รีวิว HP Folio 13 - Ultrabook ตัวแรกจาก HP

by advertorial
2 May 2012 - 06:12

HP Folio 13 โน๊ตบุ๊กในกลุ่มบางเบา (ultrabook) ของ HP ที่เพิ่งมาเปิดตัวในประเทศไทยไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา (มีโร้ดโชว์ร่วมกับรายการ MYTHBUSTER ด้วยนะ!) HP Folio 13 เครื่องนี้ออกแบบมาโฟกัสไปที่กลุ่มนักธุรกิจโดยตอบโจทย์การใช้งานในด้านความแข็งแรง อายุการใช้งาน รูปลักษณ์ และความบางเบา

หลังงานเปิดตัวทาง HP ได้ส่งเครื่อง HP Folio 13 มาให้ทดสอบ รวมวันนี้เข้าไปด้วยก็กินเวลาเกือบหนึ่งเดือนเข้าไปแล้ว ดังนี้รีวิวนี้จะเน้นในส่วนของการใช้งานจริงเป็นหลักนะครับ แถมเบนช์มาร์คนิดหน่อยในช่วงท้าย และทั้งหมดของรีวิวนี้ทำด้วยเจ้า Folio 13 ครับ

ก่อนจะเข้าสู่รีวิวมาดูสเปคทั่วไปของเจ้า HP Folio 13 กันก่อน สืบค้นข้อมูลแล้วยังมีอยู่แค่โมเดลเดียวเท่านั้นครับ

  • หน้าจอ LED backit ขนาด 13.3 นิ้ว ความละเอียด 1366x768 พิกเซล เป็นจอกระจก
  • ซีพียู Intel Core i5-2467M 1.6GHz การ์ดจอ Intel HD 3000
  • RAM 4GB
  • SSD 128GB
  • ตัวเครื่องหนัก 1.49 กิโลกรัม

การออกแบบตัวเครื่อง

แว่บแรกที่เห็นตัวเครื่อง ใครที่เป็นแฟนของ HP คงจะพอเดาออกว่าเจ้า HP Folio 13 นี้มีหน้าตาคล้ายกับรุ่นพี่อย่างโน๊ตบุ๊กในซีรีส์ EliteBook ที่เจาะตลาดกลุ่มธุรกิจ แต่ทำตัวเครื่องออกมาได้บางกว่าเดิมมาก

วัสดุที่ใช้ในการประกอบเครื่องโดยมากเป็นอลูมิเนียมขัดทั้งด้านหน้า (ส่วนรอบคีย์บอร์ด) และฝาหลังที่มีโลโก้ของ HP เด่นหราอยู่ตรงกลาง ส่วนขอบจอใช้เป็นวัสดุสีดำคล้ายยางผสมครับ

หน้าจอของ HP Folio 13 ไม่ได้ชูเรื่องความสว่างมากนัก แต่พอเปิดเต็ม (มีทั้งหมดสิบระดับ) ก็สว่างพอตัวสามารถทำงานในที่มีแสงรบกวนได้สบายๆ ถ้าใช้งานในห้องทั่วไปเปิดไฟที่ประมาณระดับ 4-6 ครับ

ด้านซ้ายของเครื่องไล่จากหลังมาหน้ามีรูสำหรับเสียบสายชาร์จ พอร์ตสำหรับต่อสาย LAN (ที่ ultrabook รุ่นอื่นๆ ไม่ค่อยมีกัน) พอร์ต HDMI, USB 3.0 หนึ่งพอร์ต และเมมโมรีการ์ดรีดเดอร์ครับ ส่วนไฟสองช่องนั้นเป็นไฟแสดงสถานะของ SSD และไฟแสดงสถานะว่าเปิดเครื่องอยู่

ด้านขวาของตัวเครื่องจะโหลงเหลงเสียหน่อย เพราะมีเพียงพอร์ต 3.5 มม. (รวมทั้งไมโครโฟน/ลำโพงในช่องเดียว) และพอร์ต USB 3.0 อีกพอร์ต

ด้านซ้ายบนเหนือคีย์บอร์ด มีปุ่มสำหรับเปิดปิดเครื่อง (ต้องกดค้าง) ข้างๆ กันเป็นบานพับที่น่าจะทำมาจากคาร์บอนไฟเบอร์ ค่อนข้างแข็ง สามารถยกถือเดินไปมาโดยที่จอไม่ขยับได้สบายๆ

