การเปิดตัว Galaxy S III ก็เป็นไปตามคาดหมายของหลายๆ คนทั้งชื่อรุ่นและสเปคที่ไม่ได้หลุดโผไปไกลนัก ถึงตอนนี้ที่ทุกคนรอคอยคงเป็นราคาในประเทศไทย จากการพูดคุยกับคนในซัมซุงบ้างคาดกันว่าราคา "คงจะ" แพงกว่าตอนเปิดตัว S II ดังนั้นเราคงต้องมองกันกว่าราคาไปหยุดอยู่ที่เท่าใด
แต่ประเด็นที่ผมอยากจะเขียนถึงโทรศัพท์ตัวนี้อีกครั้งไม่ได้เกี่ยวกับ S III เสียทีเดียว แต่เป็นเรื่องของงานเปิดตัวที่ผ่านมา
งานเปิดตัวครั้งนี้จัดงานอย่างยิ่งใหญ่ เชิญสื่อจำนวนมากจากทั่วโลก จนแทบจะพูดได้ว่าเป็นการเปิดตัวที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ซัมซุงเคยจัดมา ในแง่ของแบรนด์แล้วครั้งนี้คงเป็นครั้งแรกๆ ที่โทรศัพท์ซัมซุงจะได้รับความสนใจมากเท่านี้ ข่าวหลุดไม่ขาดสาย ความพยายามคาดเดาของนักข่าวหลายสำนักอย่างต่อเนื่องว่าโทรศัพท์รุ่นใหม่นี้จะมีอะไร
แต่เมื่อได้จับตัวโทรศัพท์แล้ว คำถามอย่างหนึ่งที่เข้ามาในหัวก็ คือ "กูเกิลหายไปไหน" และนึกขึ้นได้ว่าแทบตลอดทั้งงานนั้น ซัมซุงพูดถึงทุกฟีเจอร์ในฐานะฟีเจอร์ของ Galaxy S III โดยแทบไม่พูดถึงแอนดรอยด์เลยว่าเป็นรุ่นไหน และฟีเจอร์ใดเป็นส่วนที่ทำเพิ่มเข้ามา
งานเปิดตัว Galaxy S ที่ซูริค
งานเปิดตัว Galaxy S II ในสหรัฐฯ
ขณะที่โทรศัพท์จากแบรนด์ใหม่ๆ ที่เพิ่งเข้ามายังตลาดสมาร์ทโฟนไม่นานนักพยายามอย่างมากที่จะบอกว่าตัวเองเป็น "โทรศัพท์แอนดรอยด์" แต่หากลองสังเกตการเปิดตัวของ Galaxy S สามรุ่นที่ผ่านมา เราจะพบว่า Galaxy S เป็น "รุ่นสุดท้าย" ที่ซัมซุงประกาศว่ามันใช้ "แอนดรอยด์รุ่นล่าสุด" ส่วนวิดีโอไฮไลท์ของงานใน Galaxy S II นั้นก็ลดลงไปอีกโดยพูดถึงเพียงเมื่อถูกถามในฟีเจอร์ด้านองค์กรว่าเป็นโทรศัพท์แอนดรอยด์ที่รองรับความต้องการขององค์กรได้ดีที่สุด
ขณะที่กูเกิลอาศัยความกลัวไอโฟนที่กำลังก้าวเข้ามาในตลาดอย่างรวดเร็ว ความล้มเหลวของไมโครซอฟท์ที่ไม่สามารถพัฒนา Windows Phone ได้รวดเร็วพอ ขณะที่โนเกียในขณะนั้นก็ไม่สามารถผลักดันซิมเบียนให้ขึ้นมาเป็นคู่แข่งได้ (ซัมซุงเคยผลิตโทรศัพท์ซิมเบียนมาก่อน) กูเกิลจึงเป็นทางเลือกเดียวที่ผู้ผลิตหลายรายต้องเลือก
แม้แอนดรอยด์จะสร้างผลกำไรให้ผู้ผลิตหลายรายมหาศาล แต่สิ่งที่ผู้ผลิตเหล่านี้ไม่ต้องการที่สุดคือการเป็นเพียง "ผู้ผลิตแอนดรอยด์" ไปตลอด ทั้งในแง่ของศักดิ์ศรีที่บริษัทเหล่านี้ทำโทรศัพท์มาก่อน ขนาดบริษัทที่ใหญ่กว่า และแง่ของความมั่นคงทางธุรกิจที่ไม่ต้องการอยู่เป็นเพียงคนรอใช้งานเทคโนโลยีจากกูเกิลเท่านั้น
