กสทช. จัดเวิร์คช็อปสื่อมวลชน ให้ข้อมูลการออกแบบการประมูล 3G ในประเทศไทยโดยผู้เชี่ยวชาญ

by Blltz
15 May 2012 - 06:03

จากการที่อนุกรรมการ 3Gฯ (กทค.) ที่กำลังจะประกาศวิธีการประมูลคลื่นความถี่ 2.1GHz สำหรับให้บริการ 3G โดยยกเลิกวิธีการเก่าที่ใช้ N-1 ไปแล้ว ทางกสทช. จึงได้จัดเวิร์คช็อปให้กับสื่อมวลชน โดยเชิญคุณพัชรสุทธิ์ สุจริตตานนท์ ผู้เคยทำงานอยู่ที่ Cramton Associates LLC และมีประสบการณ์ทางด้านการประมูลคลื่นความถี่ในหลายประเทศมาเป็นวิทยากร

ก่อนจะเข้าเรื่องวิธีการประมูลคลื่นความถี่ จะเริ่มพูดถึงจุดประสงค์หลักของการออกแบบการประมูลคลื่นความถี่เสียก่อน สำหรับประเทศไทยจะเน้นไปที่ 4 ข้อหลักดังนี้

  • การแข่งขันในตลาด < ซึ่งข้อนี้ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. บอกว่าจะเน้นมากที่สุดสำหรับประเทศไทย
  • ประสิทธิภาพในการจัดสรร
  • รายได้จากการประมูล
  • ประสิทธิภาพ และรายได้จากการประมูล อาจไม่สอดคล้องกับการกระตุ้นการแข่งขันในตลาด

    เมื่อทราบจุดประสงค์แล้ว จุดต่อไปจะเป็นพื้นฐานการออกแบบวิธีการประมูล ซึ่งวิธีการประมูลที่ดีจะตอบโจทย์เหล่านี้ได้

  • อนุญาตให้ผู้ประมูลสามารถประมูลได้ทุกคลื่นพร้อมๆ กัน และไม่มีกฎในการประมูลที่ทำให้ผลการประมูลบิดเบือนได้

  • ส่งเสริมการหาราคาที่เหมาะสมกับตลาด
  • ส่งเสริมการประมูลอย่างตรงไปตรงมา เช่นการตั้งราคาฐานสำหรับการประมูล เพื่อลดการฮั้วกันของผู้ประมูล และไม่ทำให้ราคาสุดท้ายต่ำเกินไป
  • ลดปัญหาที่จะเกิดจากการประมูลซึ่งทำให้ผู้ประกอบการมีประสิทธิภาพในการให้บริการที่ด้อยลงเช่น

exposure risk ในกรณีที่คลื่นต้องใช้ร่วมกันเพื่อให้สามารถรันระบบได้ ถ้าหากได้รับคลื่นไปเพียงชุดเดียวจะไม่สามารถให้บริการอย่างมีคุณภาพ หรือให้บริการไม่ได้เลย (เช่นในกรณีที่ประมูลแบบ 2x5MHz ทั้งสิ้น 9 ล็อต แล้วมีผู้ประมูลได้ล็อตเดียว)

ส่วนต่อไปจะเริ่มเข้าสู่วิธีการออกแบบการประมูล จะมีการแบ่งคลื่นความถี่ทั้งหมดเป็นล็อต มีสองแบบคือ

  • Generic lots การแบ่งแบบนี้จะไม่มีการเจาะจงความถี่ของใบอนุญาต ซึ่งผู้ประมูลสามารถประมูลให้เสร็จก่อน แล้วมาเลือกความถี่ในภายหลัง
  • Specific lots เป็นการแบ่งแบบเจาะจงความถี่ในแต่ละใบอนุญาต ซึ่งผู้ประมูลต้องเลือกในระหว่างประมูล (แบบนี้จะยากสำหรับผู้ประมูลมากกว่า Generic lots)

สำหรับประเทศไทย การประมูลที่คาดว่าจะเกิดในไตรมาสสามปีนี้นั้นมีทั้งหมด 45MHz คาดว่าจะแบ่งแพคเกจเป็นสองรูปแบบคือแบบ 2x15MHz ทั้งสิ้น 3 ล็อต และ 2x5MHz ทั้งสิ้น 9 ล็อต ซึ่งแต่ละรูปแบบมีข้อดีดังนี้

เมื่อทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการเลือกวิธีการประมูลได้แล้ว ก็นำความต้องการทั้งหมดมาจับคู่กัน เพื่อเลือกวิธีการประมูล จะได้วิธีการประมูลทั้งสิ้น 3 รูปแบบคือ

  • Simultaneous Ascending Clock
  • Simutalneous Ascending Bid
  • Combinatorial Clock (บางครั้งเรียกว่า Package Bidding, Package Clock Action)

Simultaneous Ascending Clock

เป็นวิธีการประมูลที่จะหาผู้ชนะการประมูลก่อน แล้วค่อยให้ผู้ชนะไปเลือกความถี่กันเองทีหลัง โดยวิธีการประมูลจะเริ่มด้วยการประกาศราคาต่อล็อตออกมา แล้วให้ผู้ประมูลยื่นจำนวนที่ต้องการ หากปริมาณล็อตของคลื่นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประมูล ให้ขึ้นรอบใหม่โดยเพิ่มราคาขึ้นไป และให้ผู้ประมูลยื่นราคาใหม่จนกว่าปริมาณคลื่นที่มี และความต้องการคลื่นของผู้ประมูลจะเท่ากัน (ถ้างง ดูรูปประกอบได้) วิธีนี้ถือว่าทำได้ง่าย และเคยใช้ตอนประมูล 3G ที่อินเดียมาแล้ว