ด้านบนของตัวเครื่องมีกล้องหน้าสำหรับวิดีโอคอลอยู่ด้วย ลองเล่นนิดหน่อยพบว่าสว่างพอใช้ครับ

พลิกกลับมาใต้เครื่องจะเห็นแถบยางที่ยกตัวเครื่องสูงขึ้นเล็กน้อย และช่องระบายความร้อนที่อยู่ด้านหลังตัวเครื่อง เวลาใช้งานหนักๆ ได้ยินเสียงพัดลมอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ดังมากจนรำคาญครับ

ความบางของรุ่นนี้อยู่ที่ 18 มม. เท่ากันทั้งเครื่อง นน. อยู่ที่ 1.49 กก. ถือว่าค่อนข้างหนา และหนักกว่าคู่แข่งพอสมควร แต่ก็แลกมากับแบตเตอรี่ที่มากขึ้น และความทนทาน งานประกอบของ Folio 13 จัดว่าดีมากครับ

หน้าจอของ Folio 13 สามารถเอนได้มากที่สุดประมาณ 135 องศา มากพอที่จะใช้งานได้ในหลายอิริยาบถ เช่นวางบนขา แล้วนั่งพิมพ์ได้อย่างไม่ติดขัดอะไร

คีย์บอร์ด และทัชแพด

คีย์บอร์ดแบบชิคเล็ตของ Folio 13 จัดว่าดีมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งในกลุ่ม ultrabook จากการใช้งานจริง สามารถพิมพ์เป็นระยะเวลานานได้โดยไม่เมื่อยมือ ตัวแป้นพิมพ์ตอบสนองค่อนข้างดี และเว้นระยะห่างแต่ละแป้นพิมพ์ไว้ใกล้เคียงกับคีย์บอร์ดรุ่นเก่า เสียแค่วัสดุของแป้นคีย์บอร์ดเปื้อนคราบง่ายไปหน่อย

สังเกตที่ปุ่มลูกศรจะเห็นว่า HP เลือกขยายปุ่มซ้าย-ขวาให้มีขนาดเท่ากับปุ่มบน-ล่างรวมกัน ใช้แล้วพบว่ากดง่ายขึ้น แต่แรกๆ จะไม่ค่อยชินครับ

ในส่วนของแผงปุ่มแถว F1-F12 เปลี่ยนเป็นคีย์ลัดอย่างการเพิ่ม/ลดแสง เพิ่ม/ลดเสียง หรือปิด Wi-Fi ไปแล้ว (ถ้าจะใช้ปุ่ม F1-F12 ต้องกด Fn ร่วมด้วย) โดยจะมีไฟแสดงผลในบางปุ่มด้วย เช่นปุ่ม Caps Lock ที่กดแล้วจะมีไฟบอกว่ากำลังอยู่ในโหมด Caps Lock (ถ้าปิดเสียง หรือปิด Wi-Fi จะขึ้นเป็นไฟสีแดงด้วย)

คีย์บอร์ดของรุ่นนี้มีอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่หลายคนชอบอย่างไฟใต้คีย์บอร์ดด้วย เวลาเปิดไฟจะหน้าตาแบบนี้ครับ

แม้ว่าไฟใต้คีย์บอร์ดไม่ค่อยสว่างเท่าไหร่ แต่ใช้งานในที่มืดได้ปกติดีครับ อันนี้ไม่รู้ว่าจงใจตั้งไฟให้สว่างน้อยเพื่อประหยัดแบตรึเปล่า

วนกลับมาในส่วนของทัชแพดที่ไม่สามารถกดได้ทั้งแผ่นตามสมัยนิยม แต่แบ่งโซนคลิกซ้าย-ขวา ไว้แทน โดยรวมใช้งานได้ดี แต่ยังไม่ถึงกับประทับใจ ที่เจ๋งคือสามารถแตะที่มุมซ้ายบนสองครั้งเพื่อปิดทัชแพดได้ เมื่อปิดแล้วจะมีไฟสีแดงด้านบนทัชแพดขึ้นมาตามรูป (แต่ดันกลับมาเปิดทุกครั้งที่ตื่นจาก sleep ซะงั้น)

