New York Times เผยกองทุน Andreessen Horowitz พลาดที่ลงทุนใน PicPlz มากกว่า Instagram - ผู้ถูกพาดพิงออกมาตอบโต้

by arjin
23 April 2012 - 10:02

ยังคงมีข่าวเกี่ยวเนื่องกับดีลประวัติศาสตร์ Instagram อีกแล้ว โดยคราวนี้เรื่องเริ่มต้นจาก New York Times เผยแพร่บทความถึงการตัดสินใจลงทุนใน Instagram ของกองทุน Andreessen Horowitz ที่ก่อตั้งโดย Marc Andreessen และ Ben Horowitz (จากนี้จะใช้ตัวย่อว่า AH) ซึ่งกองทุนนี้จะลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีความน่าสนใจ โดยพวกเขาตัดสินใจให้ทุนเริ่มต้น (seeding) 250,000 ดอลลาร์เมื่อปี 2010 กับ Kevin Systrom ที่ปัจจุบันเป็นซีอีโอ Instagram ซึ่งตอนนั้นเดินเข้ามาเสนอโครงการทำระบบเช็กอินที่คล้ายกับ Foursquare ที่ต่อมากลายเป็น Burbn

หลังจากให้ทุนเริ่มต้นไปกองทุน AH ก็มีการนัดพบกับ Systrom เพื่อขอทราบความคืบหน้าโครงการซึ่งก็เป็นไปด้วยดี จนกระทั่งการประชุมครั้งหนึ่ง Systrom แจ้งข่าวสำคัญว่าเขาได้ล้มโครงการ Burbn แล้วแต่ก็ปรับปรุงมันขึ้นมาเป็นแอพตัวใหม่ไว้แชร์ภาพถ่ายที่มีเฉพาะบน iPhone ชื่อว่า Instagram

แอพ Burbn จุดเริ่มต้นของ Instagram ที่คล้าย Foursquare มากกว่า

ลงทุนในแอพแชร์รูปภาพสองแห่งพร้อมกัน

จากการแจ้งข่าวนี้ ส่งผลให้เกิดปัญหากับ AH เพราะ AH เพิ่งตัดสินใจให้ทุนเริ่มต้นกับ Dalton Caldwell ผู้ก่อตั้ง Imeem (ที่ต่อมาขายให้ MySpace) ในโครงการสร้างระบบแชร์ภาพถ่ายที่ชื่อ PicPlz โดยนี่ถือเป็นข้อขัดแย้งสำหรับกองทุนเองที่ลงทุนในสตาร์ทอัพที่ทำระบบเหมือนๆ กันสองแห่งพร้อมกัน ซึ่งอาจเกิดข้อสงสัยในการรั่วไหลของความลับในการดำเนินงาน

ต่อมา AH ได้เรียก Systrom มาพูดคุยและแจ้งว่าพวกเขาจะหยุดการสนับสนุนและเพิ่มทุนกับ Instagram เพื่อรักษาจริยธรรมการร่วมทุนกับ PicPlz โดยการเพิ่มทุนของ Instagram รอบถัดมานั้นกองทุน AH แม้จะมีสิทธิเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือครองหุ้น แต่พวกเขาก็ไม่ได้เพิ่มทุนแต่อย่างใด และเลือกไปเพิ่มทุนกับ PicPlz แทน ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปก็ได้พิสูจน์แล้วว่า AH คิดผิด เพราะ PicPlz เติบโตช้ามาก ใช้เวลาถึง 6 เดือนจึงมีผู้ใช้งาน 1 แสนคนซึ่งตรงข้ามกันกับ Instagram ที่โตเร็วตั้งแต่เปิดตัว โดยถ้า AH เลือกเพิ่มทุน Instagram แทนแล้วส่วนของ AH ที่ได้รับจากการขายให้ Facebook สูงถึง 300 ล้านดอลลาร์ แทนที่จะเป็น 100 ล้านดอลลาร์อย่างที่เป็นอยู่

PicPlz บริการแชร์ภาพถ่ายที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่า Instagram