Simultaneous Ascending Bid

เป็นวิธีการประมูลที่เปิดให้ประมูลทุกล็อตพร้อมกัน และต้องเลือกคลื่นความถี่เอง ซึ่งผู้ประมูลจะต้องยื่นราคาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะไม่มีผู้มาประมูลแข่งจะถือว่าสิ้นสุดการประมูล โดยในทุกรอบของการประมูลจะต้องยื่นประมูลต่อไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาสิทธิในการประมูลด้วย วิธีนี้เคยใช้ในการประมูล 4G AWS หลายแห่ง ทั้งอิตาลี แคนาดา โปรตุเกส สหรัฐฯ และเยอรมัน

Combinatorial Clock

เป็นวิธีการประมูลที่เปลี่ยนจากการยื่นราคาทีละล็อต เป็นยื่นราคาประมูลแต่ละแพคเกจแทน เช่น ยื่นประมูล 2x5MHz 2 ล็อตในราคา 100 ล้านบาท และยื่น 4 ล็อตในราคา 250 ล้านบาท โดยผู้ขายจะมีพิจารณาความคุ้มค่าต่อล็อตจากราคาทั้งหมดที่ผู้ประมูลยื่นมา (เช่นในภาพตัวอย่าง มีคลื่น 2x5MHz ทั้งสิ้น 9 ล็อต ผลจะออกมาเป็น A ได้ 2 ล็อต B ได้ 4 ล็อต และ C ได้ 3 ล็อต รวมเงินจากการประมูล 850 ล้านบาท)

ข้อดีของวิธีนี้คือสามารถแก้ปัญหา exposure risk ได้อย่างชะงัด เพราะว่าผู้ประมูลต้องรู้จำนวนที่ตัวเองต้องการอยู่แล้ว และได้ราคาที่ค่อนข้างสมเหตุสมผล

เมื่อเปรียบเทียบทั้งสามวิธีการประมูลแล้ว มีข้อดี-เสียต่างๆ กันไปดังนี้

จบเรื่องวิธีการประมูลไปแล้ว ต่อไปปิดท้ายด้วยแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในประเทศไทย ที่เป็นสาเหตุของการยกเลิกวิธีการประมูลแบบเก่า (N-1) ที่ไม่สร้างแรงจูงใจให้หน้าใหม่เข้ามาสู่ตลาด และทำให้การแข่งขันลดลงไปด้วย

สำหรับแนวทางที่จะสร้างความแข่งขัน และเพิ่มรายได้จากการประมูล มีดังต่อไปนี้

  • การเพิ่มราคาตั้งต้น เพื่อลดการฮั๊วการประมูล และเพิ่มรายได้จากการประมูล แต่ผลเสียคือทำให้การจัดสรรไม่มีประสิทธิภาพ และมีผู้เข้าร่วมน้อย หากราคาสูง
  • การขยายคลื่นฯ สำหรับการประมูล แต่เดิมการแบ่งแพคเกจเป็น 2x5MHz แบบ 9 ล็อตก็ช่วยสร้างความหลากหลายให้ผู้ประมูลมากพอแล้ว แต่หากทำให้การจัดสรรเข้าใจยากเกินไป อาจเปลี่ยนเป็นขยายคลื่นในแบบ 2x15MHz เป็น 2x20MHz ซึ่งจะทำให้แพคเกจเดิมแบบ 3 ล็อตกลายเป็น 2x20MHz, 2x15MHz และ 2x10MHz อย่างละล็อต ซึ่งอาจตอบสนองกับความต้องการของผู้ประมูลได้มากกว่า และสร้างการแข่งขันในการประมูลได้มากขึ้น
  • กระตุ้นให้ผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่ตลาด มีหลายวิธีทีสามารถเลือกมาใช้สนับสนุนผู้เล่นหน้าใหม่ได้ เช่นการกันคลื่นส่วนหนึ่งไว้ให้กับผู้เล่นหน้าใหม่โดยเฉพาะ (ซึ่งต้องคิดกันว่าจะกันไว้เท่าไร) หรือมีส่วนลดให้กับผู้เล่นหน้าใหม่ เช่นประมูลชนะแล้วจ่ายครึ่งเดียว (แน่นอนต้องคิดกันว่าควรลดเท่าไร) ซึ่งกรณีนี้ควรรอบคอบเพราะอาจมีการใช้นอมินีเข้ามาซื้อคลื่นในราคาถูก แล้วถูกบริษัทใหญ่รวบกิจการในอนาคตได้

สำหรับวิธีการประมูลอย่างเป็นทางการ กทค. คาดว่าจะประกาศกันในช่วงบ่ายของวันนี้ (15 พฤษภาคม) หลังจากนั้นจะใช่เวลาอีก 2 เดือนประกาศบนเว็บไซต์ก่อนเข้าประชาพิจารณ์ ซึ่งคาดว่าจะทันประมูลในช่วงไตรมาสที่สามครับ

Blognone Jobs Premium