บทวิเคราะห์ Samsung Galaxy S III เมื่อนวัตกรรมย้ายไปอยู่บนซอฟต์แวร์

by mk
4 May 2012 - 04:41

การเปิดตัว Galaxy S III เมื่อคืนนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจและน่าพูดถึงหลายอย่าง แต่ผมคิดว่าสิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ "ทิศทาง" การพัฒนาของสมาร์ทโฟนระดับ flagship ในรอบปีล่าสุด

ถ้าเรานำการเปิดตัว iPhone 4S ของแอปเปิลในปีที่แล้วมาเทียบ เราจะเห็นว่าถึงแม้รายละเอียดจะแตกต่าง แต่ไอเดียหรือคอนเซปต์ที่ทั้งสองบริษัทนำเสนอเป็นเรื่องเดียวกัน นั่นคือ "นวัตกรรมย้ายมาอยู่ที่ซอฟต์แวร์" (อ่านบทความ อย่าเพิ่งผิดหวังกับ iPhone 4S ประกอบ)

ฮาร์ดแวร์

สเปกด้านฮาร์ดแวร์ของ Galaxy S III ถือว่าปรับปรุงขึ้นมาหลายจุด และแน่นอนว่ามันเป็นมือถือที่สเปกดีที่สุดในปัจจุบันอย่างไม่ต้องสงสัย (และคงจะครองตำแหน่งนี้ไปอีกพักใหญ่)

แต่ถ้าเราพิจารณาให้ละเอียดขึ้น ก็จะเห็นว่าสเปกที่เพิ่มขึ้นของ S III ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากมือถือรุ่นก่อนๆ ของซัมซุงแบบสุดขั้วมากนัก จุดที่เปลี่ยนเยอะที่สุดคงเป็นซีพียู Exynos แบบควอดคอร์ แต่ซีพียูควอดคอร์บนมือถือก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะคู่แข่งอย่าง HTC ออก HTC One X มาก่อนหน้าแล้ว

ประเด็นที่หลายคนผิดหวังคงเป็นเรื่องจอภาพ เพราะสุดท้ายแล้ว S III ใช้จอ HD Super AMOLED ตัวเดียวกับ Galaxy Nexus (Pentile!) ความละเอียดเท่ากัน แค่ขนาดใหญ่กว่ากันเล็กน้อย ส่วนกล้องถ้าวัดตามสเปกยังอยู่ที่ 8MP เท่ากับ S II เพียงแต่นวัตกรรมไปอยู่ที่ฝั่งซอฟต์แวร์กล้องแทน (เช่น เปิดกล้องเร็ว โหมดถ่ายแบบพิเศษต่างๆ)

สเปกด้านอื่นๆ ก็ไม่มีอะไรใหม่มากนัก (แต่ใส่เข้ามาให้ครบถ้วนขึ้น) เช่น แรม 1GB, ความจุ 16/32/64GB, NFC, Wi-Fi N, Bluetooth 4.0 การรองรับเครือข่ายเป็น LTE ตามสมัยนิยม

จุดที่น่าสนใจในฝั่งฮาร์ดแวร์คงอยู่ที่ระบบชาร์จไร้สาย (ซึ่งว่ากันตามตรง Palm Pre ก็ทำมาก่อนแล้ว) แต่ซัมซุงกลับไม่พูดถึงเรื่องนี้มากนัก คาดว่ายังทำไม่เสร็จครับ

ซอฟต์แวร์

นวัตกรรมจริงๆ ของ Galaxy S III มาอัดแน่นอยู่ในฝั่งซอฟต์แวร์เกือบหมด โดยพื้นฐานแล้ว ตัวระบบปฏิบัติการยังเป็น Android 4.0 ICS โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือ "ฟีเจอร์อำนวยความสะดวก" ที่ช่วยเติมเต็มให้ S III กลายเป็นสินค้าคอนซูเมอร์ที่สมบูรณ์มากขึ้นต่างหาก

ในงานเปิดตัวมือถือของซัมซุงปีก่อนๆ เราพูดกันถึง TouchWiz ที่ปรับแต่งหน้าตาของ Android ให้สวยขึ้น เพิ่มการเชื่อมต่อกับเครือข่ายสังคมต่างๆ ให้มากขึ้น ซึ่งบริการพวกนี้ไม่ต่างอะไรกับคู่แข่ง (อย่าง Sense) มากนัก