ตำแหน่งของทัชแพดอาจจะแปลกไปบ้าง เพราะว่าไม่ได้วางไว้ตรงกลางปุ่มสเปซบาร์ตามที่ควรจะเป็น แต่อยู่ตรงกลางเครื่อง ส่วนนี้อาจเป็นปัญหาสำหรับบางคน (แต่ผมไม่เป็นนะ)

ลำโพง

ตำแหน่งของลำโพงเครื่องนี้เลือกวางไว้ได้ดี คือวางไว้ตรงเหนือคีย์บอร์ด ใต้จอ ตัวลำโพงใช้เทคโนโลยี Dolby Advance Audio ที่เคลมว่าช่วยให้เสียงคมชัด และกังวาล ซึ่งใช้งานจริงพบว่าลำโพงของเครื่องนี้ดังมาก ดังจนเปิดเสียงครึ่งเดียวก็ยังรู้สึกว่าดังไปอยู่ดี - -"

ในแง่ของคุณภาพจัดว่าอยู่กลุ่มบนๆ ของลำโพงที่ติดมาในเครื่องโน๊ตบุ๊กแล้ว มีมิติ และเบสในระดับหนึ่ง

การพกพา อายุแบตเตอรี่ และการใช้งาน

แม้ว่าตัวเครื่องจะหนักกว่าคู่แข่ง (1.49 กก.) แต่ความได้เปรียบในแง่ของแบตเตอรี่ทำให้หลายครั้งสามารถพกออกไปทำงานนอกสถานที่โดยไม่แบกอแดปเตอร์ไปด้วยได้อย่างสบายๆ แต่ถ้าเอามาเปรียบกันตรงๆ กับคู่แข่งที่หนักราวๆ 1.1-1.3 กก. ก็ต้องยอมรับว่าหนักกว่าแบบรู้สึกได้

สำหรับอายุการใช้งานจากการลองใช้จริงหลายครั้งในสภาพแวดล้อมต่างกันคือเปิด Wi-Fi และเชื่อมต่อินเทอร์เน็ตไร้สายตลอดเวลา บวกกับเปิดความสว่างหน้าจอที่ระดับ 5 (ครึ่งนึง) สามารถใช้งานได้ประมาณ 5 ชั่วโมง และถ้าใช้ความสว่างต่ำสุด (0) ในบางครั้งสามารถใช้งานต่อเนื่องได้ถึง 8 ชั่วโมง แม้ว่าจะน้อยกว่าที่ HP เคลมไว้ที่ราวๆ 9 ชั่วโมง แต่ก็ถือว่ามากที่สุดในกลุ่ม ultrabook ด้วยกัน (มากกว่า MacBook Air ด้วย)

ในส่วนของความจุแบตเตอรี่ ตรวจสอบข้อมูลผ่านโปรแกรม CPUID พบว่ามีความจุรวมทั้งหมด 59940 mWh เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ สามารถแปลงกลับมาเป็น mAh ด้วยการแปลงหน่วยวัตต์ ให้เป็นแอมป์ผ่านสูตร แอมป์ = วัตต์/โวลท์ ซึ่งแทนค่าได้เป็น แอมป์ = 59.94 วัตต์ / 12.48 โวลท์ จะได้ผลลัพท์เท่ากับ 4.8 แอมป์ แล้วนำไปคูณด้วย 1000 เพื่อแปลงเป็น mAh (มิลลิแอมป์) จะได้เป็น 4800 mAh ซึ่งมากกว่า ultrabook ของคู่แข่งประมาณ 30%

การเปิด/ปิดเครื่องสามารถทำได้ในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 20 วินาทีดี ตื่นจากโหมด sleep ภายใน 5 วินาที การใช้งานทั่วไปเร็วขึ้นมากด้วยอานิสงส์ของ SSD (เปิด Firefox 12 แบบกดปุ๊ปเปิดปั๊ป) USB ค่อนข้างให้มาน้อย (2 พอร์ต) แต่ก็แลกกับความคล่องตัวมากขึ้นที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านสาย LAN ได้