ความพยายามแตกต่างในเบื้องต้นนั้นคือการสร้างเพียง UI ครอบลงไปบนหน้าจอของกูเกิล พร้อมกับการเพิ่มฟีเจอร์ไม่กี่อย่าง ปีที่ผ่านมาเรายังเห็นความแตกต่างกันของฟีเจอร์ไม่มากนัก
แต่ใน Galaxy S III เราเริ่มเห็นความพยายามของซัมซุงที่จะประกาศเอกราช ให้กับแพลตฟอร์มของตัวเอง คำว่า "แอนดรอยด์" แทบไม่มีอยู่ในงานทั้งงานของการเปิดตัว Galaxy S III ที่น่าสนใจกว่านั้นคือซัมซุงเริ่มดึงพัฒนาให้พัฒนา "เพื่อทำงานบนซัมซุง" อย่างเงียบๆ ด้วย API ของ AllShare และ S Health ที่มี API เป็นของตัวเอง แม้จะเปิดตัวมาในฐานะฟีเจอร์ของซัมซุงก็ตาม นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ในส่วนขององค์กรที่ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดว่ามีอะไรบ้าง
ความไม่ต้องการอยู่ใต้เงาของกูเกิลนี้เข้าใจได้กับผู้ผลิตโทรศัพท์แอนดรอยด์ทุกราย จนตอนนี้กูเกิลเท่านั้นที่เป็นผู้เลือกว่าใครจะได้เป็นผู้ผลิตโทรศัพท์ Nexus ซึ่งทำให้มีสิทธิพัฒนาฮาร์ดแวร์ได้เข้ากับแอนดรอยด์รุ่นใหม่ก่อน ส่วนผู้ผลิตรายอื่นๆ ที่พัฒนาฮาร์ดแวร์ของตัวเองไปแล้วและไม่สามารถหยุดรอกูเกิลได้กลับต้องรอโค้ดที่เสร็จแล้ว จึงนำมาพัฒนาซอฟต์แวร์ตามหลัง
ความเหลื่อมล้ำนี้แม้ในช่วงหลังซัมซุงจะเป็นผู้ได้ประโยชน์อย่างมากจากการได้ผลิตโทรศัพท์ Nexus ติดต่อกันถึงสองรุ่น แต่ความไม่ไว้ใจว่าวันหนึ่งกูเกิลอาจจะไม่เลือกให้ซัมซุงเป็นผู้ผลิตที่ได้โอกาสพัฒนาฮาร์ดแวร์ก่อนอีกต่อไป เช่นเดียวกับที่เคยเปลี่ยนจาก HTC มาเป็นซัมซุงก่อนหน้านี้แล้วก็ทำให้ซัมซุงยังต้องกังวลกับความไม่เท่าเทียมกันของผู้ผลิตในตอนนี้เหมือนกัน
การเปิด API ใหม่ๆ ของผู้ผลิตนั้นยังไม่มีรุ่นใดที่ประสบความสำเร็จนัก จากการที่กูเกิลมักไม่ยอมรวม API เหล่านี้เข้าไปใน SDK รุ่นมาตรฐาน ยกเว้นฟีเจอร์ของ Galaxy Tab ในสมัยที่กูเกิลยังพัฒนา Honeycomb ไม่ทันเท่านั้น แต่ภายใต้ส่วนแบ่งและฐานผู้ใช้ที่มากขึ้นเรื่อยๆ ก็ไม่แน่ว่าวันหนึ่งอาจจะมีผู้ผลิตยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งสามารถผลักดันให้นักพัฒนาสามารถใช้งานฟีเจอร์ของตัวเองเป็นการเฉพาะได้จริงๆ จนกระทั่งกลายเป็นการแยกโครงการ (fork) จากแอนดรอยด์ออกไปกลายๆ