แต่ในระยะหลัง เราเริ่มเห็นฟีเจอร์ประสานงานกับเนื้อหาดิจิทัลบนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น (ในกรณีของซัมซุงก็คือแอพตระกูล Hub ต่างๆ) และฟีเจอร์เฉพาะทางอย่างปากกา S Pen ที่เริ่มใช้ใน Galaxy Note ซึ่งก็มีประโยชน์จริงสำหรับการจดโน้ตหรือวาดภาพ

สำหรับกรณีของ S III ของใหม่ในฝั่งซอฟต์แวร์จะเลิกพูดถึงฟีเจอร์เก่าๆ ของ TouchWiz แล้ว แต่หันมาเน้นเรื่องฟีเจอร์อำนวยความสะดวกในประเด็นต่างๆ แทน เช่น

  • Smart stay - ปรับระดับความสว่างของหน้าจอได้ฉลาดขึ้น เพราะมือถือเฝ้ามองเราอยู่และรู้ว่าเรากำลังใช้งานอยู่หรือไม่
  • Direct call - การโทรออกอัตโนมัติ ถือเป็น gesture แบบหนึ่ง
  • Smart alert - แจ้งเตือนข้อความหรือเหตุการณ์ใหม่ๆ โดยการสั่นเวลาที่เรามาเปิดใช้เครื่องอีกครั้ง ฟีเจอร์ที่เหมาะสำหรับโลกยุคข้อความแจ้งเตือนเต็มไปหมด
  • Social tag - แยกแยะใบหน้าของเพื่อนจากภาพที่เพิ่งถ่าย ฟีเจอร์ที่เหมาะสำหรับโลกยุคถ่ายภาพแล้วแชร์
  • S Voice - ระบบสั่งงานด้วยเสียง อันนี้เป็นทิศทางของวงการอยู่แล้ว และแอปเปิลก็แสดงให้เห็นใน Siri แล้วว่ามันเริ่มใช้งานได้จริง
  • S Beam, AllShare Cast และ AllShare Play - รวมๆ แล้วมันคือการส่งข้อมูลข้ามเครื่อง โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าจะกลายเป็นเรื่องใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนของ smart device ที่เพิ่มขึ้น (ถ้าไม่เชื่อลองดูกรณีภาพโป๊บนจอสภาสิครับ) และถ้าสังเกตดีๆ ทิศทางนี้สอดคล้องไปกับ Wii U ด้วยเช่นกัน
  • Pop up play - อำนวยความสะดวกสำหรับคนที่ชอบดูหนังบนมือถือ (อีกสักพักคงมีฟีเจอร์แบ่งจอบนแท็บเล็ต)

ฟีเจอร์ทั้งหมดนี้จะเห็นว่ามันไม่ได้ทำอะไรใหม่มากนัก แต่ช่วยให้ทำงานแบบเก่าๆ ได้สะดวกขึ้นมาก

ผมคิดว่าฟีเจอร์ด้านซอฟต์แวร์เกือบทั้งหมดที่ว่ามานี้ (ซัมซุงเรียกว่า TouchWiz Nature UX) จะเซ็ตมาตรฐานแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์ของซัมซุงในอีก 1-2 ปีข้างหน้า และมือถือซัมซุงรุ่นถัดๆ ไปจะมีฟีเจอร์พวกนี้เข้ามาเป็นมาตรฐาน และกลายเป็นจุดสร้างความแตกต่างเหนือคู่แข่งในท้องตลาดได้ต่อไป (ได้เยอะน้อยขึ้นกับราคานะ :P)

เมฆที่หายไป

สิ่งที่แถลงในงานด้วยแต่โดนข่าวตัวมือถือกลบซะมิด ก็คือแอพและบริการออนไลน์อื่นๆ ที่เปิดตัวพร้อมกัน

