เมื่อบ่ายวันนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการฝั่งที่ดูแลกิจการด้านวิทยุ-ทีวีของ กสทช. แถลงข่าวเรื่องมาตรฐานการแพร่ภาพของทีวีแบบดิจิทัลในไทยแล้ว
มาตรฐานที่ กสท. เลือกคือ DVB-T2 ซึ่งเป็นมาตรฐานของฝั่งยุโรป (DVB-T) รุ่นที่สองที่พัฒนาขึ้นจากรุ่นแรกในแง่เทคนิคการส่งสัญญาณ
การตัดสินใจเลือกมาตรฐานกลุ่ม DVB-T ถือว่าสมเหตุสมผลเพราะเป็นมาตรฐานที่ใช้กันเยอะที่สุดในโลก (ถ้านับเป็นประเทศ) ส่งผลให้อุปกรณ์หาง่ายและราคาถูก นอกจากนี้ประเทศเพื่อนบ้านของเราก็ใช้ DVB-T กันหมดช่วยให้ลดปัญหาเรื่องความเข้ากันได้ลงไปมาก ส่วนการเลือกใช้ DVB-T2 ก็เหมาะกับสถานการณ์ของประเทศไทยที่เริ่มต้นเรื่องนี้ช้า เลยข้ามไปเป็นรุ่นที่สองที่เทคโนโลยีพัฒนาขึ้นเลย ไม่ต้องเริ่มจาก DVB-T ก่อน
บอร์ด กสท. ยังให้ข้อมูลเพียงว่าการแถลงข่าวครั้งนี้ประกาศแค่มาตรฐานทางเทคนิคเท่านั้น ส่วนรายละเอียดในประเด็นอื่นๆ อย่างเช่น แผนการสนับสนุนกล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ดิจิทัล จะประกาศในอนาคต
พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์ ประธานบอร์ด กสท. ระบุว่าในขั้นถัดไปจะออกใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล โดยจะเริ่มจากทีวีบริการสาธารณะ (ลักษณะเดียวกับ Thai PBS) ก่อน และน่าจะแพร่สัญญาณดิจิทัลชุดแรกได้ภายในปีนี้
ภาพประกอบจาก Wikipedia
อธิบายเพิ่มสำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามเรื่องทีวีดิจิทัลนะครับ ข่าวนี้เกี่ยวกับการออกอากาศทีวีแบบปกติที่เราใช้กันอยู่ (terrestrial television) เพียงแต่เปลี่ยนมาใช้การส่งสัญญาณแบบดิจิทัล แทนสัญญาณแอนะล็อกแบบปัจจุบันนี้ ผลดีก็คือมีช่องฟรีทีวีเยอะขึ้นมาก (ด้วยช่วงคลื่นที่มีน่าจะได้ราวๆ 40-50 ช่องด้วยความละเอียด SD)
การแพร่สัญญาณทีวีแบบดิจิทัลจะเป็นช่องใหม่ที่ไม่ซ้ำกับ 6 ช่องเดิม และไม่กระทบกับการส่งสัญญาณทีวีแบบเดิมเพราะคนละช่วงคลื่นกัน ทีวีแบบดิจิทัลจะแพร่ภาพคู่กับแอนะล็อกไปอีกช่วงหนึ่งเพื่อให้ประชาชนปรับตัว จากนั้นจะเลิกออกอากาศแบบแอนะล็อกโดยถาวร (เรียกว่า digital switch over) เพื่อนำช่วงคลื่นทีวีแอนะล็อกเดิมไปใช้งานด้านอื่นที่มีประสิทธิภาพของการใช้คลื่นที่ดีกว่า