กูเกิลนั้นมีทางเลือกที่จะหยุดความพยายามเหล่านี้ได้ ด้วยการเปิดให้มีฟีเจอร์ตัวเลือก (optional) ที่เปิดให้แบรนด์ต่างๆ ส่งฟีเจอร์บางส่วนเข้าไปเป็นส่วนเสริมกับแอนดรอยด์รุ่นมาตรฐาน ฟีเจอร์ใหม่ๆ เหล่านี้จะมีโอกาสได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างมากขึ้น แบรนด์อื่นๆ จะมีโอกาสที่จะรับฟีเจอร์แบบเดียวกัน พร้อมๆ กันนั้นก็เปิดโอกาสให้แบรนด์ที่เปิดฟีเจอร์ใหม่ๆ นี้สามารถพัฒนาฟีเจอร์นำหน้าคนอื่นไปขั้นหนึ่งได้ หรือทางออกที่ไกลกว่านั้นคือการเปิดให้แอนดรอยด์เป็นโครงการเปิดอย่างแท้จริงเช่นเดียวกับ Chrome ที่มี Chromium
การเปิด Chromium จะเปิดให้ผู้ผลิตทุกรายสามารถเข้าถึงฟีเจอร์ล่าสุดของโครงการได้ในทันทีที่นักพัฒนาในกูเกิลเริ่มพัฒนา กระบวนการนี้ทำให้นักพัฒนาสามารถเตรียมการได้ว่ากูเกิลกำลังผลักดันฟีเจอร์อะไรออกมาในแต่ละรุ่นบ้าง ในกรณีของแอนดรอยด์นั้นการเปิดโค้ดเช่นนี้จะทำให้กูเกิลควบคุมโครงการได้น้อยลงเพราะการตัดฟีเจอร์หรือเพิ่มเข้ามาจะถูกวิจารณ์จากสังคมนักพัฒนาภายนอก กระบวนการปล่อยแต่ละรุ่นจะตื่นเต้นน้อยลงเพราะข่าวฟีเจอร์ใหม่ๆ จะถูกปล่อยออกมาตลอดเวลา จากซอร์สโค้ดที่มองเห็นได้จากภายนอก
ความสำเร็จของกูเกิลตลอดมาที่สามารถนับรวมจำนวนแอนดรอยด์ที่ขายได้ทั้งหมดเป็นความสำเร็จของตัวเองยังคงทำให้กูเกิลยากจะปล่อยการควบคุมแอนดรอยด์ออกมาอย่างที่ผมเขียนถึงข้างต้น แต่ความพยายามของผู้ผลิตโทรศัพท์ก็จะแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะกดดันให้วันหนึ่งที่กูเกิลต้องปล่อยการควบคุมให้มากกว่านี้
การควบคุมของกูเกิลทุกวันนี้ควบคุมผ่านแบรนด์แอนดรอยด์ที่ไม่มีผู้ผลิตรายใดสามารถอ้างได้ว่าใช้แอนดรอยด์หากไม่ได้รับการรับรองจากกูเกิล จะเกิดอะไรขึ้นถ้ากูเกิลยังคงทำให้ผู้ผลิตยังรู้สึกว่าถูกควบคุมไว้ตลอดเวลา และวันหนึ่งที่ผู้ผลิตอาจจะไม่สนใจที่จะอิงอยู่กับการควบคุมของกูเกิลอีกต่อไป กรณี Amazon Kindle นั้นพิสูจน์แล้วว่าการแยกตัวออกไปนั้นเป็นไปได้หากมีฐานผู้ใช้ที่ใหญ่พอ
ความเปลี่ยนแปลงที่ว่ายังไม่น่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ที่รอบของการพัฒนายังคงเหมือนเดิม แต่ในเมื่อตลาดเริ่มนิ่ง และกูเกิลจะออกรุ่นใหม่ให้ถี่น้อยลงกว่าเดิม เราอาจจะเริ่มเห็นการปรับโครงสร้างกันอีกครั้ง