คดีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเว็บไซต์ประชาไทมาถึงช่วงเวลาอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในวันนี้ ศาลพิพากษาให้จำคุกนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ 8 เดือนแต่ให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปีและปรับ 20,000 บาทจากหนึ่งข้อความที่แสดงบนเว็บไซต์เป็นเวลา 20 วันก่อนจะลบออก จากจำนวนความเห็นทั้งหมด 10 ข้อความที่สั่งฟ้อง
ข้อความทั้งสิบข้อความนั้น อีก 9 ข้อความที่เหลือถูกแสดงบนเว็บไซต์ประชาไทเป็นเวลาสิบวันหรือต่ำกว่า ศาลมองว่ากรอบเวลาสิบวันนั้นอยู่ในเวลาอันสมควรและแสดงความไม่ยินยอมตามมาตรา 15 ของพรบ. คอมพิวเตอร์
ความสำคัญของคำพิพากษานี้คือการแสดงว่าศาลตีความกฎหมายว่าการแสดงความตั้งใจนั้นขึ้นกับระยะเวลาที่แสดงข้อความบนเว็บ ไม่ใช่การได้รับแจ้งเตือนให้ลบแต่อย่างใด การระบุหน้าที่รับผิดชอบเช่นนี้จะเป็นการบังคับให้ทุกเว็บไซต์ต้องตรวจสอบทุกข้อความอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในความเห็นของผม พรบ. คอมพิวเตอร์ฉบับปัจจุบันเป็นการผ่านกฎหมายอย่างรีบเร่งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อปี 2550 มาตรา 15 นั้นระบุเพียงว่าผู้ให้บริการที่จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการเผยแพร่ข้อความก็ถือเป็นความผิดเช่นเดียวกับการเผยแพร่ข้อความ โดยไม่มีการสร้างกฎระเบียบใดๆ ล่วงหน้าว่าผู้ให้บริการจะต้องทำเช่นไรจึงเป็นการแสดงความไม่ยินยอมเปิดโอกาสให้มีการตีความความยินยอมเช่นในคดีนี้
เว็บไซต์จำนวนมากทั่วโลกเปิดให้บริการโพสข้อความโดยไม่มีการตรวจสอบล่วงหน้า หลายเว็บไซต์ที่ผู้ใช้บริการนับล้านคนมีเจ้าหน้าที่ดูแลเพียงไม่ถึงสิบคน การบีบบังคับให้ผู้ดูแลเว็บไซต์ต้องตรวจสอบทุกข้อความคือการบังคับให้ทุกเว็บไซต์ยกเลิกบริการโพสข้อความด้วยตัวเอง
ในฐานะหนึ่งในผู้ดูแลเว็บไซต์ ผมเรียกร้องให้มีการเร่งแก้ไขพรบ. คอมพิวเตอร์อย่างเร่งด่วน สร้างมาตรการที่ชัดเจนและทำได้จริงโดยไม่ปิดกั้นเสรีภาพอินเทอร์เน็ต