ) ได้ยื่นฟ้อง Apple และสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ทั้ง 7 ราย อันได้แก่ Hachette, HarperCollins, Macmillan, Penguin, Simon & Schuster และ Georg von Holtzbrinck Publishing Group
เท่าที่อ่านในคำฟ้องมีประเด็นสำคัญๆ ที่สรุปได้มีดังนี้
* บรรดาสำนักพิมพ์ไม่ชอบกลยุทธ์ของอเมซอนที่ขายอีบุ๊คออกใหม่และหนังสือที่เป็นที่นิยมในราคา 9.99 เหรียญ และมีการพยายามต่อรองกับอเมซอนแล้วเป็นรายๆ ให้เพิ่มราคาขาย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
* แอปเปิลมีส่วนร่วมในการสร้างกลยุทธ์ agency model ให้กับบรรดาสำนักพิมพ์ โดยสำนักพิมพ์เป็นผู้กำหนดราคาขายปลีกและแอปเปิลรับส่วนแบ่งการขาย 30% ซึ่งจะทำให้สำนักพิมพ์ไม่ต้องกังวลการแข่งขันด้านราคาจากอเมซอนอีกต่อไป
* โมเดลการขายหนังสืออีบุ๊คแบบเดิมเป็นการค้าหนังสือเป็นแบบ wholesale model สำนักพิมพ์ขายหนังสือขาดไปยังผู้ขายและผู้ขายมีอิสระในการกำหนดราคาขายปลีกด้วยตัวเองในฐานะที่เป็นเจ้าของหนังสือแต่ละเล่ม มาเป็น agency model ที่สำนักพิมพ์มีอำนาจตั้งราคาขายปลีก ผู้ขายไม่มีสิทธิ์เปลี่ยนแปลงราคาขายปลีกที่ถูกกำหนดมา ดังนั้นในรูปแบบนี้ผู้ขายเสมือนเป็นแค่ตัวแทน (agency) ของสำนักพิมพ์ ซึ่งในรูปแบบนี้ สำนักพิมพ์สามารถป้องกันการแข่งขันด้านราคาในระหว่างผู้ขายหนังสือด้วยกัน รวมถึงสามารถกำหนดราคาขายปลีกหนังสือเท่าไรก็ได้ตามชอบใจ
* Agency model ประกาศใช้งานวันที่ 3 เมษายน 2010 และบังคับให้ผู้ค้าปลีกหนังสือของ 7 สำนักพิมพ์ต้องเข้าร่วมใน 4 เดือน รวมไปถึงอเมซอนด้วย
* เมื่อเจรจากับอเมซอนไม่สำเร็จ สำนักพิมพ์ Macmillan ขู่จะถอนหนังสือ
* ผลที่เกิดขึ้นคือจากเดิมหนังสือที่ขายๆกันที่ 9.99 เหรียญขยับขึ้นไปเป็น 12.99 หรือ 14.99 เหรียญ ซึ่งเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของหนังสือปกแข็ง ซึ่งมีผลเสียหายต่อผู้บริโภคสหรัฐ
แม้คำฟ้องจะมีชื่อแอปเปิลเป็นจำเลยแรกแต่มูลฟ้องให้น้ำหนักไปที่สำนักพิมพ์ทั้ง 7 เสียมากกว่า งานนี้คงต้องดูกันยาวแล้วละครับว่าจะเป็นอย่างไร และสงครามช่องทางจำหน่ายหนังสือระหว่างอเมซอนกับแอปเปิลทิศทางจะเป็นอย่างไรต่อก็คงดูกันต่อไปครับ
ที่มา The Verge และ ต้นฉบับคำฟ้องจากศาล