Horowitz บอกได้ผลตอบแทนตั้ง 300 เท่าแล้ว

เมื่อบทความพาดพิงกันแบบนี้ ทำให้สองวันถัดมา Ben Horowitz ออกมาตอบโต้ผ่านบล็อกของเขา โดยในช่วงแรกเขาระบุว่าผลประโยชน์ส่วนที่ AH ได้จากการขาย Instagram ให้ Facebook นั้นมีมูลค่า 78 ล้านดอลลาร์หรือคิดเป็น 312 เท่าของเงินลงทุนภายในเวลาไม่ถึงสองปี ซึ่งการกล่าวว่าเขาผิดพลาดที่ไม่ลงทุนเพิ่มนั้นดูไม่สมเหตุสมผลเลย

Horowitz ยังย้ำว่าในตอนแรกที่ AH ให้เงิน Systrom นั้นเป็นการให้เงินเพราะคิดว่าเขาจะทำ Burbn ซึ่งในเวลาเดียวกัน AH ก็ให้เงิน Caldwell เพื่อทำ PicPlz ซึ่งสองอย่างนี้ไม่ซ้อนทับกัน แต่เมื่อต่อมา Systrom มาบอกว่าเขาจะทำ Instagram แทนมันก็เป็นปัญหาเพราะ AH ทำข้อตกลงกับ PicPlz ไว้แล้วว่าจะไม่ให้ทุนกับบริษัทที่เป็นคู่แข่งโดยตรง โดย AH ก็เรียกสองฝ่ายมาชี้แจงแล้วว่า AH จะยังสนับสนุนบริการแชร์ภาพถ่ายของ PicPlz ต่อไปเนื่องจากเป็นหลักการที่คุยกันแต่ต้น ขณะที่ส่วนของ Instagram ก็หยุดการเพิ่มทุนเพื่อรักษาจริยธรรม

Horowitz กล่าวในตอนท้ายบล็อกว่า Systrom ไม่ได้ขโมยความคิดของ Caldwell มาสร้าง Instagram แต่อย่างใด ทั้งสองฝ่ายต่างบังเอิญเข้ามาพร้อมกับความคิดที่เหมือนกันพอดี นอกจากนี้ยังบอกว่าดีลที่มีมูลค่าขนาดนี้นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก จึงไม่ควรเอาประเด็นนี้เป็นมาตรฐานกับเรื่องอื่นด้วย

ผู้ก่อตั้ง PicPlz ก็ถาม "ต้องการเยาะเย้ยหรืออย่างไร?"

Dalton Caldwell ผู้ก่อตั้ง PicPlz

ในวันเดียวกัน Dalton Caldwell ผู้ร่วมก่อตั้ง PicPlz ก็โพสต์ข้อความใน Hacker News ถึงข่าวดังกล่าวว่าเปรียบเหมือนคนขีดเขียนข้อความตามกำแพง เพียงเพื่อเยาะเย้ยว่า PicPlz แพ้หมดรูปในเกมการแข่งขันนี้ ซึ่ง Caldwell ก็ยอมรับว่า PicPlz แพ้จริง แต่มันไม่ใช่การหมดสิ้นแล้วในทุกอย่าง และขอให้ใครก็ตามที่ได้อ่านข่าวนี้อย่ากลัวที่จะหยุดฝันและหยุดพยายามทำในสิ่งที่ตนเชื่อเพียงเพราะว่ากลัวความล้มเหลว

ผมขอพูดกับชุมชม hn ว่าอย่ากลัวที่จะล้มเหลว ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่าไปเสียเวลากับพวกเอาแต่วิจารณ์ หยุดอ่านข่าวไร้สาระพวกนี้แล้วเอาเวลาไปทำงานที่ดีที่สุดของคุณดีกว่า บางครั้งคุณอาจชนะ บางครั้งคุณอาจแพ้ แต่ถ้าคุณให้โอกาสกับตัวเองที่ชนะมากขึ้นเท่าใด คุณก็จะประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น

ปัจจุบันทีมงานรุ่นแรกของ PicPlz รวมถึง Caldwell ได้ตั้งบริษัท Mixed Media Labs ขึ้นมาและร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ app.net ออกมาโดยปัจจุบันก็ยังได้ทุนสนับสนุนจาก AH เพียงรายเดียว ส่วน PicPlz ก็ยังคงอยู่แต่ไม่มีการพัฒนาต่อจากทีมงานเดิมแล้วนั่นเอง

ที่มา: The New York Times, Ben's Blog และ TechCrunch

Blognone Jobs Premium