ตลาดแท็บเล็ตเป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงในโลกไอที ถัดจากสมาร์ตโฟน ปีที่แล้วเราเห็นแบรนด์ไอทีจำนวนมากพยายามบุกตลาดแท็บเล็ตอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก จากทั้งความไม่พร้อมของ Honeycomb เองและการออกแบบที่ยังทำได้ไม่ดีนัก
ปีที่แล้วเอเซอร์ก็พยายามบุกตลาดนี้มาก่อนด้วย Acer A500 แม้จะพยายามชูความเหนือกว่าด้วยหน้าจอ 720p และพอร์ต USB ขนาดเต็ม แต่น้ำหนักที่มากเกินกว่าจะจับถือได้สะดวกและความหนาก็ทำให้มันใช้งานลำบากพอเกินกว่าจะพกไปไหนมาไหนได้ตลอดเวลา
แต่ดูเหมือนเอเซอร์จะเรียนรู้ความผิดพลาดหลายๆ อย่างได้ ในปีนี้เอเซอร์กลับมาใหม่อีกรอบด้วย Acer A510 รุ่นอัพเกรด ที่อัพเกรดแทบทุกอย่างนับแต่ น้ำหนักและความบาง ไปจนถึงซอฟต์แวร์ภายในที่เป็น Ice-Cream Sandwich แล้ว
ผมเองเป็นผู้ใช้ A500 มาก่อนตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา เมื่อจับ A510 ผมพบว่าผิวหลังพลาสติกหยาบทำให้การจับถือ ทำได้สะดวกและไม่ต้องกลัวว่ามันจะลื่นนัก (ผมเคยทำ A500 ตกพื้น และกรอบด้านหนึ่งอ้าจนทุกวันนี้)
ด้านล่างของ A510 นั้นเอเซอร์เลือกที่จะเอาพอร์ตสำหรับ dock ออกไป (ผมไม่เคยเห็น dock วางขายในเมืองไทย) แล้วใส่ micro USB แทน ที่หายไปอีกอย่างหนึ่งคือพอร์ตชาร์จ โดยที่ชาร์จจะเสียบทางพอร์ต micro USB นี้แทน ฟังดูเป็นข่าวดี แต่ข่าวร้ายคือที่ชาร์จนั้นเป็นไฟ 12V หัวเฉพาะที่ลึกกว่า micro USB ทำให้เราไม่สามารถชาร์จไฟไปพร้อมๆ กับการใช้ USB ได้อีกต่อไป
อีกเรื่องหนึ่งคือในความเบานั้นทางเอเซอร์ได้ตัดพอร์ต USB แบบเต็มออกไปด้วย ทำให้ไม่สามารถเสียบแฟลชไดรฟ์ได้โดยตรง แต่ทางเอเซอร์ก็แถมสาย USB-OTG มาให้สามารถเสียบแฟลชไดร์ฟผ่านทางสายนั้นได้
นอกจากเรื่องของความเบาแล้ว รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปุ่มปรับเสียงก็มีรายละเอียดมากขึ้น จากการใส่ตุ่มเพื่อบอกว่าด้านไหนเป็นเสียงเบาหรือเสียงค่อย
จุดหนึ่งที่ผมค่อนข้างสนใจคือหน้าจอกระจกที่ใน A500 นั้นสะท้อนเงามาจนอ่านหนังสือไม่ได้ ทำให้ผมต้องไปติดฟิล์มด้าน แต่ในรุ่น A510 ดูเหมือนแสงสะท้อนจะลดลงไปบ้าง ทำให้อ่านหนังสือด้วยพื้นหลังสีครีมได้ไม่ลำบาก แต่คงลำบากเกินไปสำหรับคนชอบพื้นหลังสีดำเพราะภาพสะท้อนจะเยอะมาก
การใช้งานโดยทั่วไปผมผิดหวังเรื่องหลักๆ คือการนำภาพออกสาย HDMI นั้นยังไม่สามารถออกภาพขนาด 1080p ได้ ไม่แน่ชัดว่าเอเซอร์ติดปัญหาใดจึงเลือกออกภาพเป็นขนาด 720p เท่านั้นตั้งแต่ A500
ตัวซอฟต์แวร์เป็น ICS ที่แทบไม่มีการปรับแต่งนอกจากปุ่มกลมๆ ตรงกลาง ที่จะเรียกเมนูพิเศษของเอเซอร์ขึ้นมาได้ ปุ่มนี้ผมใช้งานหลักๆ คือการเก็บ screenshot เท่านั้น อีกส่วนคือหน้าจอล็อกที่หากใครไม่ล็อกแบบมีรหัสผ่าน (ซึ่งผมไม่แนะนำให้ไม่ตั้งรหัสผ่านนะครับ ข้อมูลส่วนตัวในแท็บเล็ตเยอะมาก) ปุ่มปลดล็อกที่เป็นวงกลมจะสามารถวางช๊อตคัตไปยังแอพพลิเคชั่นที่เรากำหนดได้ กลายเป็นการปลดล็อกแล้วเข้าแอพพลิเคชั่นโดยตรง
ภาพจากกล้องของ A510 ให้คุณภาพที่พอใช้ได้เท่านั้น ในที่แสงน้อยภาพมีสัญญาณรบกวนเยอะอย่างชัดเจน แต่จนทุกวันนี้ดูเหมือนค่ายต่างๆ ยังไม่ทุ่มเทเรื่องกล้องในแท็บเล็ตกันนักทั้งที่ผมเริ่มเห็นผู้ใหญ่หลายคนใช้แท็บเล็ตถ่ายรูปกันจริงจังตามงานเลี้ยงต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ
จากที่ใช้งานมาเกือบสองสัปดาห์ ผมยืนยันได้ว่าหากไม่มีความต้องการพิเศษอื่นๆ เช่น ต้องการใช้แฟลชไดร์ฟกับแท็บเล็ตแล้ว A510 นั้นอัพเกรดจาก A500 มาได้อย่างถูกทาง น้ำหนักที่เบาลง รูปร่างและวัสดุที่เหมาะกับการจับถือมากขึ้น ตลอดจนจอภาพที่มองสบายตากว่าเดิม สำหรับคนที่ต้องการใช้แท็บเล็ตแอนดรอยด์ A510 น่าจะเป็นอีกตัวที่น่าสนใจ แต่มันมีคู่แข่งสำคัญคือ ASUS Transformer Pad 300 ที่ราคาในต่างประเทศถูกกว่าพอสมควรและมีคีย์บอร์ดขายแยกให้ใช้งานแทนโน้ตบุ๊กได้
คำแนะนำของผม ถ้าคุณมี Acer A500 หรือแท็บเล็ตรุ่นปีที่แล้วอยู่แล้ว ใช้มันต่อไปเถอะครับ มันอาจจะดีขึ้น แต่ไม่ได้ดีพอที่จะซื้อใหม่ขนาดนั้น ส่วนว่าถ้าใครกำลังจะซื้อเป็นตัวแรก A510 ทำงานได้สะดวก การใช้ Chrome บนเครื่องแรงๆ ทำให้ใช้งานได้เหมือนเน็ตบุ๊ก น้ำหนักเบาพอที่จะพกได้ ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดี ที่ควรไปลองอีกตัวก่อนซื้อ