ที่เป็นข่าวมีดังนี้

  • Flipboard for Android ที่เปิดให้ใช้กับ Galaxy S III ก่อน (time exclusive)
  • บริการ Music Hub แบบ subscription ตามสมัยนิยม (เหมือนพวก Spotify) อันนี้คงไม่ได้ใช้ในเมืองไทย - The Verge
  • จับมือกับ Dropbox ให้พื้นที่เก็บข้อมูลฟรี 50GB สองปี (ซึ่งไม่ต่างอะไรกับ HTC ที่แจก Dropbox 5GB หรือ LG กับ Sony แจก Box 50GB)

สิ่งที่น่าผิดหวังอยู่บ้างคือข่าวลือ S-Cloud บริการกลุ่มเมฆของซัมซุงยังไม่เป็นความจริง ทำให้ซัมซุงยังไม่มีอาวุธไปต่อกรกับ iCloud ของแอปเปิลได้ตรงๆ ในตอนนี้ (แต่สุดท้ายมันจะเกิดขึ้นแน่ๆ)

เมื่อฮาร์ดแวร์เริ่มตัน และนวัตกรรมกำลังย้ายไปอยู่บนซอฟต์แวร์

ต้องยอมรับว่าฮาร์ดแวร์มือถือพัฒนาแบบก้าวกระโดดมากๆ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ เมื่อปี 2009-2010 เรายังใช้มือถือจอละเอียด 320x480 กันอยู่เลย มาวันนี้หน้าจอเขยิบขึ้นมาที่ 1280x720 กันแล้ว ส่วนซีพียูก็จากหลัก MHz ก็เปลี่ยนมานับเป็น GHz และจำนวนคอร์ก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าๆ ตัว

เราอาจใช้กฎของมัวร์มาอธิบายพัฒนาการของสเปกฮาร์ดแวร์ (นอกเหนือไปจากซีพียู) ได้บ้าง แต่ความต้องการใช้งานฝั่ง demand side ของผู้บริโภคมันไม่ได้เติบโตด้วยอัตราเท่ากันนะครับ เมื่อจอภาพชัดในระดับหนึ่ง ซีพียูเร็วขึ้นจนถึงระดับหนึ่งที่พอใช้งานทั่วๆ ไปได้ไหลลื่น คนส่วนใหญ่ย่อมไม่ต้องการจอภาพ 4 นิ้วขนาด 2560x1336 หรือซีพียู 2.5GHz แปดคอร์กันสักเท่าไร

ผมเชื่อว่าตอนนี้โลกของฮาร์ดแวร์มือถือเริ่มมาถึงทางตันแล้ว เราใส่อะไรต่อมิอะไรเข้ามาชนิดว่าเมื่อ 4-5 ปีก่อนคงจินตนาการกันไม่ถึง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่ iPhone 4S, iPad รุ่นสาม หรือ Galaxy S III มันเปลี่ยนจากรุ่นเดิมไม่เยอะนัก ความต่างของสเปกลดลงเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนรุ่นช่วง 2-3 ปีก่อน

ทิศทางของโลกสมาร์ทโฟนจึงต้องหมุนออกไปทางอื่น ที่ผมคิดออกมี 2 ทาง (ที่เดินไปด้วยกันได้) นั่นคือ

  • ฮาร์ดแวร์ระดับเดิมในราคาที่ถูกลง ตัวอย่างเช่น Galaxy S ซึ่งเป็นมือถือระดับ flagship เมื่อ 3 ปีก่อน ราคาแพงระยับ ตอนนี้กลายมาเป็นมือถือตลาดกลางที่ใครๆ ก็เป็นเจ้าของได้
  • ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้น ทั้งในแง่ฟีเจอร์ใหม่ (เช่น การทำงานข้ามอุปกรณ์) และการอำนวยความสะดวกให้กับงานแบบเดิมๆ ดังที่กล่าวมาเยอะแล้วในบทความนี้

ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า เราคงได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นในฝั่งซอฟต์แวร์กันอีกเยอะ ที่เห็นอยู่ในวันนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นครับ (และแน่นอนว่าเป็นโอกาสทองของผู้พัฒนาแอพทั่วโลกด้วย กรณีของ Instagram น่าจะพิสูจน์ชัดเจน)

Galaxy S III จะเป็นมือถือขายดีแน่นอน แต่น่าซื้อแค่ไหนคงต้องมาดูราคาเปิดตัวในประเทศไทยกันอีกทีครับ

Blognone Jobs Premium