ศาลยุติธรรมยุโรป ได้ตัดสินคดีที่ SAS Institute ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ทางสถิติ SAS ได้ฟ้องร้องบริษัท World Programming โทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์ โดยระบุว่าฟังก์ชันของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และภาษาโปรแกรม ไม่ได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์แต่อย่างใด
จุดเริ่มต้นของคดีนี้เกิดจากว่า บริษัท World Programming (WPL) ได้ออกผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ในชื่อ World Programming System เพื่อใช้ทำงานร่วมกับสคริปต์ของ SAS โดยผู้ใช้งานสามารถสร้าง แก้ไข และรันสคริปต์รูปแบบที่ใช้ใน SAS ได้ WPL ได้ซื้อไลเซนส์ Learning Edition ของ SAS มาเพื่อทำการศึกษาการใช้งาน และไม่มีสิ่งใดบ่งชี้ว่า WPL ได้เข้าถึงหรือคัดลอกซอร์สโค้ดของ SAS
SAS Institute ได้ฟ้องร้องว่า WPL ได้ละเมิดลิขสิทธิ์คู่มือการใช้งาน SAS ละเมิดลิขสิทธิ์คอมโพเนนต์ของ SAS และละเมิดข้อตกลงการใช้งานของซอฟต์แวร์ที่ซื้อมา
ศาลยุติธรรมยุโรปได้อ้างอิงหลักการว่า ลิขสิทธิ์คุ้มครองเฉพาะรูปแบบการแสดงออก แต่ไม่มีการคุ้มครองแนวความคิด ในกรณีนี้ ซอร์สโค้ดของซอฟต์แวร์นั้นได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์แน่นอน แต่ความสามารถในการทำงาน ภาษาโปรแกรม หรือรูปแบบของไฟล์ ไม่เข้าข่ายการได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ศาลได้ระบุว่า การคุ้มครองลิขสิทธิ์ให้กับความสามารถในการทำงานย่อมหมายถึงการอนุญาตให้ผูกขาดตัวแนวคิดได้
นอกจากนี้ ศาลยังได้ตัดสินด้วยว่า ผู้ซื้อไลเซนส์ซอฟต์แวร์มีสิทธิที่จะสังเกต ศึกษา หรือทดสอบการทำงานของซอฟต์แวร์เพื่อดูแนวคิดและหลักการของซอฟต์แวร์นั้นได้ (โดยไม่ได้เข้าถึงซอร์สโค้ดของซอฟต์แวร์) และเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่มีสิทธิใช้ข้อตกลงการใช้งานมาห้ามการกระทำดังกล่าว
ที่มา - Ars Technica, Groklaw