ในส่วนของความร้อนระหว่างใช้งานทั่วไปที่อุณภูมิห้อง (ร้อนจัดประมาณ 35-38 องศาเซลเซียส) ส่วนเมนบอร์ดอยู่ที่ประมาณ 54 องศาเซลเซียส ส่วนซีพียูทั้งสองคอร์อยู่ที่ประมาณ 48-55 องศาเซลเซียส ฝั่ง SSD อุณหภูมิเฉลี่ย 39 องศาเซลเซียส (และไม่ค่อยขยับ)

ทดสอบความร้อนให้หนักขึ้นในสภาพอากาศเดิม แต่ใช้โปรแกรม GPU-Z ทดสอบรันกราฟิกให้ทั้งการ์ดจอ และซีพียูทำงานเต็ม 100% เป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ผลออกมาเป็นอุณหภูมิเมนบอร์ดพุ่งไปอยู่ที่ 76 องศาเซลเซียส ซีพียูทั้งสองคอร์อยู่ที่ประมาณ 70-75 องศาเซลเซียส ส่วนอุณภูมิของ SSD นั้นไม่เพิ่มขึ้นเลย

ประสิทธิภาพ

เนื่องจากโน๊ตบุ๊กตัวนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเน้นกราฟิก หรือใช้ทำงานหนักๆ การวัดประสิทธิภาพเลยจะหนักไปในส่วนสำหรับใช้งานทั่วไปนะครับ เริ่มต้นแบบพิ้นๆ ด้วย Windows Experience Index กันก่อนเลย

จะเห็นได้ว่าคะแนนที่นำโด่งเป็นส่วนของพื้นที่เก็บข้อมูลที่ 7.4 แต้มจากอานิสงส์ของ SSD (อีกแล้ว) รองลงมาเป็นส่วนของหน่วยความจำที่ 7.2 แต้ม ส่วนที่คะแนนต่ำสุดเป็นกราฟิกตามคาดที่ 4.7 คะแนน

เช็คในส่วนของฮาร์ดแวร์ที่ทำคะแนนได้ดีใน Windowx Experience Index ส่วนของ SSD เป็นของซัมซุงรุ่น MZMPA128MFU

ส่วน RAM ก็มาจากซัมซุงเช่นกัน เป็นแรมแถวเดี่ยว DDR3 bus 800MHz

ต่อไปเป็นผลการทดสอบเฉพาะ SSD ล้วนๆ มาดูกันว่า SSD ที่ใช้ใน Folio 13 นี้ประสิทธิภาพดีแค่ไหน เรื่มต้นด้วยผลการอ่านไฟล์จากโปรแกรม HD Tune ซึ่ง Folio 13 ทำผลงานได้ไม่เลว มีความเร็วในการอ่านเฉลี่ยที่ 188.5 MB/s และมีอัตราการเข้าถึงไฟล์ (access time) เพียง 0.188 ms เท่านั้น

ลองทดสอบย้ายไฟล์ขนาด 500MB เพื่อเช็คความเร็วในการเขียนไฟล์ พบว่าสามารถทำความเร็วได้ประมาณ 180 MB/s (ใช้เวลาไม่ถึงสามวินาทีดี!)

สรุป

ข้อดี

  • อายุการใช้งานยาวนานกว่าคู่แข่งมาก
  • งานประกอบดีมาก วัสดุแข็งแรงดี
  • คีย์บอร์ดใช้งานได้ดี ทัชแพดแบบแยกปุ่ม
  • ลำโพงเสียงดัง มีรายละเอียด
  • มีช่องเสียบสาย LAN

ข้อเสีย

  • หนา และหนักกว่า ultrabook ของคู่แข่ง
  • จอแบบกระจก มีปัญหาแสงสะท้อนมาก (ควรมีออพชันเลือกเป็นจอด้านได้)
  • คีย์บอร์ดเปื้อนง่าย
  • พอร์ต USB มีจำกัดจำเขี่ย (เป็นปัญหาของ ultrabook ทุกรุ่น)

จากรายละเอียดของ HP ราคาของ Folio 13 อยู่ที่ 39,900 บาท (รวมภาษีแล้ว) และวางจำหน่ายได้ระยะหนึ่งแล้วครับ

Blognone Jobs Premium